*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โอวาทปาฏิโมกข์

                     โอวาทปาฏิโมกข์
 

โอวาทปาติโมกข์ เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็น "ปาติโมกข์" ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดปฐมโพธิกาล คือ 20 พรรษาแรก เฉพาะครั้งแรกในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน 3) หลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน เป็นการแสดงปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ 4 เรียก "จาตุรงคสันนิบาต" คือ
  1. พระภิกษุสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
  2. พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือเป็นผู้ที่พระพุทธองค์ทรงประทานการบรรพชาอุปสมบทให้ทั้งสิ้น
  3. พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นผู้ได้ อภิญญา 6 ทั้งสิ้น
  4. เป็นเวลาที่ดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ คือตรงกับ วันเพ็ญเดือน 3
ซึ่งชาวพุทธรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในวันมาฆบูชา
การแสดงโอวาทปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ 4 (จาตุรงคสันนิบาต) มีเพียงครั้งเดียวในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ (อรรถกถาแสดงไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" นี้ ด้วยพระองค์เอง ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ตลอด 20 พรรษาแรก หลังจากนั้นทรงบัญญัติให้พระสงฆ์แสดง "อาณาปาติโมกข์" แทน)

คาถาโอวาทปาฏิโมกข์และคำแปล

คาถาต้นฉบับคำแปล
๏ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า
นิพพานเป็นบรมธรรม
ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็น
บรรพชิต
ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
๏ สพฺพปาปสฺส อกรณํ
กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ
เอตํ พุทฺธานสาสนํฯ
๏ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง 1
การบำเพ็ญแต่ความดี 1
การทำจิตของตนให้ผ่องใส 1
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
๏ อนูปวาโท อนูปฆาโต
ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค
เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
๏ การไม่กล่าวร้าย 1 การไม่ทำร้าย 1
ความสำรวมใน
ปาฏิโมกข์ 1
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร 1
ที่นั่งนอนอันสงัด 1
ความเพียรในอธิจิต 1
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

 

ความหมายของโอวาทปาฏิโมกข์


โอวาทปาฏิโมกข์มักถูกกล่าวถึงในแง่หลักธรรม 3 อย่างเดียวว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง อาจสรุปใจความได้เป็นสามส่วน คือ หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้

 

พระพุทธพจน์คาถาแรก

 
ทรงกล่าวถึงอุดมการณ์อันสูงสุดของพระภิกษุและบรรพชิตในพระพุทธศาสนานี้ อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น อันอาจเรียกได้ว่า อุดมการณ์ 4 ของพระพุทธศาสนา ได้แก่
  1. ความอดทนอดกลั้นเป็นสิ่งที่นักบวชในศาสนานี้พึงยึดถือและเป็นสิ่งที่ต้องใช้เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทุกอย่างที่ต้องเจอในชีวิตนักบวช เช่น ประสงค์ร้อนได้เย็น ประสงค์เย็นได้ร้อน
  2. การมุ่งให้ถึงพระนิพพานเป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช มิใช่สิ่งอื่นนอกจากพระนิพพาน
  3. พระภิกษุและบรรพชิตในพระธรรมวินัยนี้(เช่นภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา)ไม่พึงทำผู้อื่นให้ลำบากด้วยการทำความทุกข์กายหรือทุกข์ทางใจไม่ว่าจะในกรณีใดๆ
  4. พระภิกษุตลอดจนบรรพชิตในพระธรรมวินัยนี้ต้องขอแก่ทายกด้วยอาการที่ไม่เบียดเบียน( คือการไม่เอ่ยปากเซ้าซี้ขอและไม่ใช้ปัจจัยสี่อย่างฟุ่มเฟือยจนเดือดร้อนทายก)

 

พระพุทธพจน์คาถาที่สอง

 
ทรงกล่าวถึง "หลักการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" หรือ หลักการ 3 กล่าวกันเป็นเป็นการสรุปรวบยอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอันเป็นแนวทางที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติ ได้แก่
  1. การไม่ทำบาปทั้งปวง
  2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม
  3. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์
มีผู้อธิบายว่าทั้งสามข้อนี้อาจอนุมานเข้ากับ ศีล สมาธิ และปัญญา

 

 

พระพุทธพจน์คาถาที่สาม



หมายถึงวิธีการที่ธรรมทูตผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาถือเป็นกลยุทธ พระภิกษุที่ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนาซึ่งมีเป็นจำนวนมากให้ใช้วิธีการเหมือนกันเพื่อจะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและถูกต้องเป็นธรรม ได้แก่ วิธีการทั้ง 6
  1. การไม่กล่าวร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่กล่าวร้ายโจมตีดูถูกความเชื่อผู้อื่น)
  2. การไม่ทำร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่ใช้กำลังบังคับข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ)
  3. ความสำรวมในปาฏิโมกข์ (รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส)
  4. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร (เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณพอเพียง)
  5. ที่นั่งนอนอันสงัด (สันโดษไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)
  6. ความเพียรในอธิจิต (พัฒนาจิตใจเสมอมิใช่ว่าเอาแต่สอนแต่ตนเองไม่กระทำตามที่สอน)


 

วิดีโอ YouTube












.

6 ความคิดเห็น:

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

กำเนิดโอวาทปาติโมกข์


หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้มาได้ ๙ เดือนแล้ว วันหนึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (วันมาฆบูชา) ตรงกับวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ คือเป็นวันทำพิธีลอยบาป ที่เรียกว่า ศิวราตรี

วันนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวนาราม ในตอนบ่ายภิกษุสาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ขึณาสพ ได้เดินทางมา ณ ที่นี้ โดยที่มิได้นัดหมายกันไว้ก่อนเลย นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ การประชุมในวันนั้น เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" เพราะเป็นการประชุมประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

วันนั้นพระจันทร์เต็มดวง (เสวยมาฆฤกษ์) (เพ็ญเดือนสาม)
ภิกษุสาวก ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ (ผู้ได้อภิญญา ๖) ทั้งสิ้น
ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ทั้งสิ้น (เอหิภิกขุอุปสัมปทา)





.

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

ในการประชุมครั้งนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง "พระโอวาทปาติโมกข์" คือหลักคำสอนที่เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยตรัสเป็นพระคาถา ดังต่อไปนี้

สัพพะปาปัสสสะ อะกะระณัง, การไม่ทำบาปทั้งปวง,
กุสะลัสสูปะสัมปะทา, การทำกุศลให้ถึงพร้อม,
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส,
เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา, ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง,
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา, ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง,
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี, ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย,
นะ สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต, ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย.
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต, การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย,
ปาติโมกเข จะ สังวะโร, การสำรวมในปาติโมกข์,
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง, ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง, การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,
อะธิจิตเต จะ อาโยโค, ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,
เอตัง พุทธานะสาสะนัง. ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

มีข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ที่อาจจะจำเพาะเจาะจงสำหรับนักบวชหรือบรรพชิต และบางข้อก็นำไปประพฤติปฏิบัติได้ทั้งบรรพชิตและผู้ครองเรือน อย่างไรก็ตามข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ก็ได้แสดงถึง จุดหมายสูงสุด แห่งพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า จึงควรศึกษาพระโอวาทปาฏิโมกข์ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ตามฐานะและกำลังความสามารถของตน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง




.

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

ความหมายของโอวาทปาติโมกข์

โอวาทปาติโมกข์ เป็นหลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ หมายถึง หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นไปเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น

คำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนาคือ หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖ ดังนี้




.

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

หลักการ ๓


การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลด ละเลิก ทำบาป ทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งความชั่ว มีสิบประการ อันเป็นความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ
- ความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม

- ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ

- ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม




การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดี ทุกอย่าง ซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี ๑๐ อย่าง อันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ
- การความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น มีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกาม

- การทำความดีทางวาจา ได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียดไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อพูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำให้เกิดความสามัคคีและพูดถูกกาลเทศะ

- การทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่น มีแต่คิดเสียสละการไม่ผูกอาฆาตพยาบาทมีแต่คิดเมตตาและปรารถนาดี และมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว




การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบมี ๕ ประการ ได้แก่
- ความพอใจในกาม (กามฉันทะ)

- ความอาฆาตพยาบาท (พยาบาท)

- ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนะมิทธะ)

- ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ)

- ความลังเลสงสัย (วิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดี ความชั่วว่ามีผลจริงหรือไม่





.

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

อุดมการณ์ ๔


ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกายวาจา ใจ
ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือเบียดเบียนผู้อื่น
ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ
นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘



.

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

วิธีการ ๖


ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีของสังคม
รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหาร หรือการใช้สอยสิ่งต่างๆ
อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบ มีสุขภาพ คุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี



.

แสดงความคิดเห็น