ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ (อริยกรธรรม) แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึงสามัญลักษณะ คือ กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่ อนิจจลักษณะ ความไม่เที่ยง ทุกสิ่งในโลกย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขลักษณะ ความเป็นทุกข์ คือ มีความบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตลักษณะ ความที่ทุกสิ่งไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป ไม่สามารถบังคับจิตใจให้เป็นไปตามปรารถนา เป็นต้น
ไตรลักษณ์ แปลว่า "ลักษณะ 3 อย่าง" หมายถึงสามัญลักษณะ หรือลักษณะที่เสมอกัน หรือข้อกำหนด หรือสิ่งที่มีประจำอยู่ในตัวของสังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ 3 อย่าง ได้แก่ :-
- อนิจจตา (อนิจจลักษณะ) - อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป อาการที่แสดงถึงความเป็นสิ่งไม่เที่ยงของขันธ์.
- ทุกขตา (ทุกขลักษณะ) - อาการเป็นทุกข์ อาการที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว อาการที่กดดัน อาการฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ อาการที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว อาการที่แสดงถึงความเป็นทุกข์ของขันธ์.
- อนัตตตา (อนัตตลักษณะ) - อาการของอนัตตา อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่ไม่มีตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร อาการที่แสดงถึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิงไม่มีอำนาจกำลังอะไรต้องอาศัยพึงพิงสิ่งอื่นๆมากมายจึงมีขึ้นได้.
คำว่า ไตรลักษณ์ นี้มาจากภาษาบาลีว่า "ติลกฺขณ" มีการวิเคราะห์ศัพท์ดังต่อไปนี้ :-
ติ แปลว่า สาม, 3.
ลกฺขณ แปลว่า เครื่องทำสัญลักษณ์, เครื่องกำหนด, เครื่องบันทึก, เครื่องทำจุดสังเกต, ตราประทับ เปรียบได้กับภาษาอังกฤษในคำว่า Marker.
ติลกฺขณ จึงแปลว่า "เครื่องกำหนด 3 อย่าง" ในแง่ของความหมายแล้ว ตามคัมภีร์จะพบได้ว่า มีธรรมะที่อาจหมายถึงติลกฺขณอย่างน้อย 2 อย่าง คือ สามัญญลักษณะ 3 และ สังขตลักษณะ 3 . ในคัมภีร์ชั้นฏีกา พบว่ามีการอธิบายเพื่อแยก ลักษณะทั้ง 3 แบบนี้ออกจากกันอยู่ด้วย. ส่วนในที่นี้ก็คงหมายถึงสามัญญลักษณะตามศัพท์ว่า ติลกฺขณ นั่นเอง ไม่ใช่ ขณตฺตย ซึ่งมีความหมายโดยศัพท์ของคำไปพ้องกันอยู่นั้น.
อนึ่ง นักอภิธรรมชาวไทยนิยมเรียกคำว่า สังขตลักษณะ โดยใช้คำว่า "อนุขณะ 3" คำนี้มีที่มาไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากยังไม่พบในอรรถกถาและฏีกาของพระพุทธโฆสาจารย์และพระธรรมปาลาจารย์, และที่พบใช้ก็เป็นความหมายอื่น อาจเป็นศัพท์ใหม่ที่นำมาใช้เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาก็เป็นได้. อย่างไรก็ตาม โดยความหมายแล้วคำว่าอนุขณะนั้นก็ไม่ได้ขัดแย้งกับคัมภีร์รุ่นเก่าแต่อย่างใด.
สามัญลักษณะ
สามัญญลักษณะ 3 หมายถึง เครื่องกำหนดที่มีอยู่ทั่วไปในสังขารทั้งหมด ได้แก่ อนิจจลักษณะ - เครื่องกำหนดความไม่เที่ยงแท้, ทุกขลักษณะ - เครื่องกำหนดความบีบคั้น, อนัตตลักษณะ - เครื่องกำหนดความไม่มีตัวตน.
สามัญญลักษณะ ยังมีชื่อเรียกอีกว่า ธรรมนิยาม คือกฎแห่งธรรม หรือ ข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร และบางอย่าง คือ อนัตตลักษณะยังเป็นข้อกำหนดของวิสังขาร (พระนิพพาน) เป็นต้นอีกด้วย.
อนึ่ง ควรทราบว่า อนิจฺจํ กับ อนิจฺจตา เป็นต้น เป็นศัพท์ที่ใช้คนละความหมายกัน ซึ่งจะได้อธิบายไว้ในตอนท้ายของบทความนี้ด้วย.
อนิจจะ กับ อนิจจลักษณะ ไม่เหมือนกัน
ตามคัมภีร์ฝ่ายศาสนาท่านให้ความหมายของขันธ์ กับ ไตรลักษณ์ไว้คู่กัน เพราะเป็น ลักขณวันตะ และ ลักขณะ ของกันและกัน ดังนี้ :-
- อนิจจัง (อนิจฺจํ) - หมายถึง ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะธรรม มีอยู่จริง, คำว่า"อนิจจัง"เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ 5.
- อนิจจลักษณะ (อนิจฺจตา,อนิจฺจลกฺขณํ) - หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวอนิจจัง. อนิจจลักษณะเป็นบัญญัติ ไม่ใช่สภาวะธรรม ไม่มีอยู่จริง ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอัฏฐสาลินีว่า "วุฏฺฐานคามินี ปน วิปสฺสนา กิมารมฺมณาติ ลกฺขณารมฺมณาติ. ลกฺขณํ นาม ปญฺญตฺติคติกํ น วตฺตพฺพธมฺมภูตํ.-ก็วุฏฐานคามินีวิปัสสนามีอะไรเล่าเป็นอารมณ์ ตอบว่า มีลักษณะเป็นอารมณ์ ชื่อว่า ลักษณะมีคติเป็นบัญญัตติ เป็นนวัตตัพพธรรม" . อนิจจลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ซึ่งได้แก่ อาการความเปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 เคยเกิดขึ้นแล้วเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 เคยมีขึ้นแล้วก็ไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น.
ทุกข์ กับ ทุกขลักษณะ ไม่เหมือนกัน
- ทุกขัง (ทุกฺขํ) - หมายถึง ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะธรรม มีอยู่จริง, คำว่า"ทุกขัง"เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ 5.
- ทุกขลักษณะ (ทุกฺขตา,ทุกฺขลกฺขณํ) - หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวทุกขัง. ทุกขลักษณะเป็นบัญญัติ ไม่ใช่สภาวะธรรม ไม่มีอยู่จริง ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอัฏฐสาลินีว่า "วุฏฺฐานคามินี ปน วิปสฺสนา กิมารมฺมณาติ ลกฺขณารมฺมณาติ. ลกฺขณํ นาม ปญฺญตฺติคติกํ น วตฺตพฺพธมฺมภูตํ.-ก็วุฏฐานคามินีวิปัสสนามีอะไรเล่าเป็นอารมณ์ ตอบว่า มีลักษณะเป็นอารมณ์ ชื่อว่า ลักษณะมีคติเป็นบัญญัตติ เป็นนวัตตัพพธรรม". ทุกขลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์ บีบคั้น น่ากลัวมาก ซึ่งได้แก่ อาการความบีบคั้นบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นเนืองนิจของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บีบบังคับตนจากที่เคยเกิดขึ้น ก็ต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 จากที่เคยมีขึ้น ก็ต้องกลับไปเป็นไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น.
อนัตตา กับ อนัตตลักษณะ ไม่เหมือนกัน
- อนัตตา (อนตฺตา) - หมายถึง ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะธรรม มีอยู่จริง, คำว่า"ทุกขัง"เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ 5.
- อนัตตลักษณะ (อนตฺตลกฺขณํ,อนตฺตตา) - หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวทุกขัง. อนัตตลักษณะเป็นบัญญัติ ไม่ใช่สภาวะธรรม ไม่มีอยู่จริง ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอัฏฐสาลินีว่า "วุฏฺฐานคามินี ปน วิปสฺสนา กิมารมฺมณาติ ลกฺขณารมฺมณาติ. ลกฺขณํ นาม ปญฺญตฺติคติกํ น วตฺตพฺพธมฺมภูตํ.-ก็วุฏฐานคามินีวิปัสสนามีอะไรเล่าเป็นอารมณ์ ตอบว่า มีลักษณะเป็นอารมณ์ ชื่อว่า ลักษณะมีคติเป็นบัญญัตติ เป็นนวัตตัพพธรรม". อนัตตลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 ไม่มีตัวตน ไร้อำนาจ ไม่มีเนื้อแท้แต่อย่างใด ได้แก่ อาการที่ไร้อำนาจบังคับตัวเองให้ไม่เปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ให้เสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่ไม่ได้, อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้มีขึ้นไม่ได้ ไม่ให้กลับไปไม่มีอีกครั้งไม่ได้ (บังคับให้ไม่หมดไปไม่ได้) เป็นต้น.
หลักการกำหนดไตรลักษณ์
ไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะนี้ ไม่ได้แสดงตัวของมันเองอยู่ตลอดทุกเวลา เพราะเมื่อใดที่จิตไม่ได้เข้าไปคิดถึงขันธ์ 5 เทียบเคียง สังเกต ไตร่ตรอง ให้รอบคอบ ตามแบบที่ท่านวางไว้ให้ในพระไตรปิฎก เช่น "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น ไตรลักษณ์ก็จะไม่ปรากฏตัวขึ้น.โดยเฉพาะอนัตตลักษณะที่ทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถาระบุไว้ในหลายแห่งว่าพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถทำความเข้าใจเองแล้วเอามาบอกสอนให้คนอื่นเข้าใจตามได้.
สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะ
อย่างไรก็ตาม แม้จะพิจารณาใคร่ครวญตามพระพุทธพจน์ แต่ไตรลักษณ์ก็อาจจะยังไม่ชัดเจนได้เหมือนกันทั้งนี้ อาจเป็นเพราะนิวรณ์อกุศลธรรมต่างๆเกิดกลุ้มรุม รุมเร้า, และอาจเป็นเพราะยังพิจารณาไม่มากพอจึงไม่มีความชำนาญ เหมือนเด็กเพิ่งท่องสูตรคูณยังไม่แม่นนั่นเอง. และนอกจากนี้ ในคัมภีร์ท่านยังแสดงถึงสิ่งที่ทำให้พิจารณาไตรลักษณ์ได้ไม่ชัดเจนไว้อีก 3 อย่าง คือ สันตติ อริยาบถ และฆนะ
สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ
สันตติ คือ การสืบต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสายของขันธ์ 5 โดยสืบต่อเนื่องจากจิตดวงหนึ่งที่ดับไป จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นต่อกันในทันที, หรือรูป ๆ หนึ่งดับไป รูปใหม่ ๆ ก็เกิดต่อกันไปในทันที หรือบางทีรูปเก่ายังไม่ดับรูปใหม่ก็เกิดขึ้นมาสำทับกันเข้าไปอีก. สันตติเป็นกฎธรรมชาติ เป็นนิยามห้ามไม่ได้ เว้นแต่จะดับขันธปรินิพพานแล้วเท่านั้น สันตติจึงจะไม่เป็นไป, แม้ในอสัญญสัตตภพ และผู้เข้านิโรธสมาบัติท่านก็ยังจัดว่ามีสันตติของจิตอยู่นั่นเอง.
สันตติที่เกิดขึ้นสืบต่อกันไปอย่างรวดเร็วไม่ขาดสายนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 ไม่เกิดไม่ดับ ทั้งที่ความจริงแล้วเกิดดับต่อกันวินาทีละนับครั้งไม่ได้. ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวว่า "สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ" เพราะอนิจจลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความไม่สืบต่อของขันธ์ 5 ที่มีขอบเขตของเวลาในการดำรงอยู่จำกัดมาก ซึ่งตรงกันข้ามกับสันตติที่ต่อกันจนดูราวกับว่าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย. การที่ยังพิจารณาอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ อนิจจลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไหร่สันตติจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดอนิจจลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง.
สำหรับวิธีการจัดการกับสันตติไม่ให้มีผลกับการกำหนดอนิจจลักษณะนั้นไม่มีวิธีจัดการกับสันตติโดยตรง เพราะสันตติเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของขันธ์ไปห้ามกันไม่ได้. แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาอนิจจลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"ดังนี้ ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า อนิจจลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และสันตติแม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดอนิจจลักษณะ หรือ ทำให้อนิจจลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป.
อนึ่ง สันตติไม่ได้ปิดบังอนิจจัง เพราะอนิจจัง ก็คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะโดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ อุตฺตานเสยฺยกาปิ ทารกา ถญฺญปิวนาทิกาเล สุขํ เวทยมานา สุขํ เวทนํ เวทยามาติ ปชานนฺติ น ปเนตํ เอวรูปํ ชานนํ สนฺธาย วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) "ดังนี้. ดังนั้นแม้เราจะดูทีวีซึ่งมีการขยับเขยื้อน มีสีเปลี่ยนไปมาอยู่มากมายก็ตาม แต่หากไม่มนสิการถึงอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น เราก็จะไม่เห็นสามารถอนิจจลักษณะได้เลย และความจริงหากยังดูทีวีอยู่ก็คงจะพิจารณาไตรลักษณ์ได้ไม่ดี หรือไม่ได้เลยด้วย เพราะอกุศลจิตนั่นเองจะเป็นตัวขัดขวางการพิจารณา ใคร่ครวญ ค้นคิดธรรมะ.
อิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ
อิริยาบถ คือ รูปแบบกิริยาการกระทำต่าง ๆ เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การแล การเหลียว เป็นต้น.การเปลี่ยนอิริยาบถนั้นบางครั้งก็อาจทำเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด แต่โดยมากแล้ว เราเปลี่ยนเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยที่ยังไม่ต้องเกิดความทุกข์ความเจ็บปวดขึ้นมาก่อนก็ได้ เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม เป็นต้น อิริยาบถเป็นการเปลี่ยนแปลงของรูปคล้ายกับวิญญัตติรูป ดังนั้น ท่านจึงระบุไว้ในตอนท้ายของอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรและฏีกาว่า "ไม่พึงพิจารณาตั้งแต่เพิ่งเริ่มต้นกำหนด " ส่วนเหตุผลท่านก็ให้ไว้เหมือนกับอสัมมสนรูป นั่นคือ เพราะเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของรูป ไม่ใช่สภาวะธรรมโดยตรงจึงไม่ควรกำหนดนั่นเอง.
อิริยาบถที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดทั้งวันนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5ไม่ได้บีบคั้นบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งที่ความจริงแล้ว แม้ขณะที่เราเปลี่ยนอิริยาบถอยู่โดยไม่ได้เป็นเพราะความเจ็บปวด เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นต้น ตอนนั้นขันธ์ 5 ก็ล้วนบีบคั้นบังคับตนเองให้ต้องเปลี่ยนแปลงแตกดับเสื่อมสลายไปเป็นปกติทั้งสิ้น. ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "อิริยาบถปิดบังทุกลักษณะ" เพราะทุกขลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความบีบคั้นให้เปลี่ยนไปของขันธ์ 5 ที่ล้วนบีบคั้นบังคับตัวเองอยู่เป็นนิจ ซึ่งตรงกันข้ามกับอิริยาบถที่เมื่อเปลี่ยนแล้ว ก็ทำให้สุขต่อกันไปจนไม่รู้ตัวเลยว่า ขันธ์ 5 กำลังบีบคั้นขันธ์เองวินาทีละนับครั้งไม่ได้. การที่ยังพิจารณาทุกขลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ ทุกขลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไหร่อิริยาบถจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดทุกขลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง.
สำหรับวิธีการจัดการกับอิริยาบถไม่ให้มีผลกับการกำหนดทุกขลักษณะนั้นไม่มีวิธีการโดยตรง เพราะถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือ อิริยาบถไม่สม่ำเสมอก็อาจป่วยได้ ซึ่งจะกลายเป็นการซ้ำร้ายลงไปอีก ทั้งยังจะทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ทำให้อยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ไม่ว่าจะสังคมโยม หรือสังคมพระภิกษุก็อยู่ไม่ได้เหมือนๆกัน. แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาทุกขลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"ดังนี้ โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า ทุกขลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และอิริยาบถแม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดทุกขลักษณะ หรือ ทำให้ทุกขลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป.
อนึ่ง อิริยาบถไม่ได้ปิดบังปิดบังทุกขัง เพราะทุกขัง คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะโดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ อุตฺตานเสยฺยกาปิ ทารกา ถญฺญปิวนาทิกาเล สุขํ เวทยมานา สุขํ เวทนํ เวทยามาติ ปชานนฺติ น ปเนตํ เอวรูปํ ชานนํ สนฺธาย วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) "ดังนี้. ดังนั้นไม่ว่าเราจะขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถหรือจะไม่กระดุกกระดิกเปลี่ยนอิริยาบถใดๆเลยก็ตาม แต่หากไม่มนสิการถึงทุกขลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) เราก็จะไม่สามารถเห็นทุกขลักษณะได้เลย. ฉะนั้นในวิสุทธิมรรคฏีกาท่านจึงกล่าวไว้ว่า "อิริยาบถเหมือนปิดบังทุกข์"เท่านั้น ไม่กล่าวว่า "อิริยาบถปิดบังทุกข์" เพราะอิริยาบถทำให้สุขเวทนาเกิดต่อเนื่องจึงไม่ได้รับทุกขเวทนาเท่านั้น แต่อิริยาบถไม่ได้ปิดบังทุกข์คือขันธ์ 5 แต่อย่างใด ส่วนสิ่งที่ปิดบังทุกข์ คือ ขันธ์ 5นั้นก็คือ อวิชชานั่นเอง.
ฆนะปิดบังอนัตตลักษณะ
ฆนะ คือ สิ่งที่เนื่องกันอยู่ ท่านได้แบ่งฆนะ ออกเป็น 4 อย่าง คือ สันตติฆนะ สมูหฆนะ กิจจฆนะ อารัมมณฆนะ.
- สันตติฆนะ คือ ขันธ์ 5 ที่เกิดดับสืบเนื่องกันไปไม่ขาดสาย ซึ่งเร็วจนดูเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 ไม่มีอะไรเกิดดับ.
- สมูหฆนะ คือ ขันธ์ 5 ที่เกิดร่วมกันสัมพันธ์อาศัยซึ่งกันและกัน จนดูราวกะว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นกลุ่มก้อน เป็นหนึ่งเดียวกัน.
- กิจจฆนะ คือ ขันธ์ 5 ที่มีกิจหน้าที่มากหลายรับรู้เข้าใจได้ง่ายและยากโดดเด่นแตกต่างกันไป ซึ่งหากไม่มีปัญญาก็อาจดูเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 มีกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงกิจเดียว.
- อารัมมณฆนะ คือ ขันธ์ 4 ที่รับรู้อารมณ์มากมายหลากหลายใหม่ๆไปเรื่อย แต่หากเราเองไม่มีความรู้พอที่จะสังเกต จะไม่ทราบเลยว่า จิตใจของเราแบ่งออกตามการรู้อารมณ์ได้มากทีเดียว.
ฆนะทั้งหมด โดยเฉพาะ 3 อย่างหลังที่เนื่องกันติดกันอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 บังคับบัญชาตัวเองได้ ไม่ต้องอาศัยปัจจัยอะไรเลย ราวกะมีตัวตนแก่นสาร ทั้งที่ความจริงแล้ว ขันธ์ไม่เคยอยู่เดียว ๆ เลย มีแต่จะต้องแวดล้อมไปด้วยปัจจัยและปัจจยุปบันที่ทั้งเกิดก่อน เกิดหลัง และเกิดร่วมมากมายจนนับไม่ถ้วน (ถ้านับละเอียด). ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "ฆนะปิดบังอนิจจลักษณะ" เพราะอนิจจลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความไม่มีตัวตนอำนาจที่เป็นแก่นสารมั่นคงของขันธ์ 5 ซึ่งตรงกันข้ามกับฆนะที่เนื่องกันจนทำให้เข้าใจผิดไปว่า ขันธ์เป็นหนึ่ง มีเหตุคือเรา คือเขาเพียงหนึ่งที่เป็นตัวตนมั่นคงบังคับสิ่งต่างๆได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น และขณะนั้นเองมีเหตุให้เกิดขันธ์เหล่านั้นเกิดอยู่มากมาย หลังจากนั้นโดยทั่วไปก็ยังมีผลที่จะเกิดสืบต่อไปอีกมากมาย. การที่ยังพิจารณาอนัตตลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความไม่มีอำนาจส่วนตัว เป็นไปตามหมู่ปัจจัยเป็นอเนกอนันต์) ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ อนัตตลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไหร่ฆนะจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดอนัตตลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง.
สำหรับวิธีการจัดการกับฆนะไม่ให้มีผลกับการกำหนดอนัตตลักษณะนั้นไม่มีวิธีการโดยตรง เพราะฆนะเหล่านี้มีอยู่เป็นปกติ หากธรรมต่างๆไม่มีความสัมพันธ์กันเนื่องกันแล้ว ก็เท่ากับนิพพานไป. แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาอนัตตลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"ดังนี้ โดยมุ่งถึงความไม่มีอำนาจส่วนตัว เป็นไปตามหมู่ปัจจัยเป็นอเนกอนันต์ ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า อนัตตลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และฆนะต่าง ๆ แม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดอนัตตลักษณะ หรือ ทำให้อนัตตลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป.
อนึ่ง ฆนะไม่ได้ปิดบังอนัตตา เพราะอนัตตา คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะโดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ อุตฺตานเสยฺยกาปิ ทารกา ถญฺญปิวนาทิกาเล สุขํ เวทยมานา สุขํ เวทนํ เวทยามาติ ปชานนฺติ น ปเนตํ เอวรูปํ ชานนํ สนฺธาย วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) "ดังนี้. ดังนั้นแม้เราจะหั่นหมูเป็นชิ้น ๆ จนไม่เหลือสภาพความเป็นหมูอ้วนๆให้เห็นเลยก็ตาม หรือ จะเป็นนักวิทยาศาสตร์แยกอะตอม (atom) ออกจนสิ้นเหลือแต่คว๊าก (quark) กับกลูอ้อน (gluon) หรือแยกได้มากกว่านั้นก็ตามที แต่หากไม่มนสิการถึงอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (โดยมุ่งถึงความเบียดเบียนบีบคั้น) เราก็จะไม่สามารถเห็นอนัตตลักษณะได้เลย เพราะความสำคัญของการเจริญวิปัสสนาอยู่ที่การนึกอาวัชชนาการถึงไตรลักษณ์อย่างละเอียดบ่อย ๆ เพื่อเปลี่ยนวิปัลลาสทาง ทิฏฐิ จิต และ สัญญา, ไม่ใช่การทำลายขันธ์ 5 เป็นชิ้น ๆ ด้วยน้ำมือของขันธ์นั้นเองแต่อย่างใดเลย.
อนิจจัง กับ อนิจจตา เป็นต้น ไม่เหมือนกัน
ชาวพุทธไทยมักสับสนระหว่างคำว่า อนิจจัง อนิจจตา และ อนิจจลักษณะ เป็นอย่างมาก. เรื่องนี้ควรทำความเข้าใจว่า ปกติแล้วในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อนิจจัง หมายถึง ตัวขันธ์ 5, ส่วนอนิจจตานั้น หมายถึง อาการความเป็นไปของขันธ์ 5 ได้แก่ อนิจจลักษณะ นั่นเอง.
ในทุกขัง ทุกขตา และทุกขลักษณะก็ให้กำหนดศัพท์ตามนี้เหมือนกัน.
ตัวอย่างของ ทุกขัง อนิจจัง กับ ทุกขตา อนิจจตา เป็นต้นที่ใช้ไม่เหมือนกัน
"อนิจฺจนฺติ ปญฺจกฺขนฺธา. กสฺมา? อุปฺปาทวยญฺญถตฺตภาวา. อนิจฺจตาติ เตสํเยว อุปฺปาทวยญฺญถตฺตํ, หุตฺวา อภาโว วา, นิพฺพตฺตานํ เตเนวากาเรน อฏฺฐตฺวา ขณภงฺเคน เภโทติ อตฺโถ.- ที่ชื่อว่า อนิจฺจํ ได้แก่ ขันธ์ ๕. ถามว่า ทำไม ? ตอบว่า เพราะเป็นของมีความเกิดขึ้นแล้วแปรเป็นอื่น. ชื่อว่า อนิจจตา ได้แก่ ความแปรเป็นอื่นของขันธ์นั้นนั่นเทียว หรือ อาการมีแล้วก็ไม่มี ก็ได้ อธิบายว่า การไม่ตั้งอยู่ด้วยอาการที่เคยเกิดขึ้นนั้นแล้ว แตกไปด้วยภังคขณะ"ดังนี้
ซึ่งข้อความคล้ายกันนี้ พบอีกในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ แต่เปลี่ยนจาก อนิจฺจตา เป็น อนิจจํ ดังนี้ :-
"อนิจฺจนฺติ ขนฺธปญฺจกํ. กสฺมา? อุปฺปาทวยญฺญถตฺตภาวา, หุตฺวา อภาวโต วา. อุปฺปาทวยญฺญถตฺตํ อนิจฺจลกฺขณํ หุตฺวา อภาวสงฺขาโต วา อาการวิกาโร-ที่ชื่อว่า อนิจจัง ได้แก่ ขันธ์ ๕. ถามว่า ทำไม ? ตอบว่า เพราะเป็นของมีความเกิดขึ้นแล้วแปรเป็นอื่น หรือ เพราะเป็นสิ่งเคยมีแล้วก็ไม่มีก็ได้. อนิจจลักษณะ ได้แก่ ความเกิดขึ้นแล้วแปรเป็นอื่น หรือ ความเปลี่ยนแปลงแห่งอาการ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เรียกกันว่า มีแล้วก็ไม่มี"ดังนี้.
จากข้อความที่ขีดเส้นใต้ จะเห็นได้ว่า ท่านอธิบาย อนิจจัง แยกออกจาก อนิจจตาและอนิจจลักษณะ แต่ใช้สองคำหลังนี้ในความหมายเดียวกัน.
อีกตัวอย่าง :-
เวทนา ตีหิ ทุกฺขตาหิ อวินิมุตฺตโต ทุกฺขาติ สญฺญาสงฺขารา อวิเธยฺยโต อนตฺตาติ วิญฺญาณํ อุทยพฺพยธมฺมโต อนิจฺจนฺติ ทฏฺฐพฺพํ - พึงทราบว่า "เวทนา ชื่อว่า ทุกข์ เพราะไม่พ้นไปจากทุกขตา, สัญญาและสังขาร ชื่อว่า อนัตตา เพราะไม่ได้มีอำนาจเลย, วิญญาณ ชื่อว่า อนิจจัง เพราะมีปกติเกิดขึ้นและดับไป"ดังนี้.
จากข้อความนี้จะเห็นได้ว่า มีทั้งคำว่า ทุกข์ และ ทุกขตา ทั้งนี้เนื่องจากเวทนา (ซึ่งความจริงก็รวมขันธ์ทั้ง 5 ไปด้วยตามลักขณหาระ (นั่นเอง) เรียกว่า ทุกข์ เพราะมีทุกขตา ได้แก่ เรียกว่าทุกข์เพราะมีทุกขลักษณะนั่นเอง, กล่าวคือ เรียกว่า เป็นตัวทุกข์ เพราะมีอาการที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวทุกข์ ได้แก่ อาการบีบคั้น บังคับ เป็นต้น ไม่ได้แปลว่า เรียกว่าทุกข์ เพราะมีทุกข์ แต่อย่างใด.
ในบางที่ก็มีการใช้ ทุกฺขตาศัพท์ นี้ ทั้ง 2 ความหมาย คือ ทั้งเป็นทุกขลักษณะด้วย และเป็นทั้งทุกข์ด้วย เช่น ทุกฺขตาติ ทุกฺขภาโว ทุกฺขํเยว วา ยถา เทโว เอว เทวตา - คำว่า ทุกฺขตา หมายถึง ทุกขภาวะ (ทุกขลักษณะ) หรือ ทุกขังนั้นแหละก็ได้ เหมือนคำว่า เทวตา ก็หมายถึง เทวะ (เทพ) นั่นเอง. แต่ก็เป็นการใช้ในบางที่เท่านั้น และเพราะในคำอธิบายที่นี้อรรถกถาก็ใช้ทั้ง 2 ความหมายจริง.ส่วนโดยทั่วไป ให้สังเกตว่า ท่านกล่าวถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักขณวันตะ (สิ่งมีเครื่องกำหนด) กับ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา เป็นลักขณะ (เครื่องกำหนด) เหมือนกับที่ท่านแยกอนิจจังเป็นต้นให้เป็นลักขณวันตะส่วนอนิจจลักษณะเป็นต้นก็ให้เป็นลักขณะ. นั่นก็เพราะ อนิจจตาโดยทั่วไปก็หมายถึงอนิจจลักษณะนั่นเอง เพราะเป็นลักขณะสำหรับกำหนดตัวอนิจจัง คือขันธ์ 5 นั่นเอง เช่น ในคัมภีร์อนุฏีกาจึงกล่าวแยก อนิจจะ กับ อนิจจตาไว้ว่า "ยถา อนิจฺจาทิโต อนิจฺจตาทีนํ วุตฺตนเยน เภโท เอวํ อนิจฺจตาทีนมฺปิ สติปิ ลกฺขณภาวสามญฺเญ นานาญาณโคจรตาย นานาปฏิปกฺขตาย นานินฺทฺริยาธิกตาย จ วิโมกฺขมุขตฺตยภูตานํ อญฺญมญฺญเภโทติ ทสฺเสนฺโต “อนิจฺจนฺติ จ คณฺหนฺโต”ติอาทิมาห- ท่านอาจารย์เมื่อได้แสดงอยู่ว่า "การจำแนกอนิจจตาเป็นต้นจากอนิจจะเป็นต้นโดยนัยตามที่กล่าวไปแล้วนั้นว่าไว้ฉันใด การจำแนกกันและกันออกเป็นวิโมกขมุข์ 3 โดยความเป็นอารมณ์ของญาณต่างๆ, โดยความเป็นปฏิปักข์ต่อธรรมต่างๆ, โดยความยิ่งด้วยอินทรีย์ต่างๆ ในลักษณภาวะที่สามัญญทั่วไปแม้ของอนิจจตาเป็นต้นที่แม้มีอยู่ ก็ว่าไปตามนั้นเหมือนกัน" ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า "อนิจฺจนฺติ จ คณฺหนฺโต"ดังนี้เป็นต้น. จากประโยค คำว่า "อนิจฺจาทิโต อนิจฺจตาทีนํ"(ตัวหนา) จะเห็นได้ว่า ท่านไม่กล่าว อนิจจัง กับ อนิจจตาไว้ด้วยกัน แต่จะกล่าวให้อนิจจังมีอนิจจตา หรือ อนิจจตาเป็นของอนิจจัง เป็นต้น อนิจจตา กับ อนิจจังท่านใช้ต่างกันดังยกตัวอย่างมานี้.
อีกประการหนึ่ง ให้สังเกตว่า ท่านจะขยาย "อนิจฺจตา" ว่า "อนิจฺจตาติ หุตฺวา อภาวตา-คำว่า อนิจฺจตา หมายถึง ความเป็นสิ่งที่มีแล้วก็ไม่มี" เป็นต้น, แต่ขยาย อนิจฺจํ ว่า "อนิจฺจนฺติ ปญฺจกฺขนฺธา เต หิ อุปฺปาทวยฏฺเฐน อนิจฺจา- คำว่า อนิจฺจํ หมายถึง ขันธ์ 5, จริงอยู่ ขันธ์ 5 ชื่อว่า อนิจจะ เพราะมีสภาพที่เกิดขึ้นและสิ้นไป"
ในที่อื่นก็ควรประกอบความอย่างนี้ได้ ตามสมควร.
7 ความคิดเห็น:
ไตรลักษณ์
เป็นกฎสำคัญแห่งธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะ ๓ อย่าง คือ
๑. อนิจจัง ความไม่เที่ยง
๒. ทุกขัง ความทนอยู่ไม่ได้
๓. อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน
ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะสามอย่าง ซึ่งเป็นลักษณะความจริงแท้ของสรรพสิ่งที่ตกอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ของธรรมชาติ อันได้แก่
๑. อนิจจัง
คือความเปลี่ยนแปลง ความไม่จีรังยั่งยืนของสิ่งทั้งปวง เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ทั้งมนุษย์ สัตว์ พืช และวัตถุทั้งปวงไม่อาจจะหลีกเลี่ยงอนิจจังได้ ความเปลี่ยนแปลงและความไม่จีรังเกิดขึ้นเสมอกับทุกสิ่ง เมื่อกาลเวลาผ่านไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
๒. ทุกขัง
คือ สภาพที่ไม่อาจทนอยู่ในสภาพเดิมได้ มีความเสื่อมและสลายไปเป็นธรรมดา จากการที่สรรพสิ่งไม่ทานทนอยู่นาน สิ่งมีชีวิตที่มีวิญญาณ มีความรู้สึกจึงเป็นทุกข์ เพราะไม่อาจต้านทานความเสื่อมที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ความแก่ และความตายได้
๓. อนัตตา
คือความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งปวง เพราะเกิดจากองค์ประกอบหลายๆ อย่างมารวมกันเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา เช่นร่างกายของมนุษย์และสัตว์ แท้จริงแล้วไม่มีตัวตน เพราะเกิดจากองค์ประกอบ คือมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม มารวมกันตามธรรมชาติ แล้วมีจิตวิญญาณ มีความรู้สึก สักวันหนึ่งเมื่อกายนี้แตกดับ ทุกอย่างก็จะกลับไปสู่สภาพเดิม คือธาตุดินไปสู่ดิน ธาตุน้ำไปสู่น้ำ ธาตุลมไปสู่ลม และธาตุไฟไปสู่ไฟ ซึ่งเป็นกฎของอนิจจัง
ตามหลักพุทธธรรมเบื้องต้นที่ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากส่วนประกอบต่างๆ มาประชุมกันเข้า หรือมีอยู่ในรูปของการรวมตัวเข้าด้วยกันของส่วนประกอบต่างๆ นั้น มิใช่หมายความว่าเป็นการนำเอาส่วนประกอบที่เป็นชิ้น ๆ อัน ๆ อยู่แล้วมาประกอบเข้าด้วยกัน และเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วก็เกิดเป็นรูปเป็นร่างคุมกันอยู่เหมือนเมื่อเอาวัตถุต่าง ๆ มารวมกันเป็นเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ความจริงที่กล่าวว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากการประชุมกันของส่วนประกอบต่างๆ นั้น เป็นเพียงคำกล่าวเพื่อเข้าใจง่าย ๆ ในเบื้องต้นเท่านั้น แท้จริงแล้วสิ่งทั้งหลายมีอยู่ในรูปของกระแส ส่วนประกอบแต่ละอย่าง ๆ ล้วนประกอบขึ้นจากส่วนประกอบอื่นๆ ย่อยลงไป แต่ละอย่างไม่มีตัวตนของมันอิสระ ล้วนเกิดดับต่อกันไปเรื่อง ไม่เที่ยงไม่คงที่กระแสนี้ไหลเวียนหรือดำเนินต่อไปอย่างที่ดูคล้ายกับรักษารูปแนวและลักษณะทั่วไปไว้ได้อย่างค่อยเป็นไป
ก็เพราะส่วนประกอบทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยซึ่งกันและกันเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันอย่างหนึ่ง และเพราะส่วนประกอบเหล่านั้นแต่ละอย่างล้วนไม่มีตัวตนของมันเอง และไม่เที่ยงแท้คงที่อย่างหนึ่งความเป็นไปต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามธรรมชาติอาศัยความสัมพันธ์และความเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายเอง ไม่มีตัวการอย่างอื่นที่นอกเหนือออกไปในฐานะผู้สร้างหรือผู้บันดาล จึงเรียกเพื่อเข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นกฎธรรมชาติมีหลักธรรมใหญ่อยู่ ๒ หมวดที่ถือได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ คือ ไตรลักษณ์แลปฏิจจสมุปบาท ความจริงธรรมทั้ง ๒ หมวดนี้ถือได้ว่าเป็นกฎเดียวกัน แต่แสดงในคนละแง่หรือคนละแนว เพื่อมองเห็นความจริงอย่างเดียวกัน คือ ไตรลักษณ์ มุ่งแสดงลักษณืของสิ่งทั้งหลายซึ่งปรากฏให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้น ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นไป่โดยอาการที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันตามหลักปฏิจจสมุปบาท ส่วนหลักปฏิจจสมุปบาทก็มุ่งแสดงถึงอาการที่สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันเป็นกระแส จนมองเห็นลักษณ์ได้ว่าเป็นไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
ถ้ายกเอาหลักธรรมนิยามที่แสดงไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะ ๓ อย่าง มาตั้งเป็นหัวข้ออีกครั้งหนึ่งเพื่ออธิบายให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ตามแนวหลักวิชาที่มีหลักฐานอยู่ในคัมภีร์ต่าง ๆ ดังนี้
สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายทั้งปวง เป็นทุกข์
ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เรียกตามคำบาลีว่า เป็น อนิจจ์ หรือ อนิจจะ แต่ในภาษาไทยนิยมใช้คำว่า อนิจจังความไม่เที่ยง ความเป็นสิ่งไม่เที่ยง หรือภาวะที่เป็นอนิจจ์รหืออนิจจัง นั้น เรียกเป็นคำศัพท์ตามบาลีว่า อนิจจตา ลักษณะที่แสดงถึงความไม่เที่ยงเรียกเป็นศัพท์ว่า อนิจจลักษณะ สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ในภาษาไทย บางที่ใช้อย่างภาษาพูดว่า ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ความเป็นของคงทนอยู่มิได้ ความเป็นสภาวะมีความบีบคั้นขัดแย้ง หรือภาวะที่เป็นทุกข์นั้น เรียกเป็นคำศัพท์ตามบาลีว่า ทุกขตา ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นทุกข์เรียกเป็นศัพท์ว่า ทุกขลักษณะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ความเป็นอนัตตา ความเป็นของมิใช่ตัวตน หรือภาวะที่เป็นอนัตตานั้นเรียกเป็นคำศักพท์ตามบาลีว่า อนัตตตา ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นอนัตตา เรียกเป็นคำศัพท์ว่า อนัตตลักษณะ
สังขารทั้งปวงกับธรรมทั้งปวง
"ธรรม" เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี ทั้งที่มีได้และได้มี ตลอดกระทั่งความไม่มีที่เป็นคู่กับความมีนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใครก็ตามกล่าวถึง คิดถึง หรือรู้ถึงทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งที่ดีและที่ชั่ว ทั้งที่เป็นสามัญวิสัยและเหนือสามัญวิสัย รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น ถ้าจะให้มีความหมายแคบเข้า หรือจำแนกแยกธรรมนั้นแบ่งประเภทออกไป แล้วเลือกเขาส่วนหรือแง่ด้านแห่งความหมายที่ต้องการ หรือมิฉะนั้นก็ใช้คำว่าธรรมคำเดียวเดี่ยวโดดเต็มรูปของมันตามเดิม แต่ตกลงหรือหมายรู้ร่วมกันไว้ว่า เมื่อใช้ในลักษณะนั้น ๆ ในกรณีนั้นหรือในความแวดล้อมอย่างนั้น ๆ จะให้มีความหมายเฉพาะในแนวความ หรือในขอบเขตว่าอย่างนั้น ๆ เช่น เมื่อมาคู่กับอธรรมหรือใช้เกี่ยวกับความประพฤติที่ดี ที่ชั่วของบุคคล หมายถึง บุญ หรือคุณธรรมคือความดี เมื่อมากับคำว่า อัตถะ หรืออรรถ หมายถึงตัวหลัก หลักการ หรือเหตุ เมื่อใช้สำหรับการเล่าเรียน หมายถึงปริยัติ พุทธพจน์ หรือคำสั่งสอน เป็นต้น ธรรม ที่กล่าวถึงในหลักอนัตตา แห่งไตรลักษณ์นี้ หมายถึง สภาวะหรือสภาพทุกอย่าง ไม่มีขีดจำกัด ธรรม ในความหมายเช่นนี้จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เมือแยกแยะแจกแจงแบ่งประเภทออกไป เช่น จำแนกเป็นรูปธรรม และนามธรรมบ้าง โลกียธรรม และโลกุตตรธรรมบ้าง สังขตธรรมและอสังขตธรรม บ้าง กุศลธรรมและอกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรมบ้าง ธรรมที่จำแนกเป็นชุดเหล่านี้ แต่ละชุดครอบคลุมความหมายของธรรมได้หมดสิ้นทั้งนั้น แต่ชุดที่ตรงกับแง่ที่ควรศึกษาในที่นี้คือ ชุดสังขตธรรม และอสังขตธรรม
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงแยกประเภทได้เป็น ๒ อย่างคือ
๑. สังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่มีปัจจัย สภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งขึ้น สภาวะที่ปัจจัยทั้งปลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้นสิ่งที่ปัจจัยประกอบเข้าหรือสิ่งที่ปรากฏและเป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังขารซึ่งมีรากศัพท์และคำแปลเหมือนกันหมายถึงสภาวะทุกอย่างทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ ทั้งที่ดีที่ชั่วและที่เป็นกลาง ๆ ทั้งหมด เว้นแต่นิพพาน
๒. อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีปัจจัย หรือสภาวะที่ไม่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิสังขาร ซึ่งแปลว่า สภาวะปลอดสังขารหรือสภาวะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง หมายถึง นิพพาน
สังขารในขันธ์ ๕ กับสังขารในไตรลักษณ์
๑. สังขารในขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
๒. สังขารในไตรลักษณ์ ได้แก่ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
เปรียบเทียบความหมายทั้ง ๒ นัยดังนี้
สังขาร ซึ่งเป็นข้อที่ ๔ ในขันธ์ ๕ หมายถึง สภาวะที่ปรุงแต่งจิต ให้ดี ให้ชั่ว ให้เป็นกลาง ได้แก่ คุณสมบัติต่างๆของจิตมีเจตนาเป็นตัวนำที่ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจและการแสดงออกทางกายวาจาให้เป็นไปต่าง ๆ เป็นตัวการของการทำกรรม เรียกง่าย ๆ ว่า เครื่องปรุงของจิต เช่น ศรัทธา สติ หิริ เป็นต้น
สังขาร ที่กล่าวถึงในไตรลักษณ์ หมายถึง สภาวะที่ถูกปรุงแต่ง คือ สภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัย ปรุงแต่งขึ้นทุกอย่าง ประดามี ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม เป็นด้านร่างกายหรือจิตใจก็ตาม มีชีวิตหรือไร้ชีวิตก็ตาม อยู่ในจิตใจหรือวัตถุภายนอกก็ตาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังขตธรรม คือทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นนิพพานจะเห็นว่า สังขาร ในขันธ์ ๕ มีความหมายแคบกว่า สังขาร ในไตรลักษณ์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของสังขารในไตรลักษณ์นั่นเอง ความต่างกันและแคบกว่ากันนี้ เห็นได้ชัดทั้งโดยความหมายของศัพท์และโดยองค์ธรรม
สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ทั้งที่ความเป็นอนิจจัง ทุกข์ และอนัตตา นี้ เป็นลักษณะสามัญของสิ่งทั้งหลาย เป็นความจริงที่แสดงตัวของมันเองอยู่ตามธรรมดาตลอดทุกเวลา แต่คนทั่วไปก็มองไม่เห็น ทั้งนี้เพราะเป็นเหมือนมีสิ่งปิดบังคอยซ่อนคลุมนี้ คือ
๑. สันตติ บังอนิจจลักษณะ
๒. อิริยาบถ บังทุกขลักษณะ
๓. ฆนะ บังอนัตตลักษณะ
ข้อที่ ๑ ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความเกิดและความดับหรือความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไปก็ถูก สันตติ คือ ความสืบต่อหรือความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ปิดบังไว้ อนิจจลักษณะจึงไม่ปรากฏ
ข้อที่ ๒ ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความบีบคั้นกดดันที่มีอยู่ตลอดเวลา ก็ถูก อิริยาบถ คือ ความยักย้ายเคลื่อนไหว ปิดบังไว้ ทุกขลักษณะจึงไม่ปรากฏ
ข้อที่ ๓ ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความแยกย่อยออกเป็นธาตุต่าง ๆ ก็ถูก ฆนะ คือความเป็นแท่งเป็นก้อนเป็นชิ้นเป็นอันเป็นมวลหรือเป็นหน่วยรวม ปิดบังไว้ อนัตตลักษณจึงไม่ปรากฏ
ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องไตรลักษณ์
๑. ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องอนิจจัง
เมื่อได้เรียนรู้ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวงแล้ว จะได้ประโยชน์หลายประการ ดังนี้
ความไม่ประมาท ทำให้คนไม่ประมาทมัวเมาในวัยว่ายังหนุ่มสาว ในความไม่มีโรคและในชีวิต เพราะความตายอาจมาถึงเมื่อไรก็ได้ไม่แน่นอน ทำให้ไม่ประมาทในทรัพย์สิน เพราะคนมีทรัพย์อาจกลับเป็นคนจนได้
ทำให้ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น เพราะผู้ที่ไร้ทรัพย์ ไร้ยศ ต่ำต้อย กว่าภายหน้าอาจมีทรัพย์ มียศ และเจริญรุ่งเรืองกว่าก็ได้เมือคิดได้ดังนี้จะทำให้สำรวมตน อ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่ยโสโอหัง วางท่าใหญ่ ยกตนข่มท่าน
ทำให้เกิดความพยายาม เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า เพราะรู้ว่าถ้าเราพยายามก้าวไปข้างหน้าแล้วชีวิตย่อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
ความไม่เที่ยงแท้ ทำให้รู้สภาพการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เมื่อประสบกัยสิ่งไม่พอใจ ก็ไม่สิ้นหวังและเป็นทุกข์ ไม่ปล่อยตนไปตามเหตุการณ์นั้น ๆ จนเกินไป พยายามหาทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดี
๒. ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องทุกขัง
เมื่อผู้ใดได้เรียนรู้เรื่องความทุกข์แล้ว จะรู้ว่า ความทุกข์เป็นของธรรมดาประจำโลก อย่างหนึ่งซึ่งใคร ๆ จะหลีกเลี่ยงได้ยาก ต่างกันก็แต่เพียงรูปแบบของทุกข์นั้น เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นแก่ชีวิต ผู้มีปัญญาตรองเห็นความจริงว่าความทุกข์เป็นสัจจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิต ชีวิตย่อมระคนด้วยทุกข์เป็นธรรมดา เมื่อเห็นเป็นธรรมดา ความยึดมั่นก็มีน้อย ความทุกข์สามารถลดลงได้หรืออาจหายไปเพราะไม่มีความยึดมั่น ความสุขที่เกิดจากการปล่อยวางย่อมเป็นสุขอันบริสุทธิ์
๓. ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องอนัตตา
การเรียนรู้เรื่องอนัตตา ทำให้เรารู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง ไม่ต้องถูกหลอกลวง จะทำให้คลายตัณหา มานะ ทิฏฐิ ทำให้ไม่ยึดมั่น เบากาย เบาใจ เพราะเรื่องอนัตตาสอนให้เรารู้ว่า สังขารทั้งปวง เป็นไปเพื่ออาพาธ ฝืนความปรารถนา บังคับบัญชาไม่ได้อย่างน้อยที่สุดเราจะต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ตัวเราเองจะต้องพบกับธรรมชาติแห่งความเจ็บปวด ความแก่ชรา และความตายจากครอบครัวและญาติพี่น้องตลอดจนทุกสิ่งทุกอย่าง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เปิดม่านมองธรรม
แสดงความคิดเห็น