หิริและโอตตัปปะ (หิ - หริ - โอด - ตับ - ปะ ) คือธรรม 2 ประการ ที่เรียกว่า โลกบาลธรรม หมายถึง ธรรมที่คุ้มครองโลก เป็นธรรมที่ทำให้โลกดำเนินไปอย่างปกติสุข โดยเป็นธรรมที่ปกครองและควบคุมจิตใจมนุษย์ให้อยู่ในความดี ไม่ให้ละเมิดศีลธรรมและให้อยู่ร่วมกันด้วยความเรียบร้อย สงบสุข ไม่เดือดร้อน สับสน วุ่นวาย
การทำชั่ว เหมือนการเดินตามกระแสน้ำ เดินไปได้ง่าย ทุกๆ คนพร้อมที่จะ กระทำสิ่งต่างๆ ไปตามกระแสกิเลสอยู่แล้ว ถ้าไม่ควบคุมให้ดี ยอม ตกเป็นทาสของกิเลส กระทำสิ่งต่างๆ ตามอำนาจของความอยากก็จะประสบทุกข์ในบั้นปลาย
การทำดี เหมือนการเดินทวนกระแสน้ำ เดินลำบากต้องใช้ความอดทน ใช้ความมานะพยายามต้องระมัดระวังไม่ให้ลื่นล้ม การทำความดีเป็นการทวนกระแสกิเลสในตัว ไม่ทำสิ่งต่างๆ ตามอำเภอใจ คำนึงถึงความถูกความดีเป็นที่ตั้งไม่ยอมเป็นทาสของความอยากเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ต้องใช้ความสุขุมรอบคอบ ใช้ความมานะพยายามสูง แต่จะประสบสุขในบั้นปลาย การทำกลางๆ เหมือนยืนอยู่เฉยๆ กลางกระแสน้ำ ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำพัดพาไปได้ หิริ
- เหตุที่ทำให้เกิดหิริ
1. คำนึงถึงความเป็นคน หรือชาติตระกูล “เรานี่มีบุญอุตส่าห์ได้เกิดเป็นคนแล้ว ทำไมจึงจะมาฆ่าสัตว์ ทำไมต้องมาขโมยเขากินนั่นมันเรื่องของสัตว์เดียรัจฉาน ทำไมต้องมาแย่งผัวแย่งเมียเขา ไม่ใช่หมู หมา กา ไก่ ในฤดูผสมพันธุ์นี่ เรานี้มันชาติคน เป็นมนุษย์สูงกว่าสัตว์ทั้งหลายอยู่แล้ว” พอคำนึงถึงชาติตระกูล หิริก็เกิดขึ้น
2. คำนึงถึงอายุ “โธ่เอ๋ย เราก็แก่ป่านนี้แล้ว จะมานั่งเกี้ยวเด็กสาวๆ คราวลูกคราวหลานอยู่ได้อย่างไร โธ่เอ๋ยเราก็แก่ป่านนี้แล้วจะมาขโมยของเด็กรุ่นลูก รุ่นหลานได้อย่างไร” พอคำนึงถึงวัย หิริก็เกิดขึ้น
3. คำนึงถึงความดีที่เคยทำ “เราก็เคยมีความองอาจกล้าหาญทำความดีมาก็มากแล้ว ทำไมจะต้องมาทำความชั่วเสียตอนนี้ล่ะ ไม่เอาละ ไม่ยอมทำความชั่วละ” พอคำนึงถึงความดีเก่าก่อน หิริก็เกิดขึ้น
4. คำนึงถึงความเป็นพหูสูต “ดูซิ เราก็มีความรู้ขนาดนี้แล้ว รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ รู้สารพัดจะรู้แล้วจะมาทำความชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงความเป็นพหูสูต หิริก็เกิดขึ้น
5. คำนึงถึงพระศาสดา “เราเองก็ลูกพระพุทธเจ้า พระองค์สู้ทนเหนื่อยยาก ตรัสรู้ธรรมแล้วทรงสั่งสอนอบรมพวกเราต่อๆ กันมา เราจะละเลยคำสอนของพระองค์ ไปทำชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงพระศาสดา หิริก็เกิดขึ้น
6. คำนึงถึงครูอาจารย์ สถานศึกษา “ ฮึ เราก็ศิษย์มีครูเหมือนกัน ครูอาจารย์สู้อบรมสั่งสอนมา ชื่อเสียงสถาบันของเราก็โด่งดังเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ แล้วเราจะมาทำชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงครูอาจารย์ สำนักเรียน หิริก็เกิดขึ้น
โอตตัปปะ
โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวบาป เป็นความรู้สึกกลัว กลัวว่าเมื่อทำไปแล้ว บาปจะส่งผลเป็นความทุกข์ทรมานแก่เรา จึงไม่ยอมทำบาป
สังคมทุกแห่งมีกฎหมายห้ามคนกระทำชั่ว หากใครละเมิดกฎหมายก็จะได้รับโทษ กฎหมายเป็นข้อห้ามที่มีไว้เพื่อให้สังคมดำเนินไปอย่างปกติสุข หน่วยย่อย ๆ ในสังคม เช่น โรงเรียน ก็มีกฎและระเบียบให้นักเรียนปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยเช่นกัน
การที่คนเราไม่ทำความชั่วหรือความผิดตามกฎหมายหรือระเบียบของโรงเรียนห้ามไว้นั้น อาจเป็นเพราะเหตุผล 2 กรณี คือ กลัวถูกลงโทษและติดตะราง หรือมิฉะนั้นก็กลัวถูกคนอื่นติเตียนประการหนึ่ง ที่ไม่ทำความชั่วเพราะละอายต่อความชั่วและเกรงกลัวความชั่วอีกประการหนึ่ง
การละอายต่อความชั่วนั้น ทางพระเรียกว่า “หิริ” การละอายต่อความชั่ว คือการละเว้นความชั่วเพราะละอายแก่ใจตนเอง มีความสำนึกตัวว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งชั่วไม่ควรทำ การที่ไม่ทำความชั่วมิใช่เพราะกลัวถูกจับหรือกลัวคนเห็น คนที่มีจิตสำนึกทางจริยธรรมนั้น ที่ไม่ทำความชั่วมิใช่เพราะกลัวการถูกลงโทษที่มาจากภายนอก แต่เพราะความรู้สึกภายในยับยั้งไว้ มิใช่เพราะกลัวคนอื่นเห็น แต่เพราะตัวเองละอายที่จะเห็นตนทำเช่นนั้น
ส่วนความเกรงกลัวต่อความชั่วนั้น ทางพระเรียกว่า “โอตตัปปะ” คนที่กลัวความชั่วนั้น ไม่ยอมทำผิดเพราะกลัวความชั่ว มิใช่กลัวตะรางหรือคำติเตียน เขาไม่ทำความชั่วเพราะสิ่งนั้นเป็นความชั่ว เขาเห็นความชั่วเป็นสิ่งโสโครก ไม่อยากเข้าใกล้ เพราะกลัวจะเกิดความสกปรกขึ้นในจิตใจ
สมมติว่ามีนักเรียน 3 คนเดินอยู่บนถนนแห่งหนึ่ง ถ้านักเรียนคนหนึ่งเหลือบไปเห็นกระเป๋าสตางค์อยู่บนพื้นถนน จึงหยิบขึ้นมาดู เมื่อเปิดออกก็เห็นเงินหลายพันบาทในนั้น เหตุการณ์นี้เพื่อนอีก 2 คนที่เดินไปด้วยกันก็เห็นด้วย นักเรียนคนนั้นจึงชวนเพื่อน ๆ ไปแจ้งความและมอบกระเป๋าเงินไว้ที่สถานีตำรวจ การกระทำครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการละเว้นความชั่ว เพราะการเอาของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิ์ที่ควรได้นั้น เป็นความชั่วอย่างแน่นอน และไม่เพียงผิดศีลธรรมเท่านั้น ยังผิดกฎหมายด้วย แต่กรณีเช่นนี้ เรายังไม่รู้ความในใจของนักเรียนคนนี้ในการที่ไม่ทำความชั่ว ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีคนเห็นและกลัวถูกจับจึงไม่กล้ากระทำก็ได้
สมมติว่ามีเด็กอีกคนหนึ่งเดินไปคนเดียวและพบกระเป๋าสตางค์บนถนน ขณะที่เขาหยิบกระเป๋าขึ้นมาถือไว้นั้น ไม่มีใครเห็นเขาเลย หากเขาประสงค์จะเก็บไว้เป็นของตัว ก็จะไม่มีใครมาติเตียนหรือไม่มีใครไปบอกตำรวจมาจับ หากเด็กคนนี้มีจิตสำนึกดี เขาก็จะเอากระเป๋าไปมอบที่สถานีตำรวจเช่นนี้เรียกว่าเขาละอายใจตนเองที่จะถือเอาสิ่งที่ตนไม่มีสิทธิอันชอบธรรม เขาละอายต่อความชั่ว มิใช่ ละอายผู้อื่นใด เพราะแถวนั้นไม่มีใคร เรียกได้ว่าเขากลัวความชั่วมิใช่กลัวถูกจับหรือกลัวถูกติเตียนเพราะไม่มีใครเห็น คนที่ละอายและกลัวความชั่วนั้นจะไม่ทำชั่วไม่ว่าในที่ลับหรือที่แจ้ง
ผู้ที่ละอายและเกรงกลังความชั่วนั้น คือผู้ที่เคารพตนเอง คนที่ไม่กระทำผิดเพราะกลัวถูกลงโทษนั้นคือคนที่เคารพกฎหมาย แต่คนที่ไม่กระทำผิดละอายแก่ใจนั้นคือคนที่เคารพตนเอง การเคารพกฎหมายเป็นสิ่งที่ดี แต่จะให้ดียิ่งขึ้นต้องเคารพตนเอง กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้สังคมเป็นปกติสุขได้ คนที่ไม่มีความละอายต่อความชั่วย่อมหาทางหลีกเลี่ยงกฎหมายเสมอ ถ้าไม่มีคนเห็นหรือแน่ใจว่าไม่มีใครจับได้ก็จะยังคิดที่จะทำความชั่วอยู่
คนที่ฉลาดมาก ๆ หากไม่มีความละอายต่อความชั่วแล้ว ย่อมหาช่องทางหลีกเลี่ยงกฎหมายได้เสมอ คนที่มีอำนาจก็เหมือนกัน หากไร้หิริโอตตัปปะแล้ว จะทำให้ผู้คนเดือดร้อน เพราะคนเหล่านี้มีกฎหมายอยู่ในมือ อาจใช้กฎหมายข่มเหงเบียดเบียนผู้อื่นหรือคดโกงทุจริตได้ เพราะอำนาจของกฎหมายนั้นอยู่ที่ความกลัวของคน หากคนไม่กลัวกฎหายเพราะมีกฎหมายอยู่ในมือแล้วเขาก็จะกล้าทำผิดกฎหมาย ไม่อาจห้ามเขามิให้ทำผิดได้ แต่หากคนทุก ๆ คนในสังคมมีจิตสำนึกทางศีลธรรม คือมีความละอายและเกรงกลัวต่อความชั่วแล้ว เขาก็จะไม่ทำความชั่ว ไม่ว่าเขาจะฉลาดมากหรือน้อย มีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ เพราะคนอย่างนี้เป็นคนหักห้ามใจตนเองและเคารพตนเอง
- เหตุที่ทำให้เกิดโอตตัปปะ
1. กลัวคนอื่นติ “นี่ถ้าเราขืนไปขโมยของเขาเข้า คนอื่นรู้คงเอาไปพูดกันทั่ว ชื่อเสียงที่เราอุตส่าห์สร้างมาอย่างดี คงพังพินาศหมดคราวนี้เอง “เมื่อกลัวว่าคนอื่นเขาจะติเอา โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป”
2. กลัวการลงโทษ “อย่าดีกว่า ขืนไปฆ่าเขาเข้า บาปกรรมตามทันตำรวจจับได้ มีหวังติดคุกตลอดชีวิตแน่” เมื่อกลัวว่าบาปจะส่งผลให้ถูกลงโทษ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
3. กลัวการเกิดในทุคติ “ไม่เอาละ ขืนไปขโมยของเขา อีกหน่อยต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดียรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่ทำดีกว่า" เมื่อกลัวว่าจะต้องไปเกิดในทุคติ โอตตัปปะก็เกิดขึ้นจึงไม่ยอมทำบาป
หิริโอตตัปปะ หรือความละอายต่อความชั่วและเกรงกลัวความชั่วนี้ เป็นหลักธรรมที่สำคัญมาก พระพุทธศาสนาเรียกว่า “โลกปาลธรรม” หรือธรรมที่คุ้มครองโลก เป็นหลักที่จะอำนวยสันติสุขให้เกิดขึ้นในโลกได้อย่างแท้จริง ลำพังเพียงกฎหมายอย่างเดียวไม่อาจทำให้สังคมสงบสุขได้ เพราะหากขาดหิริโอตตัปปะแล้ว คนจะตกเป็นทาสของสิ่งเย้ายวน และโอกาสที่จะทำผิดก็เกิดขึ้นได้เสมอ
การอบรมปลูกฝังให้คนมีสำนึกดีชั่ว มีความละอายและเกรงกลัวความชั่ว เป็นการตัดต้นตอของความชั่วอย่างถึงรากถึงโคน เพราะการไม่ทำชั่วนั้นอยู่ที่ตัวเองมิให้ผันแปรไปตามสิ่งเย้ายวนภายนอก
วิธีปลูกฝังหิริโอตตัปปะ
สังคมจะเป็นสุขเมื่อคนทุกคนมีหิริโอตตัปปะ ดังนั้นเราแต่ละคนจะต้องปลูกฝังสิ่งนี้ให้แต่ตัวเอง การพัฒนาตัวเองให้เป็นคนมีหิริโอตตัปปะนั้น เริ่มจากง่าย ๆ ก่อน คือ ฝึกตัวเองให้เคารพกฎหมายและระเบียบของโรงเรียนไว้ ข้อนี้ทำไม่ยากเพราะการละเมิดกฎหมายและระเบียบนั้นตัวเองต้องถูกลงโทษอยู่แล้ว หัดตัวเองให้กลัวการถูกลงโทษก่อน ถ้าหากจะพยายามหาอุบายหลีกเลี่ยงกฎหมายและระเบียบ จงระลึกอยู่เสมอว่าท่านอาจจะพลาดพลั้ง หรือถ้าท่านคิดว่าท่านฉลาดเอาตัวรอดได้ จงนึกว่าอาจมีคนฉลาดกว่าและจับได้ ถ้าท่านกำลังจะทำผิดเพราะคิดว่าไม่มีใครรู้เห็น จงจำไว้ว่าความลับไม่มีในโลกนี้
เมื่อฝึกตนให้เป็นคนเคารพและกลัวกฎหมายแล้ว ขั้นต่อไปก็ฝึกให้เคารพตนเอง หัดปกครองตนเอง การปกครองตนเอง คือ การยับยั้งใจตนเองมิให้กระทำผิด จงคิดว่าเราเป็นมนุษย์ซึ่งแปลว่าผู้มีใจสูง มนุษย์เท่านั้นที่อาจฝึกให้รู้จักละอายต่อความชั่วได้ การฝึกสัตว์เดรัจฉานนั้นฝึกได้ทางเดียวคือ การลงโทษ ถ้าสุนัขตัวโตที่บ้านของเรารังแกตัวเล็กเสมอ เราฝึกให้มันละเว้นการรังแกนี้ได้โดยใช้ไม้ตีมันทุกครั้งที่มันรังแกตัวเล็ก ในที่สุดมันจะละเว้นการรังแกได้ แต่เราไม่อาจสั่งสอนมันโดยการ อบรมจิตใจให้มันเกิดความละอาย เพราะมันปกครองตัวเองไม่ได้ มันไม่อาจรับการฝึกให้เคารพตัวเองได้ ฝึกได้ก็แต่การเคารพไม้เรียว
แต่มนุษย์ประเสริฐกว่าสัตว์ มนุษย์เท่านั้นที่ฝึกให้ละอายความชั่วได้ นั่นคือรู้จักยับยั้งชั่งใจมีสำนึกผิดชอบชั่วดี มนุษย์เท่านั้นที่อบรมให้ละเว้นความชั่วและทำความดี เราเกิดมาเป็นคนแล้วควรทำตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทำให้ตนเป็นผู้มีศักดิ์ศรีเหนือกว่าสัตว์เดรัจฉาน หากใช้สติปัญญาไตร่ตรองอย่างนี้แล้ว และเมื่อเคยชินกับการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบมาแล้ว หลักธรรมข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำตามได้
ที่มา : มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น