ตถตา เป็นคำสรุปรวมของเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตาซึ่งครอบโลกให้เหลืออยู่เพียงว่า ตถตา-เป็นอย่างนั้น ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นดังนี้
- อวิตถตา - ไม่ผิด ไปจากความเป็นอย่างนั้น
- อนัญญถตา - ไม่เป็นไปโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น
- ธัมมัฏฐิตตา - เป็นความตั้งอยู่โดยความเป็นธรรมดาของธรรมชาติ
- ธัมมนิยามตา - เป็นกฎตายตัวของธรรมดา
ถ้ามันเกิดทุกข์ขึ้นมา เราก็เห็นเช่นนั้นเองของความทุกข์ แล้วก็หาเช่นนั้นเองของความดับทุกข์ที่มันเป็นคู่ปรปักษ์กัน เข้ามาซี่ "เช่นนั้นเอง" อย่างนี้มันเป็นทุกข์ "เช่นนั้นเอง" ที่มันดับทุกข์ก็เอาเข้ามา มาฟัดกันกับ "เช่นนั้นเอง" เช่นนั้นเองกับเช่นนั้นเองมันก็ฆ่ากันเอง ในที่สุดความทุกข์มันก็ดับไป เพราะเรามีเช่นนั้นเอง ฝ่ายดับทุกข์หรือฝ่ายพระนิพพาน พุทธศาสนาเรียนได้ในพริบตาเดียวก็ด้วยคำว่า "เช่นนั้นเอง" หัวใจของปฏิจจสมุปบาท สรุปอยู่ที่คำว่าเช่นนั้นเอง ปฏิจจสมุปบาทคือคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนา คือสอนว่าทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรและดับไปอย่างไร สมตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ฉันไม่พูดเรื่องอื่น ฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์ และความดับทุกข์เท่านั้น เดี๋ยวนี้ก็ดี ต่อไปข้างหน้าก็ดี" คือให้ความทุกข์และความดับทุกข์นี้ มันรวมอยู่ในคำว่า "เช่นนั้นเอง" เรียกว่า "ตถตา" ก็ได้ "ตถาตา" ก็ได้ "ตถา" เฉยๆ ก็ได้ หมายถึงสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครสร้าง ใครบันดาล ให้มีให้เกิดขึ้น แต่เป็นเช่นนั้นขึ้นมาเอง
ในพระไตรปิฎกมีอยู่ทั้ง 3 คำ : ทั้งตถา ทั้งตถตา ทั้งตถาตา ฉะนั้นใครถึงตถา คนนั้นคือตถาคต ตถา + คตะ, ตถา แปลว่า เช่นนั้นเอง, คตะแปลว่า ถึง ผู้ใดถึง ตถา ผู้นั้นชื่อว่า ตถาคต คือว่า ถึงความสูงสุดของสิ่งที่มนุษย์ควรจะได้จะถึง คือ ถึงเช่นนั้นเอง และ "เช่นนั้นเอง" ตัวใหญ่ที่สุด คือ พระนิพพาน"
ข้อความอ้างอิง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิจจสมุปบาทเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ พระตถาคตทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ธัมมฐิติ ธัมมนิยาม อิทัปปัจจัย ก็ยังดำรงอยู่ พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ย่อมตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้น ครั้นแล้ว ย่อมตรัสบอก ทรงแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น และตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดู ดังนี้ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมี ชราและมรณะ ... เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ... เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ... เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ... เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ... เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ... เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ... เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ ... เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ... เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร พระตถาคตทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ธัมมฐิติ ธัมมนิยาม อิทัปปัจจัย ก็ยังดำรงอยู่ พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ย่อมตรัสรู้ ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้น ครั้นแล้วย่อมตรัสบอก ทรงแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น และตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดู ดังนี้ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ภิกษุทั้งหลาย ความจริงแท้ ความไม่คลาดเคลื่อน ความไม่เป็นอย่างอื่น มูลเหตุอันแน่นอนในธาตุอันนั้น ดังพรรณนามาฉะนี้แล เราเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท
(ภิกฺขเว ยา ตตฺร ตถตา อวิตถตา อนฺถตา อิทปฺปจฺจยตา อย วุจฺจติ ภิกฺขเว ปฏิจฺจสมุปฺปาโท)
(ถ้าเขียนทับศัพท์จะได้ว่า -ภิกษุทั้งหลาย ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา หลักอิทัปปัจจยตา ดังพรรณนามาฉะนี้แล เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท)
(ภิกฺขเว ยา ตตฺร ตถตา อวิตถตา อนฺถตา อิทปฺปจฺจยตา อย วุจฺจติ ภิกฺขเว ปฏิจฺจสมุปฺปาโท)
(ถ้าเขียนทับศัพท์จะได้ว่า -ภิกษุทั้งหลาย ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา หลักอิทัปปัจจยตา ดังพรรณนามาฉะนี้แล เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น