*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โยนิโสมนสิการ

                     โยนิโสมนสิการ
 
 
 
โยนิโสมนสิการ (ปัญจาบ: yonisomanasikāra; คำอ่าน: โยนิโสมะนะสิกาน) หมายถึง การทำในใจให้แยบคาย กล่าวคือ การพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน ทางพุทธศาสนาถือว่ามีคุณค่าเท่ากับความไม่ประมาทหรือ "อัปมาท" ซึ่งเป็นแหล่งรวมแห่งธรรมฝ่ายดีหรือ "กุศลธรรม" ทั้งปวง ดังปรากฏในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๔๖๔ หน้า ๑๒๙ นอกจากนั้น ยังจัดเป็นธรรมะข้อหนึ่งในกลุ่มธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญด้วยปัญญา และเป็นธรรมะมีอุปการะมากแก่มนุษย์ดังพรรณาในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ ๒๖๘-๙ หน้า ๓๓๒
การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือ ทำในใจโดยแยบคาย การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดย อุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย   เช่น
  • คิดจากเหตุไปหาผล
  • คิดจากผลไปหาเหตุ
  • คิดแบบเห็น ความสัมพันธ์ต่อเนื่อง เป็นลูกโซ่
  • คิดเน้นเฉพาะจุดที่ทำให้เกิด
  • คิดเห็น องค์ประกอบที่มา ส่งเสรีมให้เจริญ
  • คิดเห็น องค์ประกอบที่มา ทำให้เสื่อม
  • คิดเห็นสิ่งที่มา ตัดขาดให้ดับ
  • คิดแบบ แยกแยะองค์ประกอบ
  • คิดแบบ มองเป็นองค์รวม
  • คิดแบบ อะไรเป็นไปได้ หรึอเป็นไปไม่ได้
 
ศัพทมูลและนิยาม
 
 
คำ "โยนิโสมนสิการ" นั้นประกอบด้วยคำสองคำ คือ
  • "โยนิโส" มาจาก "โยนิ" แปลว่า เหตุ ต้นเค้า แหล่งเกิด ปัญญา อุบาย วิธี ทาง
  • "มนสิการ" หมายถึง การทำในใจ การคิด คำนึง นึกถึง ใส่ใจ พิจารณา


ดังนั้น "โยนิโสมนสิการ" จึงหมายถึง การทำในใจให้แยบคาย หรือ การพิจารณาโดยแยบคาย กล่าวคือ ความเป็นผู้ฉลาดในการคิด คิดอย่างถูกวิธีถูกระบบ พิจารณา ไตร่ตรองสาวไปจนถึงสาเหตุหรือต้นตอของเรื่องที่กำลังคิด คือคิดถึงรากถึงโคนนั่นเอง แล้วประมวลความคิดรอบด้านจนกระทั่งสรุปออกมาได้ว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควร ดีหรือไม่ดี เป็นวิถีทางแห่งปัญญา เป็นธรรมสำหรับกลั่นกรองแยกแยะข้อมูลหรือแหล่งข่าวหรือที่เรียก "ปรโตโฆสะ" อีกชั้นหนึ่ง กับทั้งเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดชอบหรือ "สัมมาทิฐิ" ทำให้มีเหตุผล และไม่งมงาย

อนึ่ง คัมภีร์ในพระไตรปิฎก ชั้นอรรถกถาและฎีกาได้แสดงไวพจน์แจกแจงความหมายในแง่ต่าง ๆ ของโยนิโสมนสิการว่า
  • "อุบายมนสิการ" เป็น การคิดหรือพิจารณาโดยอุบาย คือ การคิดอย่างมีวิธีหรือถูกวิธี ซึ่งหมายถึง การเข้าถึงความจริง สอดคล้องกับแนวสัจจะ ซึ่งทำให้รู้สภาวลักษณะและสามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย
  • "ปถมนสิการ" เป็น การคิดถูกทาง ต่อเนื่องเป็นลำดับ หมายถึง ความคิดที่เป็นระเบียบตามหลักเหตุผล ไม่ยุ่งเหยิงสับสน จิตไม่แว๊บติดพันในเรื่องนี้ แต่เดี๋ยวกลับเตลิดไปคิดอีกเรื่องหนึ่ง จิตยุ่งเหยิงนี้กระโดดไปมา ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่รวมทั้งความสามารถในการชักความนึกคิดไปสู้แนวทางที่ถูกต้อง
  • "การณมนสิการ" เป็น การคิดอย่างมีเหตุผล เป็นการสืบค้นตามแนวความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย พิจารณาสืบสาวหาสาเหตุ ให้เข้าใจถึงต้นเค้า หรือแหล่งที่มาซึ่งส่งผลต่อเนื่องตามลำดับ
  • อุปปาทกมนสิการ การคิดการพิจารณาให้เกิดกุศลธรรม เช่น การพิจารณาที่ทำให้มีสติ หรือทำให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคง เป็นต้น
ไขความทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นเพียงการแสดงลักษณะด้านต่างๆ ของความคิดแบบโยนิโสมนสิการ ซึ่งการเกิดในแต่ละครั้ง อาจมีลักษณะครบทั้ง 4 ข้อ หรือเกิดครบทั้งหมด หรือเขียนลักษณะทั้ง 4 ข้อนี้สั้นๆ ได้ว่า คิดถูกวิธี คิดมีระเบียบ คิดมีเหตุผล คิดเร้ากุศล
คุณค่า
 

โยนิโสมนสิการนั้น ทางพุทธศาสนาถือว่ามีคุณค่าเท่ากับความไม่ประมาทหรือ "อัปมาท" ซึ่งเป็นแหล่งรวมแห่งธรรมฝ่ายดีหรือ "กุศลธรรม" ทั้งปวง ดังปรากฏในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๔๖๔ หน้า ๑๒๙ นอกจากนั้น ยังจัดเป็นธรรมะข้อหนึ่งในกลุ่มธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญด้วยปัญญา และเป็นธรรมะมีอุปการะมากแก่มนุษย์ดังพรรณาในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ ๒๖๘-๙ หน้า ๓๓๒
นอกจากนี้ ยังมีคำพรรณนาคุณของโยนิโสมนสิการอีกมาก เช่น เป็นส่วนหนึ่งที่ให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง เป็นเครื่องขจัดความลังเลสงสัย เป็นองค์ประกอบของความเป็นพระอริยบุคคลชั้นแรกหรือ "โสตาปัตติยังคะ" อันแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาส่งเสริมโยนิโสมนสิการว่าจำเป็นสำหรับทุกคน

                                                                                 ************************************************************************
คำนำ
 
          ในชีวิตคนเรานี้ ความคิดเป็นสิ่งสำคัญ คิดเป็นก็เป็นสุขได้ง่าย คนเรารักความสุขก็จริง แต่มักคิดอะไรๆที่ทำให้ตัวเป็นทุกข์อยู่เสมอ เพราะขาดโยนิโสมนสิการ คือคิดไม่เป็น
 
          หนังสือโยนิโสมนสิการเล่มนี้ บอกวิธีคิดเพื่อเอาชนะทุกข์และสร้างสุขแก่ท่านถึง 10 วิธีด้วยกัน นอกจากให้เกิดความสุขแล้ว ทำให้เกิดปัญญาอีกด้วย ปัญญาเป็นแสงสว่างของชีวิต ชีวิตที่มีปัญญาหาความสุขได้ง่าย (สุโข ปญฺญาปฏิลาโภ)
 
          พระเถระผู้เป็นปราชญ์แต่โบราณสมัยพุทธกาล อดีตของท่านเคยเป็นพระราชา ทรงสละราชสมบัติออกผนวชจนได้เป็นพระอรหันต์ คือพระมหากัปปินเถระ ได้อุทานออกมาว่า
 
          “ผู้มีปัญญา แม้สิ้นทรัพย์ก็อยู่ได้ แต่ถ้าไม่ได้ปัญญาแม้มีทรัพย์ก็ไม่ขอมีชีวิตอยู่” ชีวเตวาปิ สปฺปญฺโญ อปิ วิตฺตปริกฺขยา ปญฺญาย จ อลาเภน วิตฺตวาปิ น ชีวติ (ขุ. เถร. 26/350)
 
          โยนิโสมนสิการ ไม่ใช่ตัวปัญญา แต่เป็นเหตุให้เกิดปัญญา เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล เพราะฉะนั้น ขอให้เรามาช่วยกันสร้างเหตุคือ โยนิโสมนสิการหรือวิธีคิด เพื่อเอาชนะทุกข์กันเถิด เราจะได้รับสุขอันสมบูรณ์ และเป็นสุขที่แท้จริง
 
          ขออวยพรให้ท่านทั้งหลายผู้มีทุกข์โศกโรคภัย จงพ้นจากวิบัติเหล่านั้น ประสบสมบัติคือความไม่มีทุกข์ โศก โรค ภัย ทั่วหน้ากัน
 
ด้วยความปรารถนาดี
วศิน อินทสระ
30 สิงหาคม 2545


หลักของโยนิโสมนสิการ

          ขอเริ่มต้นด้วยพระพุทธสุภาษิตก่อน พุทธภาษิตที่เกี่ยวกับโยนิโสมนสิการ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “เราไม่พิจารณาเห็นธรรมสักอย่างหนึ่ง เป็นเหตุให้มิจฉาทิฏฐิที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น มิจฉาทิฏฐิที่เกิดแล้วเจริญมากขึ้น เหมือนกับอโยนิโสมนสิการ” อโยนิโสมนสิการนี่ทำให้มิจฉาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น  ที่เกิดแล้วเจริญมากขึ้น
 
          ในข้อต่อมาก็ว่า “ภิกษุทั้งหลายเราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่น แม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น สัมมาทิฏฐิที่เกิดแล้วเจริญมากขึ้น เหมือนกับโยนิโสมนสิการ” โยนิโสมนสิการ ทำให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วเจริญมากขึ้น นี่เป็นพระพุทธสุภาษิตในเอกธัมมาทิบาลี อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ 185-186 (พระไตรปิฎกบาลี เล่ม 20)
 
          มิจฉาทิฏฐิก็มีปัจจัยอยู่ 2 นะครับ คือ อโยนิโสมนสิการ กับปรโตโฆสะที่ไม่ดี ปรโตโฆสะแปลว่าสิ่งแวดล้อม เป็นตำราเป็นหนังสือ เป็นคนเป็นสำนักเป็นอะไรก็ได้ครับ ถ้าแปลตามตัวก็แปลว่า เสียงจากผู้อื่นเราก็ไปเชื่อเขา ถ้ามีโยนิโสมนสิการไม่เป็นไร  โยนิโสมนสิการจะเป็นตัวคุมให้เป็นไปให้ถูกต้องอยู่เสมอ ถึงจะได้ฟังมาไม่ดี ได้ยินมาไม่ดี เข้าสำนักไม่ดี ก็เลือกได้ว่าอันนี้ไม่ถูกต้องไม่เอา อันนี้ดีก็เอา ตัวโยนิโสมนสิการนี่เป็นตัวสำคัญมาก เหมือนเราเข้าไปตลาดผลไม้ จะไปซื้อส้ม เขาใส่กระจาดไว้ ถ้าหากว่ามีโยนิโสมนสิการ ก็จะเลือกดูเอาผลที่สวยที่ดีที่งาม ก็เลือกเอามา เพราะในสวนเดียวกันก็มีที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็เลือกเอาได้ ถ้าหากว่าไม่มีโยนิโสมนสิการก็หลับหูหลับตาหยิบเอามา เจอเน่าบ้าง หรือโยนทิ้งไปหมดเลย
 
          มีคนอยู่คนหนึ่ง คิดไม่เป็น คือขาดโยนิโสมนสิการ คิดไม่เป็น เขาทำงานเก็บเงินได้ 1 ล้านบาท แล้วก็ให้คนที่เป็นญาติกู้ไป ถูกโกงไปหมด บอกว่าเสียใจมาก แต่ว่าเขาก็คิดได้ว่า ไอ้เราก็อยากได้ดอกเบี้ยเขาด้วย เมื่อก่อนนี้ล้านหนึ่งไม่ใช่น้อยนะครับ เราก็อยากได้ดอกเบี้ยเขาด้วยนี่ก็คิดได้มานิดหนึ่ง เรียกว่าเริ่มคิดเป็นขึ้นมา คือมีโยนิโสมนสิการขึ้นมา แต่ยังไม่หายแค้น เตรียมปืนจะไปฆ่าเขา พอดีไปคุยกับผู้รู้มา
 
          ท่านผู้รู้ก็บอกว่า ถ้าเขาตายแล้วคุณก็ไปติดคุก เงินก็ไม่ได้คืน คุณก็ต้องติดคุก แล้วก็ต้องคิดดูว่า มีคนจำนวนไม่น้อยในคุกเสียอิสรภาพ แล้วก็ยอมเสียเงิน 1 ล้าน 2 ล้าน 3 ล้าน เพื่อให้ได้อิสรภาพ เพื่อให้ออกจากคุก แต่นี่คุณเสียเงินไป 1 ล้านแล้ว ยังจะไปติดคุกอีก ก็ลองคิดดู เมื่อคิดดูก็ได้ความคิด เลยระงับความคิดที่จะไปฆ่าเขา
 
          มันเรื่องอะไรเราจะต้องไปติดคุกเพราะเงิน 1 ล้าน เสียเงินแล้วยังไปติดคุกอีก เพราะฉะนั้นจึงได้ความคิดที่คิดเป็นขึ้นมา ได้ผู้รู้  ได้นักปราชญ์ คนที่แนะนำคือปรโตโฆสะที่ดี คือได้สิ่งแวดล้อมดี ได้คนแนะนำดี แล้วตัวเองก็เกิดโยนิโสมนสิการ เกิดความใคร่ครวญคิดขึ้นมา การใช้โยนิโสมนสิการก็สำคัญนะครับ สำคัญมากเลยคือคิดเป็น
 
          โยนิโสมนสิการ ถ้าแปลง่ายๆว่าคิดเป็น คิดเป็นระบบ คิดเป็นเรื่องเป็นราว มันเป็น Systematic thought ความคิดที่เป็นระบบหรือว่า thoughtful พวกที่คิดเป็นระบบ คิดเป็น เข้าใจในความคิดมีวิธีคิด มันมีสิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้สอนกันในโรงเรียน  คือวิธีคิด ว่าเรื่องนี้ๆควรจะคิดอย่างไร แล้วมันก็จะได้ผลออกมาดีมากๆเลย ถ้ามีวิธีคิด หรือคิดเป็น
 
          หลักของโยนิโสมนสิการ มีวิธีคิดอย่างไร มีเยอะครับ แล้วผมจะค่อยๆว่า ค่อยๆไป ผมคิดว่าเดี๋ยวจะไปถึงตรงนั้น
 
          เมื่อหลายเดือนหลายปีมาแล้วครับ มีนักศึกษารามคำแหงไปหาผม แล้วก็เล่าถึงเรื่องความคับแค้นไม่สบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือต้องสูญเสียเพื่อนไป เรื่องของเรื่องก็คือเพื่อนไปมีคู่รัก แล้วคู่รักไม่ค่อยดี เขาบอกว่าเราก็หวังดีกับเพื่อน เลยเตือนเพื่อนเสียว่า เลิกเสียเถอะ ก็ไม่ยอมเลิก ทีนี้ก็เมื่อไม่ยอมเลิกก็เลยแยกทางกัน หมายความว่า เพื่อน 2 คนก็เลยแยกทางกัน หวังดีแล้วเพื่อนไม่รับความหวังดี ไม่เชื่อฟัง แล้วก็มีความรู้สึกน้อยใจ เสียใจมาก เสียดายที่สูญเสียเพื่อนเพราะว่าไม่ทราบจะทำอย่างไร เขาก็มาขอคำแนะนำ ผมก็บอกว่าถึงคราวที่ต้องสูญเสียเราก็ต้องยอมให้เสียไป เท่านี้ครับคำพูด เขาบอกว่า ไม่เคยคิดเลย คือคิดไม่ออก ไม่เคยคิดถึงคำคำนี้ ก็พอสะกิดนิดเดียวบอกว่า ถึงคราวที่จะเสียก็ต้องยอมให้สูญเสียไป  คือไม่ต้องไปเสียดาย  ไม่ต้องไปเสียใจ ก็ถ้าเราเป็นคนดีต่อไปข้างหน้าเราก็ยังหาเพื่อนที่ดีๆได้เยอะแยะ เพราะว่าดีมันดูดดีนะครับ ชั่วมันก็ดูดชั่ว แมลงวันมันก็ไปกับหมู่แมลงวัน แมลงผึ้งมันก็ไปกับหมู่แมลงผึ้งเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เป็นแฟน เป็นใคร เป็นอะไร เมื่อถึงคราวจะต้องเสีย ก็ต้องปล่อยให้เสียไป
 
          คนที่เกิดปัญหา อยากจะให้คิดถึงเพื่อนฝูง ผู้เคารพนับถือปรึกษา คือว่าเจอทางตันไม่รู้จะไปปรึกษากับใคร ก็ให้คิดถึงเพื่อนฝูง อย่างตัวอย่างที่ลงหน้าหนังสือพิมพ์วันนี้นะครับ กระโดดตึกตาย ทั้งๆที่สาเหตุก็เป็นเพียงว่า น้องสาวไม่กลับมาบ้าน มานอนด้วยก็กระโดดตึกตาย ข่าวหนังสือพิมพ์วันนี้แค่นี้เอง ปัญหาแค่นี้เองนะ แล้วก็ฆ่าตัวตาย คิดไม่เป็น

กระบวนการในการคิด
 
          มันมีระบบ คือ กระบวนการอย่างไรบ้างในการคิดเป็น
          มีอยู่ 2 แนวนะครับ
 
 
ประการที่ 1 คือ คิดแบบสนองตัณหา
 
          คือคิดด้วยความอยาก คิดไปตามความอยาก อยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ อยากสิ่งนั้น อยากสิ่งนี้ ความอยากเป็นสิ่งกระตุ้นเร้าให้คิด มีความอยากเป็นตัวจูง เป็น motive ความอยากเป็นตัวเร้า คิดไปตามความอยาก ความคิด แบบนี้โดยมากก็จะมีกับคนส่วนมาก มีแก่คนทั่วไปหรือส่วนมาก มีความอยากเป็นตัวกระตุ้น เป็น motive เป็นแรงจูงใจ แล้วก็คิดไปตามแนวของความอยากเพื่อสนองตัณหา สนองความอยากของตนเอง ตรงนี้ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะว่าธรรมชาติมันไม่เป็นไปตามความอยากของคน ธรรมชาติก็คือธรรมชาติ คนเราก็อยากให้เป็นไปตามที่ตนเองอยาก มันก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา โดยธรรมดามันไม่ได้เป็นไปตามที่เราอยาก มันมีเหตุปัจจัยของมัน
 

ประการที่ 2 คือ คิดตามแนวเหตุผล
 
          เป็นแนวปัญญา เป็นการสร้างนิสัยใหม่ให้แก่จิตใจ ซึ่งเคยชินอยู่กับความคิดแบบสนองตัณหา จิตของเรามันเคยชินกับความคิดแบบสนองตัณหา ว่าทำแล้วได้อะไร เรียนแล้วได้อะไร ก็มีลูกศิษย์หลายคนไปบวชเรียนธรรมะ พ่อแม่ก็ห้ามไม่ให้ไปเรียน ว่าเรียนธรรมะแล้วได้อะไร ถ้าไปเรียนภาษาอังกฤษก็ยังพอเอาไปใช้ได้ เรียนธรรมะไปใช้อะไร พ่อแม่บางคนก็คิดไปตามแนวสนองตัณหาตลอดเวลา  ทำอะไรก็ต้องได้อะไรมาเป็นวัตถุ เป็นสิ่งตอบแทน จึงจะพอใจ
 
          เด็กบางคนที่เป็นลูก แกทะลุมิติขึ้นไป คือว่าอายุยังเด็ก แต่ว่าจิตเป็นผู้ใหญ่ อายุจิตเจริญ บางคนก็เป็นผู้ใหญ่แล้วอายุ 40,50,60 ปี แต่อายุจิตยังเป็นเด็กอยู่ เหมือนเด็กๆ เขาว่าเด็กในร่างผู้ใหญ่ แต่บางคนก็เป็นผู้ใหญ่ในร่างเด็ก ไม่เหมือนกัน ตรงกันข้ามเลย อันนี้ก็คิดไปตามแนวเหตุผล ก็ขัดแย้งกันบ้าง อะไรกันบ้างตามเรื่อง แม่กับลูก อีกคนหนึ่งก็คิดแบบแนวสนองตัณหา อีกคนก็คิดแบบแนวเหตุผล
 
          เรื่องนี้ที่มันเป็นปัญหาสังคมอยู่ เคยได้ยินอยู่ว่า พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกเรียน บอกว่าเรียนหมอสิจะได้มีเงินมีทองเยอะแยะ   แทนที่จะบอกว่า ไปเรียนหมอจะได้เอาความรู้ไปช่วยเหลือสังคม ไม่ใช่อย่างนั้น อย่างนี้แสดงว่า ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดแบบ สนองตัณหา
 
          บางทีเด็กเขาก็เชื่อนะครับ แล้วเขาเห็นตัวอย่างของผู้ใหญ่ ที่เดินอยู่ข้างหน้าคุณลุงก็ดี คุณอาก็ดี คุณอะไรหลายๆคนที่เขาเป็นหมอแล้วรวย ก็อยากจะรวย เป็นหมอแล้วก็รวยจริงๆด้วย
 
          มีคนคนหนึ่ง ลูกสอบเข้าโรงเรียนนายร้อย วันหนึ่งพ่อเขาก็มาคุยบอกว่า นี่ซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูก 1 เครื่อง ลูกเอาไปโรงเรียนไปให้เพื่อนๆเช่าโทรศัพท์ ไปเก็บเงินจากเพื่อนๆหารายได้ แกก็ภูมิใจว่าลูกของแกหารายได้เป็นตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อย หากว่าระบบทหารไปสอนให้เห็นแก่ตัว เรียกว่าไปเอาผลประโยชน์จากเพื่อนขึ้นมาอย่างนี้ ต่อไปเขาจะเป็นนายทหารอย่างไร นึกภาพไม่ออกว่าต่อไปเขาจะอยู่ในสังคมได้อย่างไร คือความคิดอย่างนี้เป็นความคิดเพื่อสนองความอยาก ก็เป็นกันส่วนมาก
 
          ถ้าเผื่อผู้ใหญ่เขาอบรมถูกต้องมาตั้งแต่เด็ก ว่าถ้าเผื่อไปเป็นอะไรก็ไปเป็นเพื่อช่วยเหลือประชาชน หรือว่าได้ทำประโยชน์ ไปเรียนอะไร ไปทำงานอะไรก็ไปทำเถอะ แต่ว่าขอให้ตั้งจุดมุ่งหมายไว้ว่าเพื่อเราจะได้ช่วยเหลือประชาชน ช่วยเหลือผู้อื่น    เอาการงานของเรานี่แหละเป็นแนวทางที่จะช่วยเหลือผู้อื่น
 
          ความคิด 2 แนวนี้ มันก็ขัดแย้งกันอยู่ ความคิดในแนวเหตุผลนี่เป็นสิ่งที่ดี คือว่าเป็นแนวคิดที่เป็นความคิดที่มีความจำเป็นแก่ตัวเรา คือขอให้คิดในสิ่งที่ว่ามันจำเป็นแก่ตัวเรา เหมาะสมกับตัวเรา ไม่ต้องตามโลกก็ได้ อันนี้นะครับที่ปรัชญาสมัยใหม่ เราเรียกว่า Existentialism แปลว่า อัตถิภาวนิยม หรือชีวิตนิยม เน้นไปในเรื่องที่ว่าให้บุคคลกระทำสิ่งต่างๆให้เหมาะสมแก่ความจำเป็นของตน ไม่จำเป็นจะต้องไปคอยดูว่าโลกเขาจะคิดอย่างไร คนอื่นจะเห็นอย่างไร จะนิยมอะไรอย่างไรไม่สำคัญ แต่สำคัญอยู่ที่ว่าสิ่งนั้นเหมาะสมกับเราอย่างไร ก็ทำไปตามนั้นให้เหมาะสมแก่เรา เพราะทำสำเร็จได้ก็ด้วยทำสิ่งที่เหมาะสมกับตัว
 
          แต่ละคนบางทีก็อาจจะไปคิด เอามาตรฐานของคนอื่นมาเป็นแบบอย่าง คือว่าถ้าเป็นขนุนมันก็ต้องดีอย่างขนุน ถ้าเป็นมะม่วงก็ดีอย่างมะม่วง เป็นทุเรียนก็ดีอย่างทุเรียน จะให้ขนุนมันเหมือนมะม่วง จะพัฒนาไปอย่างไรมันก็ไปไม่ได้ มันคนละอย่างกัน แต่ว่าเมื่อเอามารวมกันแล้วมันก็ดีนะ ได้ประโยชน์ทั้งมะม่วง ทั้งขนุน ทั้งทุเรียน หมายความว่า กินอย่างโน้นบ้าง กินอย่างนี้บ้าง มันก็มีคุณสมบัติคนละอย่าง
 
 
โยนิโสมนสิการมี 2 ประเภท
 
          ผมขอเสนออีกนิดหนึ่ง คือ โยนิโสมนสิการมี 2 ประเภท
 
 
ประเภทที่ 1 เรียกว่าประเภทพัฒนาปัญญา
 
          คือโยนิโสมนสิการในเรื่องสัจธรรมและสมมุติธรรม มีความรู้ความเข้าใจว่าอะไรเป็นสัจธรรม อะไรเป็นสมมุติธรรม ก็ขอให้นึกดูว่า คนส่วนมากอยู่ในโลกของสมมุติ อย่างน้อยเราก็ยังเลิกสมมุติไม่ได้ แต่เราจะต้องรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งสมมุติ อะไรเป็นของจริง ต้องคิดให้ได้ให้เป็น อย่างเช่นว่า ยศ ศักดิ์ เงิน ตำแหน่ง พวกนี้เป็นของสมมุติกัน หรือว่าในตัวคนของเรา รวมกันทั้งหมดเป็นคน เป็นสิ่งสมมุติว่าเป็นคน ของจริงก็คือธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ หรือธาตุ ก็ประมวลกันเข้าเป็นคน ก็เรียกว่า คน หรือชื่อ ก ข ค ง เป็นสิ่งสมมุติทั้งนั้น ของจริง ก็คือ ขันธ์ 5 ธาตุ 6 ของจริงก็คือขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วมารวมกันเข้าก็เป็นสิ่งสมมุติ
 
          อย่างวิทยาศาสตร์นะครับ เขาเรียกว่า อะตอม พอเราแยกย่อยออกไป มันเป็นอะตอม คือว่าสสารแยกไปๆ มันก็เป็นอะตอม แล้วเราก็มองเห็นเป็นรูปร่าง แบบนี้ก็เป็นสิ่งสมมุติไม่ใชของจริง เป็นสารประกอบ พยายามศึกษาให้รู้ โยนิโสมนสิการ  ประเภทพัฒนาปัญญา ต้องศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นสิ่งสมมุติ แล้วเราก็ได้สบายใจ รู้อะไรเป็นสิ่งสมมุติ อะไรเป็นของจริง อย่างเหรียญตรา สายสะพาย อะไรอย่างนี้ มันก็เป็นของ    สมมุติ อันนี้ไม่ได้กระทบใครนะครับ คือบอกให้รู้ความจริงว่า คือของสมมุติ เป็นของสมมุติ ไม่ใช่ของจริง แม้แต่พัดยศนี่ก็สมมุติเหมือนกัน ไม่ใช่ของจริง สมมุติคือต้องเล่นแบบสมมุติ แต่ต้องยอมรับมันเป็นสมมุติสัจจะ มันเป็นจริงแต่ว่าต้องรู้ไปอีกขั้นว่าเป็นจริงอย่างสมมุติ ไม่ใช่จริงอย่างแท้จริง ทีนี้พอรู้อย่างนั้นมันก็สบายนะครับ สบายไปเยอะ คือจริงที่อยู่บนสมมุติ กับจริงที่อยู่บนความจริงโดยแท้ ที่อยู่บนสมมุติเรียกว่าจริง-ไม่จริง จริงที่อยู่บนสัจจะถือว่าจริง-จริงๆ
 

ประการที่ 2 ประเภทสร้างเสริมคุณภาพจิต
 
          ปลุกเร้าให้เกิดคุณธรรม หรือโยนิโสมนสิการระดับจริยธรรม ซึ่งมีความสำคัญมาก ปลุกเร้าให้เกิดคุณธรรม ให้เรามีความคิดที่ดี ทำให้เราได้แนวคิดที่ดี
 
          มีพระรูปหนึ่งสมัยพุทธกาล บวชแล้วท่านบอกว่า สิกขาบทบัญญัติในพระพุทธศาสนามีมาก มีวินัยมากเหลือเกิน ศึกษาไม่ไหว จะสึกแล้ว พระพุทธเจ้าก็บอก ว่าไม่ต้องรักษามากหรอก รักษาอย่างเดียวได้ไหม ถ้ารักษาอย่างเดียวได้ก็ให้รักษา ให้รักษาอย่างเดียวนะ ให้รักษาจิต หรือความคิด อย่าคิดไปในทางอกุศลก็พอแล้ว ให้คิดแต่ในทางกุศล ทำได้ไหม ท่านก็กราบทูลว่า ทำได้ ลองดูสัก 7 วัน พระท่านก็ทำได้ เพราะคิดไปในทางกุศล คิดดี กายวาจาก็ดี เพราะว่ากายวาจา มันก็ขึ้นอยู่กับความคิด รักษาอย่างเดียวคือรักษาความคิดให้ขึ้นอยู่ในทางที่ดี ก็ไม่ต้องไปรักษาอย่างอื่น พระวินัย 227 ข้อ ก็ไม่ต้องไปรักษา คือรักษาข้อเดียวคือรักษาจิต
 
          เพราะฉะนั้น คนที่ไปล่วงศีลล่วงวินัย คือไปจากความคิดที่ไม่ดีก่อน พอรักษาความคิดได้ก็รักษาได้หมด ศีลทุกข้อก็ทำได้ รักษาได้ แล้วก็ถ้าคิดไปในทางกุศลอยู่เรื่อยๆ ธรรมะก็รักษาได้หมดเหมือนกัน ความคิดอย่างนี้เรียกว่า ความคิดที่ปลุกเร้าคุณธรรม ถือว่าเป็นระบบจริยธรรม ทำให้เรามีระดับจริยธรรมที่ดีขึ้น หรือว่าคิดไปในทางที่ดีเสมอ ก็จะได้ประโยชน์มาก
 
ความคิดอันตราย 3 ประเภท
 
ประการที่ 1 ไม่มองดูไม่พูดถึงความผิดของตนเอง คอยมองดูคอยพูดถึงแต่ความผิดพลาดของผู้อื่น
 
          อันนี้ความคิดอันตรายประการที่ 1 ในครอบครัวที่มีปัญหา พ่อแม่ลูก ก็มักจะเป็นอย่างนี้นะครับ ที่ทำงานหรือที่อะไรก็เหมือนกัน ถ้าเผื่อว่ามีแต่คนที่ไม่มองดูความผิดของตนเองบ้าง คอยมองดูแต่ความผิดพลาดของคนอื่นก็จะมีปัญหา มีอันตราย ในครอบครัวท่านบอกว่า ก่อนแต่งงานควรลืมตาทั้งสองข้าง แต่ว่าแต่งงานแล้วก็ปิดเสียข้างหนึ่ง เพื่อไม่ต้องมองดูข้อผิดพลาดบกพร่องของอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ไม่บอดทำเป็นเหมือนบอด ไม่หนวกทำเป็นเหมือนหนวก ก็เชื่อว่าคนเขาจับลิงมาได้ตัวหนึ่ง แล้วก็มาอยู่กับคนเสียนานหลายเดือน พอกลับไปป่าไอ้พวกลิงด้วยกันก็มาล้อมถาม ว่ามนุษย์เขาพูดอะไรกันบ้าง ลิงตัวที่มาอยู่กับมนุษย์ก็เล่าให้ฟัง ไอ้ลิงพวกนั้นก็อุดหู บอกโอ๊ย! ฟังไม่ได้เลย เขาพูดกันอย่างนั้นเชียวหรือ ก็เป็นนิทานขำขัน
 
          ผมขยายความตรงนี้ว่า เพื่อจะไม่มองดูข้อผิดพลาดของอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินไป นอกจากนี้แล้วเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขความสุภาพอ่อนโยนและเห็นใจ พ่อแม่ไม่เข้าใจลูก ลูกไม่เข้าใจพ่อแม่ คือว่าถ้าทุกคนถือเอาตนเป็นจุดศูนย์กลางของความถูกต้อง ก็จะต้องรุกรานเสรีภาพของคนอื่นๆ และผู้อื่นก็จะรุกรานเสรีภาพของผู้อื่นต่อๆไป ต่างคนต่างก็เป็นนรกของกันและกันอย่างที่ ฌอง พอล ซาร์ต นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า “นรกคือผู้อื่น” นี่ในบทละครเรื่อง No exit ของ ฌอง พอล ซาร์ต
 

ประการที่ 2 ทำผิดจนเป็นนิสัย
 
          เข้าใจผิดคิดว่าตัวเขาเป็นคนเลว  เพราะว่าโชคไม่ดี ถ้าเป็นคนเลวเป็นคนตกต่ำก็เพราะโชคไม่ดี เพราะชะตาชีวิตกำหนดมาให้ โชคชะตาเป็นอย่างนั้น   จึงโกรธ แล้วก็ไม่ยอมยกตนเองขึ้นจากหล่มของหายนะ
 
          อันนี้ก็คือไม่ยกตนเองขึ้นมาจากความบกพร่องผิดพลาด นี่ก็ทำผิดจนเป็นนิสัย เพราะทำผิดแล้วก็มัวคิดว่า ที่ผิดเพราะโชคไม่ดี แล้วก็ไปโทษชะตาชีวิต มาถึงตรงนี้ผมขอตั้งปัญหาเอาไว้ให้ท่านผู้ฟังลองโทรฯเข้ามาวิจารณ์ดูนะครับ ว่าสิ่งที่เราเรียกว่า ชะตาชีวิตของคนเรามีหรือไม่มี ถ้ามีอะไรเป็นตัวกำหนดแล้วก็แก้ไขได้หรือไม่ ก็ขอตั้งเอาไว้เป็นปริศนานะครับ
 

ประการที่ 3 ทำร้ายตนเอง อ่อนแอ วิ่งหนีปัญหา ไม่เคยคิดแก้ปัญหา
 
          คนที่มีความรู้แล้วก็อาจมีความสามารถ แต่ไม่ใช้ความรู้ความสามารถให้สมกับที่มี ก็จะไม่ได้รับการยกย่อง แล้วก็อาจอยู่ไม่ได้ในโลก ในโลกที่สับสนของเรา อาจอยู่ไม่ได้
 
          ผมขอเล่าเรื่องประกอบนะครับ มีหญิงคนหนึ่งมีลูกปากแหว่ง มีลูกออกมาปากแหว่งเป็นทุกข์จนคลั่งแล้วก็ฆ่าลูกตาย แล้วก็ฆ่าตัวตายตามไปด้วย  ทั้งๆที่หมอก็ยืนยันว่าปากแหว่งอย่างนี้  ความรู้ความสามารถทางศัลยแพทย์สมัยใหม่ พอจะทำให้หายได้เป็นปกติได้ แต่ก็ไม่ฟังเสียงใคร ผู้หญิงคนนี้เป็นทุกข์อย่างหนัก เสียใจ อับอาย ในที่สุดก็ทำร้ายตัวเองหนีปัญหา ความจริงปัญหาอย่างนี้แก้ไม่ยาก แค่ว่าอดทนเสียหน่อย ใจเย็นเสียหน่อย ยังมีปัญหาอย่างอื่นอีกมากมายที่สามารถจะแก้ได้ด้วยความอดทน มีปัญหาแล้วคิดสู้ปัญหา เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้วอุปสรรคจะมีมากแค่ไหนก็ยังน้อยกว่าที่เราเก็บมาคิดกังวลใจ
 
          ผมขอซ้ำตรงนี้อีกทีนะครับ “อุปสรรคจะมีมากแค่ไหนก็ยังน้อยกว่าที่เราเก็บมาคิดเป็นกังวลใจ” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนสองคนทำความชั่วเหมือนกัน ได้รับผลไม่เท่ากัน” คนหนึ่งได้รับมากอีกคนหนึ่งได้รับน้อย เพราะคน 2 คนต่างกัน ถือว่าคนที่ได้รับผลมากเพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้อบรมกาย ไม่ได้อบรมศีล ไม่ได้อบรมจิต ไม่ได้อบรมปัญญา มีคุณธรรมน้อย มีจิตใจคับแคบ มีปกติอยู่เป็นทุกข์แม้ด้วยเรื่องเพียงเล็กน้อย เรียกว่า อปฺปทุกฺขวิหารี มีปกติอยู่เป็นทุกข์แม้ด้วยเรื่องเพียงเล็กน้อย อะไรนิด อะไรหน่อยก็เก็บมาเป็นทุกข์ ทุกข์ร้อนใจ เผาตัวเอง ทำร้ายตัวเอง ส่วนคนที่ทำชั่วเหมือนกันแต่ได้รับผลชั่วน้อยก็เพราะว่า เป็นคนที่ได้รับการอบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา เป็นคนมีคุณธรรมมาก มีจิตใจกว้างขวาง มีใจใหญ่ มีปกติอยู่ด้วยธรรม มีเมตตาหาประมาณมิได้ เรียกว่า อปฺปมาณวิหารี อยู่แบบโดยคุณธรรม ที่หาประมาณมิได้ อยู่ด้วยธรรม มีเมตตา เป็นต้น หาประมาณมิได้   คนอย่างนี้ถ้าทำดีเท่ากับคนแบบข้างต้นก็จะได้ดีมากกว่า เพราะว่ามีเครื่องรองรับดีมากกว่า
 
          ความลับอย่างหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่ดี คือความฉลาดและความกล้าหาญที่จะเอาชนะความทุกข์ ความผิดพลาด มีบางครั้งที่เราต้องทิ้งปัญหาไว้ก่อน  แล้วก็หันไปทำสาธารณประโยชน์ ปล่อยให้ปัญหาที่เหลืออยู่คลี่คลายไปเอง แล้วก็หัวเราะเยาะตัวเองเสียบ้าง สมน้ำหน้าตัวเองเสียบ้าง พร้อมกับเสียงหัวเราะเบาๆของเราเอง บางคราวจำเป็นต้องนึกว่าเราเป็นเพียงตัวตลกตัวหนึ่งของโลก
 
          ความทุกข์หรือปัญหาบางอย่าง มันคล้ายๆหัวสิวครับ ถ้าเผื่อเราไปเล่นมันมากเราไปบีบมัน คลึงมัน มันยิ่งช้ำใหญ่ แล้วก็ยิ่งเป็นแผล เป็นแผลเป็น ถ้าเราปล่อยทำไม่รู้ไม่ชี้ ให้มันแตกเอง แล้วมันหายเอง แล้วหน้าก็ไม่เป็นแผลด้วย คล้ายๆปัญหาบางอย่าง ความทุกข์บางอย่างมันเหมือนหัวสิวนะครับ ก็ให้ปฏิบัติกับความทุกข์บางอย่าง ปัญหาบางอย่างเหมือนหัวสิว คือปล่อยมันไว้อย่างนั้น ให้มันแตกไปเอง คลี่คลายไปเอง หน้าก็ไม่เป็นแผลเป็น ก็ไม่เป็นไร
 
          ที่สำคัญประการหนึ่งนะครับ คนจะสนใจอย่างมากคือว่า เป็นความลับของการดำเนินชีวิตที่ดีก็คือ มีความฉลาดแล้วก็มีความกล้าหาญ ที่จะเอาชนะความทุกข์ ความผิดพลาด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเลย ว่าเป็น the art of living เลย เป็นศิลปะในการดำเนินชีวิตคือ มีความฉลาดและมีความกล้าหาญที่จะเอาชนะความทุกข์และความผิดพลาด
 
          รางวัลที่ประเสริฐรางวัลหนึ่งในชีวิตของคนเรา ถ้าทำได้ ก็คือว่า ฝึกนิสัยให้เป็นคนหัดคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลึกซึ้ง อันนี้คือโยนิโสมนสิการ ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเรียกว่าโยนิโสมนสิการ มันเป็นรางวัลที่ประเสริฐอย่างหนึ่งในชีวิต ถ้าเราฝึกนิสัยให้เป็นคนหัดคิดอะไรเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลึกซึ้ง ขุดลงไป หรือสาวลงไปจนถึงต้นตอของมันทุกๆเรื่องที่เราสนใจ อันนี้จะเป็นรางวัลที่ดีของชีวิต ไม่ผิวเผินแต่เป็นคนรู้จริง เข้าใจจริง ทำนองนี้นะครับ เรียกว่าโยนิโสมนสิการ
 
          กฎแห่งกรรมมียืดหยุ่นไหม ก็มีเหมือนกัน บางครั้งก็มีเหมือนกัน กฎแห่งกรรมไม่ใช่กฎที่ตายตัวว่า คนทำชั่วเหมือนกัน ทำความชั่วอย่างเดียวกัน แต่ว่าได้รับผลไม่เหมือนกัน อยู่ที่เงื่อนไขอีกเหมือนกัน คนทำความดีเหมือนกัน ความดีอย่างเดียวกันจะได้รับผลไม่เท่ากัน อยู่ที่เงื่อนไขต่างๆมากมายที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ในการทำความดีหรือทำความชั่ว
 
          อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าบุคคล 2 คน คนหนึ่งทำความชั่วอย่างนี้แล้วตกนรก อีกคนหนึ่งทำแล้วไม่ตกนรก อยู่ที่เงื่อนไข มันมีเงื่อนไขเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะในชีวิตคน ทีนี้ผู้ฟังก็ไม่ค่อยเข้าใจ ก็เลยอุปมาให้ฟังว่า เหมือนกับเรือ 2 ลำ ลอยลำอยู่ เคียงกันอยู่ เทียบกันลำหนึ่ง ก็เอาก้อนหิน 10 กิโล ใส่ลงไปในเรือลำหนึ่งจม พอก้อนหินเพิ่มลงไป 10 กิโล จมทันทีเลย อีกลำหนึ่ง ยังลอยลำได้สบาย เพิ่มอีกเป็น 20 กิโล ก็ยังไม่จม เพิ่มเป็น 30 กิโลก็ยังไม่จม ถามว่าเพราะอะไร
 
          ลำแรกมันปริ่มแล้ว พร้อมที่จะจม พอเพิ่มน้ำหนักเข้าไปอีกหน่อยเดียวก็จมทันที แต่อีกลำมันลอยลำสบายๆ ไม่ได้บรรทุกน้ำหนักอะไรเลย อันนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า คนทำความชั่วเหมือนกัน คนหนึ่งไปนรก คนหนึ่งไม่ไป คนที่ไปเพราะว่าไม่ได้อบรมกาย ไม่ได้อบรมจิต ไม่ได้อบรมปัญญา เรื่องนี้พูดแล้ว อีกคนหนึ่งเป็นคนอบรมกาย อบรมจิต อบรมปัญญา มีชีวิตอยู่ดีตลอดก็โดยบังเอิญไปทำความชั่ว บางอย่างก็ไม่เป็นไร นี่คือเงื่อนไขในเรื่องกฎแห่งกรรม
โยนิโสมนสิการ 4 อย่าง
 
ประการที่ 1 เรียกว่า อุปายมนสิการ พิจารณาโดยอุบาย อย่างมีระบบ เพื่อให้รู้ความจริงให้เข้าถึงสัจจะ เช่น เข้าถึงความจริงที่ว่าสิ่งทั้งปวงอยู่ภายใต้อำนาจอันเฉียบขาดของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีวิธีคิดให้เป็นสุขแม้ในเหตุการณ์ที่เป็นทุกข์ หรือในเหตุการณ์ที่น่าจะทุกข์ มีปัญญามองหาแง่ดีของสิ่งร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว คนอย่างนี้ต้องเป็นคนที่มีปัญญา เหมือนสุภาษิตที่ว่า ปญฺญาสหิโต นโร อิธ อปิทุกฺเขสุ สุขานิ วินฺทติ ผู้มีปัญญาในโลกนี้จะหาความสุขได้แม้ในเหตุการณ์ที่น่าเป็นทุกข์ หรือในทุกข์นั้นเอง หาความสุขได้ในทุกข์ หาความเย็นได้ในที่ร้อน หาโอเอซิสได้ใน ทะเลทราย  หาแหล่งน้ำได้ในทะเลทราย  เหมือนบางคนที่ทำงานหนัก แต่ว่าต่อสู้กับงานถึงแม้จะเหนื่อยยากลำบากอย่างไร มันก็มีความสุขนะครับ อันนี้เป็นอุปายมนสิการ พิจารณาโดยอุบายที่เป็นระบบ
 
          บางคนมันตรงกันข้าม คือว่าถ้าเป็นคนโง่ก็จะหาความทุกข์ได้แม้ในเหตุการณ์ที่น่าจะสุข แต่ถ้าคนฉลาดเขาจะหาความสุขได้แม้ในเหตุการณ์ที่น่าเป็นทุกข์ คือมองหาความสุขได้ อย่างว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บมันก็หาความสุขได้จากการที่เป็นทุกข์นั่นเอง หาประโยชน์หาอะไรจากความเป็นโรค ทำให้เราฉลาดขึ้น อย่างที่อาจารย์พุทธทาสบอกว่า “เป็นโรคทุกที ทำให้ฉลาดขึ้นทุกที” ก็ดีเหมือนกัน นี่คืออุปายมนสิการ
 

ประการที่ 2 เรียกว่า ปถมนสิการ แปลว่า คิดถูกทาง คิดต่อเนื่องเป็นลำดับตามแนวเหตุผล แม้ในทางที่ดีด้วยกันแล้วก็ยังพิจารณาหาทางว่า ควรจะดำเนินทางไหนจึงจะดีที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด นี่ก็คือการเลือกวิถีชีวิต ซึ่งก็อยู่ในวิสัยที่เราจะเลือกได้และเหมาะสมแก่ตัวเรา
 
          อันนี้ก็มาตรงกับแนวของปรัชญา Existentialist ปรัชญาอัตถิภาวนิยม หรือปรัชญาที่ว่าด้วยอุดมคติว่าด้วยเสรีภาพ ว่าด้วยการเลือก พวกนี้นะครับ Existentialism พวกนัก Existential เขาจะไม่ค่อยพอใจกับที่เห็นๆอยู่ ที่เป็นๆอยู่คือ คิดว่ามันน่าจะมีอะไรที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่ให้ขัดสันโดษ คือว่าไม่พอใจ ไม่สันโดษในกุศลธรรม ในทางที่เห็นว่าดีอยู่แล้ว อะไรที่มันจะดีที่สุด คนที่ทำถูกเหมือนกันอาจจะได้รับรางวัลไม่เหมือนกัน อาจเป็นว่าเงื่อนไข ไม่เหมือนกัน พื้นฐานไม่เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมต่างกันไม่เหมือนกัน อย่างบางคนมีเงินอยู่ 100 บาท ไปจ่าย 100 บาท ก็หมดแล้วนะครับ หมดเกลี้ยงเลย บางคนเมื่อจ่าย 1,000 บาท ยังเหลืออีกตั้งปึกใหญ่ ทุนเขาเยอะนะ เขาไม่เป็นไร
 

ประการที่ 3 การณมนสิการ แปลว่า คิดตามเหตุ เป็นไปตามอำนาจของเหตุ ไม่ดื้อรั้นดันทุรังในสิ่งที่ไม่สมควร ยอมรับผิดเมื่อเห็นว่าได้ทำผิดไป ไม่อ้างเหตุผลเข้าข้างตนเองเพื่อให้ตนถูก หรือไถลไปข้างทางขุ่นๆ คือยืดหยุ่นตามเหตุการณ์  ไม่แข็งทื่อตายตัว จนไม่คำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็น  ประกอบด้วยคุณสมบัติ การณวสิกตา คือ Conditionally หรือ If-then-law คือมีเงื่อนไขตลอด ทุกอย่างมันมีเงื่อนไข สมควรจะเป็นผู้ที่เรียกกันในภาษาบาลีว่า การณวสิโก เป็นผู้ที่อยู่ในอำนาจแห่งเหตุ ไม่ดื้อรั้นดันทุรัง ดำเนินชีวิตถูกต้องตามเหตุการณ์ที่สมควร แต่ไม่ใช่อ่อนแอหรือขาดหลักการ
 
          การณมนสิการ ก็คิดไปตามเหตุ ไปตามเงื่อนไข มันมีเงื่อนไข ถ้าเป็นอย่างนี้ต้องทำอย่างนี้ ถ้ามีเงื่อนไขอย่างนี้ต้องทำอย่างนี้ คือไม่ถืออะไรตายตัวทื่อไป อย่างเช่น พระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุ แล้วท่านก็ถอนสิกขาบท บัญญัติแล้วก็ถอน ถอนแล้วก็บัญญัติ แล้วก็มีบางคนติเตียนว่า ทำไมนะพระพุทธเจ้าเอาแน่นอนอะไรไม่ได้  เดี๋ยวก็ถอน เดี๋ยวก็บัญญัติ  เพราะเหตุที่ว่าพระพุทธเจ้าท่าน การณวสิโก ท่านขึ้นอยู่กับอำนาจแห่งเหตุ ว่าเหตุมันเป็นอย่างนี้ ก็ควรต้องทำอย่างนี้ เช่นว่า ทรงบัญญัติเรื่องรองเท้าให้ใช้รองเท้าชั้นเดียว ต่อมาพระที่ไปอยู่ในที่กันดาร ท่านก็กลับมากราบทูลบอกว่า รองเท้าชั้นเดียวไม่พอเพราะว่าพื้นที่มันขรุขระ ก็ทรงอนุญาตให้เป็น 2 ชั้น 2 ชั้นแล้วยังไม่พอก็อนุญาต 3 ชั้น จนกว่าจะพอ หนาขึ้นตามความจำเป็นตามเหตุการณ์ ท่านจะยืดหยุ่น ยืดหยุ่นอยู่ตลอดเวลา เพราะในศาสนาพุทธ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่ากฎเกณฑ์ตายตัว จะไม่มี แต่ท่านจะยืดหยุ่นไปตามเหตุการณ์ ตามเงื่อนไขอยู่เสมอ มี Conditionally ตลอดเวลา
 
          ทีนี้มีคนถามว่า เอ๊ะ! ถ้าอย่างนั้นกฎแห่งกรรม ให้สันโดษ ในปัจจัย 4 ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม อันนี้ก็สำคัญมากเหมือนกัน ปถมนสิการ  คิดถูกทางแล้วก็เลือกทางว่าทางไหนคิดดีที่สุด  การคิดนี่ บางทีมันคิดไม่ออก คือคิดแล้วก็ เอ๊ะ! ชีวิตของเรานี่ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวอยู่บ้านมีปัญหา ที่ทำงานก็มีปัญหา ไม่รู้จะเอายังไงก็เหล้านี่ดีที่สุด หาทางออกทางนี้มันไม่มีปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องกรอง บางคนว่าไปวัดพระก็ด่า กลับบ้านเมียก็เทศน์ อันนี้ทางด้านจริยศาสตร์ จะสอนเรื่องนี้มาก สอนเรื่องว่าให้พิจารณาหาว่าอะไรมันดีกว่า และอะไรมันดีที่สุด supreme good ความดีที่สูงสุดมันควรจะเป็นอะไร แต่ถ้าอันหนึ่งดี อันหนึ่งไม่ดี         ไม่เป็นปัญหา เพราะว่าเราเลือกได้ง่าย แต่ว่าดีด้วยกันมันเลือกยาก ในคนที่มีปัญญา มีโยนิโสมนสิการ จึงจะเลือกได้
 

ประการที่ 4 อุปปาทกมนสิการ คือคิดในเชิงเร้ากุศลธรรม ให้เกิดความเพียรชอบ ให้หายกลัวในสิ่งที่เคยกลัวหรือในสิ่งอันไม่ควรกลัว เพื่อให้เกิดผลที่พึงประสงค์ พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานแนวคิดนี้แก่พระสาวกอยู่เสมอ ผู้ที่ท้อถอยในความเพียร ผู้ที่ย่อหย่อนในกุศลธรรม ให้กลับดำเนินไปในทางที่ดี ทางกุศลธรรม   บางทีก็ทรงเล่าเรื่องในอดีตของพระสาวกบ้าง ของพระองค์เองบ้าง เรียกว่าชาดก บางทีก็มีพระบางรูปถอยความเพียร เวียนมาเกียจคร้าน ท่านก็บอกว่า สมัยก่อนนี้เคยไปทะเลทรายด้วยกันจำได้มั้ย เธอเป็นคนขุด ทำให้พรรคพวกรอดมาได้ด้วยความเพียรของเธอนี่ ทำไมตอนนี้จึงจะเกียจคร้าน ทำนองนี้ เรียกว่า อุปปาทกมนสิการ
 
          อันนี้ก็สำคัญในการที่จะให้กำลังใจคน ทำให้คนที่ได้ยินได้ฟังได้อะไรเขาจะรู้สึกมีกำลังใจในการที่จะทำความดี บางทีก็หาเหตุหาผลมายุให้คนทำความดีก็ยุยากเหมือนกัน อยู่ที่อธิมุตติของเขาด้วยเหมือนกันครับ คืออธิมุตติของเขาเข้ากับเราได้ แต่ถ้าเผื่ออธิมุตติคืออัธยาศัยของเขาเข้ากับเราไม่ได้ บางทีเรายุเข้าก็ไม่ขึ้น
 
          อาจารย์ทองขาวเล่าว่า “ผมเคยมีอยู่เรื่องหนึ่ง เสมียนพิมพ์ดีดที่เคยอยู่ด้วยกัน เขาเป็นคนขยัน เขาก็หวังว่าปีนี้เขาคงจะได้ 2 ขั้นแน่ๆ ถ้าประเมินตามคุณภาพที่ทำงาน เขาประเมินตัวของเขาเองจากคนอื่นที่ดูๆนะครับ จะยังไงเขาต้องได้แน่ ปีนี้ 2 ขั้น พอเอาเข้าจริงๆปรากฏว่าไม่ได้ ก็เสียใจ บอกว่าอาจารย์ผมไม่ทำแล้ว คนอื่นเขาไม่ทำเขาได้ 2 ขั้น ผมทำอาจารย์ก็เห็น ผมไม่ได้ 2 ขั้น หมดกำลังใจ ผมไม่ทำแล้ว ผมก็บอกว่า นี่ขยันขนาดนี้ยังไม่ได้ 2 ขั้น ต่อไปถ้าคุณเลิกขยันคุณก็ไม่ได้หรอก ก็จะติดลบไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ปีนี้คุณขยันขนาดนี้คุณไม่ได้ ปีหน้าคุณจะต้องขยันให้ยิ่งกว่านี้อีก”
 
          คือถ้าสมมุติว่าไม่ขยันให้มากกว่านี้ ก็ไม่ควรจะเสียใจ เพราะว่าโทษของการได้ 2 ขั้นก็มีเยอะ ไม่ใช่ไม่มี แล้วก็คุณของการไม่ได้ 2 ขั้นก็มีอยู่ ขอให้พิจารณาเห็นด้วยโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการจะช่วยคนให้มองเห็นอะไรที่คนอื่นมองไม่เห็น เช่นไม่ได้     2 ขั้น มองให้เห็นคุณของการไม่ได้ 2 ขั้น ก็เห็นได้ อย่างที่อาจารย์ทองขาวเล่าเมื่อครู่นี้ก็เห็นว่า คนที่ทำความดีบางทีก็ท้อถอยบ่อย ก็บอกว่า ทำความดีขนาดนี้ยังได้ดีแค่นี้ แล้วถ้าเผื่อ เลิกทำมันจะได้อะไร  บางคนก็มองในแง่ดีว่า  ติดคุกก็ดีเหมือนกัน บังเอิญว่ามีคนไปติดคุก  เสร็จแล้วพรรคพวกตามหาตัวไปเที่ยวปล้น หาไม่เจอ เลยไปปล้นกันตามลำพัง พวกนั้นก็ถูกฆ่าตายหมด คนนี้ติดคุกอยู่ไม่ได้ไปปล้น ก็มานึกว่า เอ้อ! ติดคุกนี่ก็ดีเหมือนกัน คือที่จริงทุกอย่างมันก็มีแง่ดีให้มองเหมือนกัน ขอให้เรามีปัญญาที่จะ มอง จะเห็นแง่ดีของสิ่งที่คนอื่นเขาเห็นว่าร้าย
 
          แต่บางคนนี่ จะไม่มองรอบด้านจะมองอยู่จุดเดียว จุดที่ตนเองไม่สมหวัง ไปดูจุดนั้นนะ แทนที่จะมองดูจุดอื่น บางคนอาจจะจนแต่ว่ารูปสวย ก็อาจจะไปติว่า เอ๊ะ! ทำไมจน แต่ว่าที่รูปสวย ร่างกายสมประกอบ ซึ่งอาจจะดีกว่าคนอื่นเยอะแยะ มันไม่มีที่สิ้นสุด พูดถึงคนลำบากไม่มีที่สิ้นสุด เราว่าลำบากแค่นี้ คนลำบากกว่าเราก็มี แค่เรามีร่างกายครบสมบูรณ์ เรายังบอกว่าไม่ไหวแล้ว แต่บางคนที่เขาไม่มีขาไม่มีแขนเลย เขายังใช้ปากวาดรูป ใช้เท้าวาดรูป เขาก็ยังอยู่ได้ อวัยวะครบถ้วนนี่ครับเป็นมหาสมบัติแล้ว มันเป็นมหาสมบัติ ตาข้างหนึ่งก็ขายได้ล้านหนึ่ง ไม่ขาย แขน   ข้างหนึ่งขายไหมล้านหนึ่ง ก็บอกว่าไม่ขาย ลองบวกดูว่าตา 2 ข้าง แขน 2 ข้าง ขา 2 ข้าง 6 ล้านแล้ว ไม่ขาย มันมีสมบัติที่มีคุณค่าอยู่ประจำตัว คิดดูให้ดีว่าเราก็มีอยู่ สมบัติภายนอกนี่มันก็ตัวเลขในบัญชี
 
          ถ้าคิดอย่างนี้แล้วก็สบายใจนะครับ ความทุกข์อะไรต่างๆก็จะหมดไป บางทีเราก็จะไปคิดเปรียบเทียบกับคนอื่น พอคิดเปรียบเทียบกับคนอื่นปุ๊บ ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เอ๊ะ! ทำไมคนนู้นถึงมีเงิน 100 ล้าน 1,000 ล้าน ถามว่ามีเงิน 100 ล้าน 1,000 ล้าน มีความสุขไหม กับเรามีแค่นี้แล้วเรามีความสุขไหม ถ้ามีความสุข เราก็บอกว่าเอ้อ ใช้ได้ การมีมากไม่ใช่เครื่องตัดสินว่า จะมีความสุขเสมอไป อาจจะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย
ความคิดแบบโยนิโสมนสิการ 10 ข้อ
 
1. คิดแบบสาวหาเหตุปัจจัย
 
          เช่น แนวคิดแบบปฏิจจสมุปบาท เรียกว่าคิดแบบสาวหาเหตุปัจจัย เช่นว่า สุข-ทุกข์ มันเกิดขึ้นมา เราก็สาวหาเหตุว่ามันเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไร พอสาวไปตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็จะไปเจอความเกิด (ชาติ ความเกิด) ก็สาวต่อไปว่าความเกิด  เกิดจากอะไร  ก็มาจากคน  ภพมาจากอะไร ก็มาจากอุปาทาน  อุปาทานมาจากอะไร มาจากตัณหา ตัณหามาจากอะไร มาจากเวทนา สาวเรื่อยขึ้นไป จนถึงอวิชชา เรียกว่าความคิดแบบสาวหาเหตุปัจจัย ถ้านอกจากสมุปบาทมันก็มีเยอะแยะ ความเกิดของเรานี้มาจากอะไร กรรมมีเพราะมีอะไร สาวไปก็จะเจอกิเลส กรรมมีเพราะมีกิเลส  เพราะว่าตามหลักเขามีว่า กิเลส กรรม วิบากกรรม ถ้ามีโยนิโสมนสิการ เมื่อมีโยนิโสมนสิการ อกุศลที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น อกุศลที่เกิดแล้วก็เสื่อมไป
 
          ในความคิดแบบสาวหาเหตุปัจจัย จริงๆแล้วมันก็เป็นประโยชน์ แต่ทุกวันนี้บางทีเราไม่ค่อยไปแก้ปัญหา ไม่สาวไปหาเหตุ แต่ว่าเราจะแก้ปัญหาแบบแก้เฉพาะหน้า สมมุติว่าตอนนี้ ประเทศชาติของเราเศรษฐกิจมันล่มจม พรรคการเมืองก็หาเสียงกันบอกว่าจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ เรียกว่าเอาเงินทุ่มเข้าไปจุดโน้นจุดนี้   ไม่ได้คิดไปแก้ว่าสาเหตุที่มันเกิดความยากจน มันเกิดจากอะไร ไม่ได้คิดสาวไปถึงตรงโน้น ไม่ค่อยมีโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการ มันต้องสาวไปหาต้นตอ โยนิ แปลว่า ต้นตอ อย่างกับปัญหาข้าวยากหมากแพงทุกวัน เมื่อเราไปย้อนสาวเข้าจริงๆไปเจอตัวปัญหาของคนเรา ความโลภของคนเป็นใหญ่ ข้าวยากหมากแพง ถ้าเผื่อเราสาวเข้าไปจริงๆ ความโลภ ความไม่รู้จักพอ ความฟุ่มเฟือย  มันมากมายเหลือเกินที่ทำให้เกิดข้าวยากหมากแพงขึ้นมา ต้องพยายามตัดสิ่งนี้เอง ลดสิ่งนี้ลง แพงก็แพงไปสิ ฉันไม่เอา
 
          อย่างประเทศอินเดีย รถเบนซ์ รถยุโรปนี่แทบจะไม่เห็น เป็นรถที่ Made in India ทั้งหมด รถเล็ก รถน้อย รถใหญ่ รถบรรทุกอะไรนี่ของอินเดียหมด เพราะฉะนั้น ที่อื่นเขาจะขายแพงยังไงก็แพงไป เราไม่ได้ซื้อ เขาซื้อของเขาเอง แล้วรัฐมนตรีก็ใช้รถ  Ambassador ติดแอร์ ก็รถเก่าๆตั้งแต่ Taxi ไปจนถึง อินทิรา คานธี ใช้ Ambassador คนจนหรือคนรวยก็ใช้รถยี่ห้อเดียวกัน เห็นบอกว่าถ้าจะซื้อรถต่างประเทศต้องรอเป็นสิบๆปี ถึงจะซื้อได้ เพราะฉะนั้น ประเทศอื่นเขาจะเป็นยังไง เขาพออยู่ได้ ถ้าปิดประเทศกัน อินเดียเขาพออยู่ได้ เขาทำอะไรเองได้เยอะ พวกยารักษาโรคทำในอินเดียทั้งนั้น พวก Computer ของอินเดียเขาถือเป็นของส่งออกนอก ทีวีเขาถือว่าถ้าเขาผลิตเองไม่ได้เราจะไม่มี ตอนที่เรามีแล้วอินเดียเขายังไม่ยอมให้มี เพราะทำเองไม่ได้ นี่คือระบบ โยนิโสมนสิการของเขา อันนี้ดีครับ ส่วนที่ดีของเราก็มี ผมโยงมาตรงนี้หน่อยนะครับ
 
          กรรมมีเพราะอะไร ก็เพราะว่ามีกิเลส ถ้าไม่มีกิเลสกรรม ก็ไม่มี นี่คือสาวไปนะครับ อย่างสวดมนต์รัตนสูตร ที่พระท่านสวดทำน้ำมนต์ ขีณํ ปุราณํ นวํ นตฺถิ สมฺภวํ แปลว่า กรรมเก่าก็สิ้นไปแล้ว กรรมใหม่ก็ไม่มี คือนี่เป็นเรื่องราวของพระอรหันต์        วิรตฺตจิตฺตายติเก ภวสฺมิ แปลว่า เมื่อกิเลสไม่มี กรรมก็ไม่มี เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ท่านไม่มีกิเลส เมื่อไม่มีกิเลส กรรมก็ไม่มี     กรรมเก่าท่านก็สิ้นไป กรรมใหม่ไม่เกิด เพราะว่าไม่มีกิเลส นี่ก็แนวสาวหาเหตุปัจจัย
 
          อย่างเราอ่านบาลีก็จะพบคำบ่อยที่เจอ โก เหตุ โก ปจฺจโย พอมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นผลเกิดขึ้นแล้ว ก็จะถามกันว่า โก เหตุ โก ปจฺจโย อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ตามความเข้าใจของผมนะครับ เหตุนี่คือเหตุแท้ มันเป็น real cause แล้วก็ ปจฺจโย นั้นเป็นเหตุสัมพันธ์ เป็นส่วนประกอบ relative cause เป็นเหตุสัมพันธ์เข้ามาทำให้เกิดสิ่งนั้นเร็วขึ้นนะครับ เช่นว่าเราไปเห็นคนถูกรถชนตาย ถามว่า โก เหตุ โก ปจฺจโย อะไรเป็นเหตุแท้ อะไรเป็นปัจจัยคือว่าเป็นตัวประกอบ ทีนี้ส่วนมากเหตุแท้เราไม่ค่อยรู้     มันสาวยาก มันลึกลับ รู้ตัวปัจจะโย คือว่ารู้ปัจจัยครับ รู้ว่าเขาวิ่งตัดหน้ารถ แต่ปัจจัยนี่มันมีเยอะ เช่นว่า รถเบรกเสีย รถคันอื่นมาพอดี คืออะไรๆมันประจวบตรงนั้นพอดี ปัจจัยต่างๆมันจะล้อมเข้ามาพอดี แต่ว่าตัวเหตุแท้ ถ้าจะให้ตอบตามแนวพุทธ คือความเกิด ชาติ
 
          อาจารย์ทองขาวเล่าว่า “กระผมเคยอ่านหนังสือของอดีตผู้พิพากษาท่านหนึ่ง เขาพิมพ์แจกงานศพคุณแม่ท่านนะครับ ชื่อ หนังสือว่า “ถ้าท่านเป็นศาล” ท่านก็เล่าเรื่องที่อเมริกา การก่อสร้างตึก สิบกว่าชั้น คนที่ขึ้นไปทาสีข้างบน เดินพลัดตกลงมา แล้วมาถูกคนข้างล่าง คนข้างล่างตาย คนหล่นลงมาไม่ตาย ญาติพี่น้องเขาก็ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ผู้พิพากษาก็ไม่รู้จะพิพากษายังไง ไปดูกฎหมายหลายประเทศก็ไม่มี ไปเจอกฎหมายของ บาบิลอน (Babylon) ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ก็พิพากษาให้คนที่ฟ้องขึ้นไปชั้น 10 ที่ว่า แล้วก็กระโดดลงมาใส่จำเลย ปรากฏว่าโจทก์ไม่ยอม มันก็เป็นเหตุปัจจัยเหมือนกันว่า หล่นลงมานี้ มาใส่หัวคนข้างล่าง แทนที่คนหล่นจะตาย แต่ว่าคนที่อยู่ข้างล่างตาย เหตุเขาไม่รู้ว่าเป็นอะไรนะ แต่ปัจจัยนี่รู้ว่ามันเดินพลาด ทีนี้ถ้าหากว่า คนทุกคนมีความคิดแบบนี้นะครับ ผมว่าคดีฟ้องร้องหรือว่าการฆ่ากันอะไรต่างๆคงจะไม่ค่อยมีนะครับ ก็มีนายทหารผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ก็รู้จักสนิทสนมกันนะครับ เรื่องของท่านกับลูกชายก็อายุเป็นวัยรุ่นละเกือบๆ 20 แล้ว ก็ไปถูกรถชนตาย ปรากฏว่าท่านก็บอก มันเป็นกรรมของมัน คือท่านไม่ไปฟ้องร้อง ไม่ไปแจ้งความ ไม่เรียกค่าเสียหายอะไรทั้งนั้น คนที่ขับรถมาชนลูกเขาตายจะทำบุญด้วยอะไร ไม่สนใจ ท่านถือว่าเป็นกรรมของลูกท่านที่จะต้องมาตายตรงนั้น ก็ตัดปัญหาไปทั้งหมดไม่ต้องขึ้นโรงพัก ไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล แล้วคนที่ขับรถชนก็เคารพนับถือไปจนตาย”
 
          เพราะเกิดมาแท้ๆจึงต้องตาย ถึงไม่มีใครมาทำอะไร ถึงงูไม่กัด รถไม่ชน ไม่มีใครมาทำอะไร ก็ต้องตายเพราะชราเป็นแน่แท้ อันนี้ความเกิดถือว่าเป็นเหตุที่สำคัญที่สุด คือเป็นเหตุต้น มรณสตินี่คิดตรงนี้ นอกจากนั้นก็เป็นเหตุประกอบทำให้ตายเร็วขึ้นเท่านั้นเอง แต่ว่าตายนั้นตายแน่ ถึงไม่มีอะไรทำให้ตายก็ต้องตาย แต่มีบางคนคิดอยากจะตายก่อน คือไม่อยากจะอยู่เกิดมาแล้วไม่อยากจะอยู่ คืออยากจะตายก่อน ผูกคอตาย กระโดดตึกตาย กระโดดน้ำตาย ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง อย่างนี้ก็ต้องหาสาเหตุอีกว่าทำไมถึงอยากตายก่อน
 
ที่มา :  หนังสือ โยนิโสมนสิการ (วศิน อินทสระ)
 

4 ความคิดเห็น:

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

การคิดแบบโยนิโสมนสิการ

1. การคิดแบบโยนิโสมนสิการ

1.1 ความหมายของโยนิโสมนสิการ
โยนิโสมนสิการ มาจากคำว่า โยนิโส กับ มนสิการ แปลความได้ว่า การทำในใจโดยแยบคาย กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย การพิจารณาโดยแยบคาย คือ พิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริงโดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นตัวสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยหรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่งจะมิใช่เกิดอวิชชาและตัณหา ความรู้จักคิด คิดถูกวิธี ประกอบด้วยลักษณะของการคิด 4 ประการ คือ
1. อุบายมนสิการ คือ ลักษณะการคิดแบบวิเคราะห์กระบวนการหรือความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ เป็นความคิดที่ช่วยให้เข้าถึงรากเหง้าหรือแก่นแท้ของความคิดจริง ๆ นั้น
2. ปถมนสิการ คือ ลักษณะการคิดเป็นทาง หรือคิดถูกทาง มีลำดับขั้นตอนเป็นเหตุเป็นผลเป็นระเบียบ ไม่วกวน หรืออีกนัยหนึ่ง ปถมนสิการ หมายถึง การคิดได้หลายทางหรือหลายแง่มุม ลักษณะการคิดแบบ ปถมนสิการ เป็นความคิดซึ่งหมู่นักปราชญ์ใช้กันทั่วโลกแต่อาจไม่ครบถ้วนทุกข้อ ผลของความคิดจึงดีแต่ยังไม่สมบูรณ์
3. การณมนสิการ คือ ลักษณะการคิดสืบสาวหาเหตุผล จนเห็นความสัมพันธ์ของเหตุและผลโดยสมบูรณ์ หรือเมื่อเห็นปัญหาและเหตุของปัญหาก็พิจารณาสืบไปว่าจะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง
4. อุปปาทกมนสิการ คือ ลักษณะการคิดมุ่งกุศล หรือคิดเฉพาะสิ่งที่ดีมุ่งแต่ความดีตัดขาดจากสิ่งชั่วร้าย หรือไร้สาระ มุ่งทำให้สิ่งที่จะไม่ก่อทุกข์แก่ตนและผู้อื่น มุ่งทำสิ่งที่ทำให้ตนและผู้อื่นมีความสุขที่แท้จริง ผลของความคิดก่อให้เกิดปัญหาจึงเป็นความคิดที่ดีและสมบูรณ์
ลักษณะการคิดทั้ง 4 ประการ มีความสัมพันธ์กัน เป็นการคิดที่ทำให้เกิดปัญหา เห็นลักษณะและความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ อย่างละเอียดถูกต้อง เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม การฝึกความคิดเช่นนี้เป็นประจำ นอกจากจะทำให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ยังทำให้ปัญญาของผู้นั้นเจริญงอกงามขึ้น ตามความหมั่นเพียรฝึกฝนของบุคคลนั้น (กรมสามัญศึกษา, 2545)

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

1.2 วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ
วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ คือ วิธีคิด 10 ประการ ดังต่อไปนี้
1. วิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุผล คือ เมื่อเห็นผลหรือเห็นปัญหาก็สืบหาเหตุ ได้เหตุแล้วก็สืบหาเหตุก่อนหน้านั้นจนเห็นความสัมพันธ์ของเหตุและผลโดยสมบูรณ์ หรือเมื่อเห็นปัญหาและเหตุของปัญหาก็พิจารณาสืบไปว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นบ้าง ดังนี้เป็นต้น
2. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ คือ มุ่งพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ให้ตรงตามสภาพเป็นจริงจึงต้องรู้รายละเอียดว่า เรื่องนั้น ๆ มีองค์ประกอบย่อยอะไรบ้าง ประกอบกันขึ้นอย่างไร เช่น แยกแยะร่างกายออกเป็นระบบต่าง ๆ ว่ามีระบบหายใจ ระบบการไหลเวียนของโลหิต ระบบเนื้อเยื่อ เป็นต้น จนทำให้เราเข้าใจร่างกายมนุษย์ตามสภาพที่เป็นจริง
3. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์หรือไตรลักษณ์ คือ การคิดแบบวิเคราะห์กระบวนการหรือความเป็นไปของชีวิต เช่น การวิเคราะห์ลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ ได้แก่
ทุกข์ ความไม่อาจคงสภาพอยู่อย่างเดิมได้
อนิจจัง ความเปลี่ยนแปลง ความไม่คงที่
อนัตตา ความไม่เป็นตัวตน ไม่ใช่ตัวตน
4. วิธีคิดแบบอริยสัจ/คิดแบบแก้ปัญหา คือ การคิดแบบสืบสาวจากผลไปหาเหตุแล้ว หาวิธีการแก้ไขที่เหตุ เป็นการคิดที่มีหลักการสำคัญโดยเริ่มต้นจากปัญหา ทำความเข้าใจกับปัญหาให้ชัดเจน แล้วสืบค้นหาสาเหตุเพื่อเตรียมแก้ไข ในเวลาเดียวกันก็กำหนด
เป้าหมายให้แน่ชัด พร้อมกันนั้นจึงคิดวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหาและดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่วางไว้ วิธีคิดแบบอริยสัจประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธและมรรค เป็นวิธีคิดที่ใช้แก้ปัญหาซึ่งตรงตามกระบวนการแก้ปัญหาตามหลักวิทยาศาสตร์
5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ คือ การคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย เป็นการคิดแบบหาความ สัมพันธ์ระหว่างหลักการกับความมุ่งหมาย วิธีใช้ เมื่อวิเคราะห์จนรู้สภาพจริงของปัญหาหรือธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ แล้วก็พิจารณาว่า เรามีจุดมุ่งหมายอย่างไร หลักการใดจะให้สัมฤทธิผลตามจุดมุ่งหมายนั้น วิธีคิดเช่นนี้นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องที่เรียกว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

6. วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก คือ การคิดที่มองตามความเป็นจริง เน้นการยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้น ๆ เป็นอยู่ทุกแง่มุม เพื่อให้รู้คุณโทษ ข้อดีข้อเสียทุกด้านแล้วจึงคิดหาทางออกของปัญหาว่ามีอยู่จริงหรือเป็นไปได้อย่างไร เลือกทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาในกรณีนั้น ๆ แล้วจึงนำไปปฏิบัติ วิธีคิดดังกล่าวจึงเป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องกับการปฏิบัติมากใช้ได้กับเรื่องทั่วไป จึงเป็นการคิดมองตามความเป็นจริงเพื่อหาทางออก คือ การปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องที่สุด
7. วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม คือ การคิดที่สกัดหรือบรรเทาตัณหาของมนุษย์ ซึ่งจะใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอย ปัจจัย 4 และวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ มีหลักการคิดที่สำคัญ คือ ในเวลาที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาด้วย “สติ” และ “ปัญญา” แยกแยะให้ได้ว่า สิ่งนั้น ๆ มี “คุณค่าแท้” หรือ “คุณค่าเทียม” ทั้งนี้เพื่อที่จะได้เลือกเสพคุณค่าที่แท้จริง
8. วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม ใช้หลักการที่ว่า
“บุคคลเมื่อประสบอารมณ์หรือรับรู้สิ่งใดก็ตาม แม้เป็นของอย่างเดียวกัน แต่การมองเห็นและนึกคิดอาจปรุงแต่งไปคนละอย่างตามโครงสร้างของจิตใจ”
จากหลักการดังกล่าวจึงทำให้เกิดการมองเห็นและความนึกคิด 2 ลักษณะ คือ ในทางที่ดีงามและประโยชน์ เรียกว่า “กุศล” และในทางที่ไม่ดีงามเป็นโทษ เรียกว่า “อกุศล” ดังนั้นการเริ่มต้นและชักนำความคิดไปสู่ความเป็นกุศลย่อมเป็นสิ่งเริ่มต้นของกระบวนการคิดที่ดีงาม วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรมหรือเร้ากุศล เป็นวิธีที่เปิดกว้างที่สุด เพราะสามารถนำไปปรับประยุกต์เป็นแบบต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นตามความเหมาะสม
9. วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน คือ การคิดในแนวทางของความรู้ หรือคิดด้วยอำนาจของปัญญาโดยไม่ตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์ วิธีคิดแบบนี้เป็นการมองอีกด้านหนึ่งของการคิดแบบอื่น ๆ หรือคลุมวิธีคิดที่กล่าวมาทั้งหมดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีคิดแบบนี้ คือ “ความหมายของการเป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์” นั่นคือการไม่อาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วหรือฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สรุปง่าย ๆ ก็คือ ถือความเป็นปัจจุบันโดยกำหนดที่ “สัมมาสติ” เป็นสำคัญ
10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท คำว่า “วิภัชชวาท” ไม่ใช่วิธีคิดโดยตรงแต่เป็นวิธีพูดเป็นกรรมใกล้ชิดกันที่สุด เพราะสิ่งที่พูดล้วนมาจากความคิดทั้งสิ้น คำว่า “วิภัชชวาท” ถือเป็นคำสำคัญคำหนึ่งที่ใช้แสดงระบบความคิดที่เป็นแบบของพระพุทธศาสนา
วิภัชชวาท มาจาก วิภัชช + วาท
วิภัชชะ แปลว่า แยกแยะ แบ่งออก จำแนกหรือแจกแจง ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า “วิเคราะห์”
วาท แปลว่า การกล่าว การพูด การแสดง คำสอน
วิภัชชวาท แปลว่า การพูด แยกแยะ พูดจำแนก หรือพูดแจกแจง
ลักษณะสำคัญของความคิดและการพูดแบบนี้ คือ การมองและแสดงความจริง โดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละด้านครบทุกแง่มุม

1.3 การคิดแบบโยนิโสมนสิการกับการดำเนินชีวิต
กระบวนการฝึกคนให้เป็นคน “คิดดี” และ “ทำดี” ควบคู่ไปกับ “ความรู้จริง” และ “รู้แจ้ง” เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีและมีคุณค่านั้นเกิดจากการฝึกฝนพัฒนาตนด้วยการศึกษาทั้งวิชาการควบคู่กับหลักธรรมเพื่อนำไปสู่สัมมาทิฐิอันนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

โยนิโสมนสิการ



โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย — reasoned attention: systematic attention; analytical thinking; critical reflection; thinking in terms of specific conditionality; thinking by way of causal relations or by way of problem—solving) และเป็น ฝ่ายปัญญา (a factor belonging to the category of insight or wisdom)

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”

“เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”

“โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

ธรรมข้ออื่น ที่ได้รับยกย่องคล้ายกับโยนิโสมนสิการนี้ ในบางแง่ ได้แก่ อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท — earnestness; diligence), วิริยารัมภะ (การปรารภความเพียร, ทำความเพียรมุ่งมั่น — instigation of energy; energetic effort), อัปปิจฉตา (ความมักน้อย, ไม่เห็นแก่ได้ — fewness of wishes; paucity of selfish desire), สันตุฏฐี (ความสันโดษ — contentment), สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว, สำนึกตระหนักชัดด้วยปัญญา — awareness; full comprehension); กุสลธัมมานุโยค (การหมั่นประกอบกุศลธรรม — pursuit of virtue); ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ — possession of will), อัตตสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งตนคือมีจิตใจซึ่งพัฒนาเต็มที่แล้ว — self-possession; self-realization), ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ — possession of right view), และ อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งอัปปมาทะ — possession of earnestness)






.

แสดงความคิดเห็น