*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา

               หลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา
ศาสนาพุทธสอนว่า การเกิด แก่ เจ็บ และตาย ล้วนเป็นทุกข์ ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า และเชื่อว่าโลกนี้เกิดขึ้นจากกฎแห่งธรรมชาติ 5 ประการ อันมี กฎแห่งสภาวะ (อุตุนิยาม) มีธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ ที่เปลี่ยนสถานะเป็นธาตุต่าง ๆ กลับไปกลับมา กฎแห่งชีวิต (พีชนิยาม) คือกฎสมตา(ปรับสมดุล) กฎวัฏฏตา(หมุนวนเวียน)และกฎชีวิตา(มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน) ที่ทำให้เกิดชีวิตินทรีย์ รวมทั้งกฎแห่งวิญญาน (จิตนิยาม) คือนามธาตุที่กลายเป็น ธรรมธาตุ7 ที่เป็นไปตาม กฎแห่งเหตุผล (กรรมนิยาม) และ กฎไตรลักษณ์ (ธรรมนิยาม) กฎไตรลักษณ์เป็นสิ่งที่ทำให้มีการสร้าง ดำรงรักษาอยู่ และทำลายไปของทุกสรรพสิ่ง เมื่อย่อกฎทั้ง 3 แล้ว จะเหลือเพียง ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป

วัฏสงสาร

วัฏสงสารหรือ สังสารวัฏ หรือ สงสารวัฏ คือภพภูมิที่มนุษย์ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดขึ้นมาในตามหลักของพุทธศาสนาซึ่งบัญญัติไว้ว่ามีทั้งสิ้น 31 ภูมิด้วยสังสาร หรือ สงสาร แปลว่า ความท่องเที่ยวไป ในทางพุทธศาสนาหมายถึง การเวียนว่ายตายเกิด มิใช่หมายถึงความรู้สึกหวั่นไหวด้วยความกรุณาเมื่อเห็นผู้อื่นได้รับความทุกข์ สังสารวัฏ แปลว่า ความท่องเที่ยวไปในอาการที่เป็นวัฏฏะ การหมุนวนอยู่ในสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัฏสงสาร สงสารวัฏ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ ของสัตว์โลกด้วยอำนาจกิเลส กรรม วิบาก หมุนวนอยู่เช่นนั้นตราบเท่าที่ยังตัดกิเลส กรรม วิบากไม่ได้
กฎแห่งกรรม
กรรมในพระพุทธศาสนา (ภาษาสันสกฤต : กรฺม, ภาษาบาลี : กมฺม) แปลว่า "การกระทำ" ได้แก่ กระทำทางกาย เรียก กายกรรม ทางวาจา เรียก วจีกรรม และทางใจ เรียก มโนกรรม
  • กรรม แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
  1. กรรมดี เรียกว่า กุศลกรรม หรือ บุญกรรม
  2. กรรมชั่ว เรียกว่า อกุศลกรรม หรือ บาปกรรม
กรรม 2 (การกระทำ, การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม ทางใจก็ตาม - Kamma: action; deed)
  1. อกุศลกรรม (กรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, การกระทำที่ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่เกิดจากปัญญา ทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต หมายถึง การกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ - Akusala-kamma: unwholesome action; evil deed; bad deed)
  2. กุศลกรรม (กรรมที่เป็นกุศล, กรรมดี, การกระทำที่ดี ฉลาด เกิดจากปัญญา ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตจิตใจ หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คืออโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ -Kusala-kamma: wholesome action; good deed)
กฎแห่งกรรม คือกฎธรรมชาติที่ว่าด้วยการกระทำและผลของการกระทำ ซึ่งการกระทำกับผลนั้นย่อมมีความสัมพันธ์กันเช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

อริยสัจ

อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ 1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5 2. ทุกขสมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ 3. ทุกขนิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง 4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคอันมีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ 1. สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นชอบ 2. สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ 3. สัมมาวาจา-เจรจาชอบ 4. สัมมากัมมันตะ-ทำการงานชอบ 5. สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีพชอบ 6. สัมมาวายามะ-พยายามชอบ 7. สัมมาสติ-ระลึกชอบ และ 8. สัมมาสมาธิ-ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้ 1. อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ 2. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ และ 3. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ อริยสัจ 4 นี้ เรียกสั้น ๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ ๔ เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ ในทางศาสนาพุทธคือ ไตรลักษณ์ เป็นลักษณะสภาพพื้นฐานธรรมชาติอย่างหนึ่ง จากทั้งหมด 3 ลักษณะ ที่พุทธศาสนาได้สอนให้เข้าใจถึงเหตุลักษณะแห่งสรรพสิ่งที่เป็นไปภายใต้กฎไตรลักษณ์ อันได้แก่
  1. อนิจจัง (ความไม่เที่ยงแท้)
  2. ทุกขัง (ความทนอยู่อย่างเดิมได้ยาก)
  3. อนัตตา (ความไม่มีแก่นสาระ)



รูปภวจักร หรือสังสารจักรของทิเบต แสดงถึงอวิชชา ได้แก่ผลของการขาดปัญญาในการรู้
ทันเหตุเกิดแห่งทุกข์ (สมุทัย) ทำให้ต้องจมเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกองทุกข์ทั้งปวงไม่จบสิ้น


เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท (หลักศรัทธาของพุทธศาสนา) พุทธศาสนา สอนว่า ความทุกข์ ไม่ได้เกิดจากสิ่งใดดลบันดาล หากเกิดแต่เหตุและปัจจัยต่างๆ มาประชุมพร้อมกัน โดยมีรากเหง้ามาจากความไม่รู้หรือ อวิชชา ทำให้กระบวนการต่างๆ ไม่ขาดตอน เพราะนามธาตุที่เป็นไปตามกฎนิยาม ตามกระบวนการที่เรียกว่ามหาปัฏฐาน ทำให้เกิดสังขารเจตสิกกฎเกณฑ์การปรุงแต่งซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นดุจพันธุ์กรรมของจิต วิวัฒนาการเป็นธรรมธาตุอันเป็นระบบการทำงานของนามขันธ์ที่ประกอบกันเป็นจิต( อันเป็นสภาวะที่รับรู้และเป็นไปตามเจตสิกของนามธาตุ) และเป็นวิญญาณขันธ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นธาตุแสง (รังสิโยธาตุ) อันเกิดจากการทำงานของนามธาตุอย่างเป็นระบบ จนสามารถประสานหรือกำหนดกฎเกณฑ์รูปขันธ์ ของชีวิตินทรีย์(เช่นไวรัส แบคทีเรีย ต้นไม้ เซลล์ ที่มีชีวิตขึ้นมาเพราะกฎพีชนิยาม) ทำให้เหตุผลของรูปขันธ์เป็นไปตามเหตุผลของนามขันธ์ด้วย (จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว) ทำให้รูปขันธ์ที่เป็นชีวิตินทรีย์พัฒนามีร่างกายที่สลับซับซ้อนมีระบบการทำงานจนเกิดมีปสาทรูป 5 รวมการรับรู้ทางมโนทวารอีก 1 เป็นอายตนะทั้ง 6 และเกิดเป็นปัจจยาการ9 คือ
  1. เมื่ออายตนะกระทบกับสรรพสิ่งที่มากระทบจนเกิดผัสสะ
  2. จนเกิดเวทนา คือ ความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง
  3. เมื่อได้สุขมาเสพก็ติดใจ
  4. อยากเสพอีก ทำให้เกิดความทะยานอยาก (ตัณหา)
  5. จึงเกิดการแสวงหาความสุขมาเสพ
  6. จนเกิดการสะสม
  7. นำมาซึ่งความตระหนี่
  8. หวงแหน
  9. จนในที่สุดก็ออกมา ปกป้องแย่งชิงจนเกิดการสร้างกรรม และยึดว่าสิ่งนั้นๆเป็นตัวกู (อหังการ) ของกู (มมังการ)
ทำให้มีอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น)และจิตเมื่อประสบทุกข์ ก็สร้างสัญญาอันเป็นภูมิคุ้มกันทางจิตขึ้นมาเพื่อให้พ้นทุกข์(สมตา) เพราะมีสัญญาการสมมุติว่าเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้จึงมี เช่น คนตาบอดแต่เกิด เมื่อมองเห็นภาพตอนโตย่อมต้องอาศัยสมมุติว่าภาพที่เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เกิดการสำคัญผิดในมายาการของสัญญาเพราะจิตมีอวิชชา จึงมีความคิดเห็นเปรียบเทียบแบ่งสรรพสิ่งออกเป็นคู่ว่าแป็นโลกและบัญญัติว่าตนเองเป็นนั้นเป็นนี้ จึงเกิดจิตใต้สำนึก(ภพ)และสร้างกรรมขึ้นมา เพราะจิตต้องการพ้นทุกข์พบสุข ตามสติปัญญาที่มีของตน นั่นเอง
สู่การเวียนว่ายตายเกิดของจิตวิญญาณทั้งหลายนับชาติไม่ถ้วน ผ่านไประหว่าง ภพภูมิทั้ง 31 ภูมิ (มิติต่างๆ ตั้งแต่เลวร้ายที่สุด(นรก)ไปจนถึงสุขสบายที่สุด(สวรรค์)) ในโลกธาตุที่เหมาะสมในเวลานั้นที่สมควรแก่กรรม นี้เรียกว่า สังสารวัฏ
สำหรับการเวียนว่ายของจิตวิญญาณมีเหตุมาจาก "อวิชชา" คือความที่จิตไม่รู้ถึงความเป็นจริง ไปหลงผิดในสิ่งสมมุติต่างๆซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งหลาย เมื่อจิตยังมีอวิชชาสัตว์โลกย่อมเวียนว่ายตายเกิด และประสบพบเจอพระไตรลักษณ์อันเป็นเหตุให้ประสพทุกข์มีความแก่และความตาย เป็นต้น ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะทำลายที่ต้นเหตุคืออวิชชาลงได้



ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งอิสระเสรีภาพ ด้วยการสร้าง "ปัญญา" ในการอยู่
กับความทุกข์อย่างรู้เท่าทัน เพื่อบรรลุ วัตถุประสงค์ อันสูงสุดคือ นิพพาน คือ
การไม่มีความทุกข์ อย่างที่สุด หรือ การอยู่ในโลกอย่างไม่มีทุกข์ คือกล่าวว่า
ทุกข์ทั้งปวงล้วนเกิดจากการยึดถือ ต่อเมื่อ "หมดการยึดถือ" จึงไม่มีอะไรจะให้
ทุกข์ (แก้ที่ต้นเหตุของทุกข์ทั้งหมด)


ความดับทุกข์ (นิโรธ) คือ นิพพาน ( เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา ) อันเป็น แก่นของศาสนาพุทธ เป็นความสุขสูงสุด หรือเรียกอีกอย่างว่า
  • วิราคะปราศจากกิเลส
  • วิโมกข์พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
  • อนาลโย ไม่มีความอาลัย
  • ปฏินิสสัคคายะการปล่อยวาง
  • วิมุตติ การไม่ปรุงแต่ง
  • อตัมมยตา ไม่หวั่นไหว
  • และสุญญตา ความว่าง
เนื่องจากธรรมดาของสัตว์โลกมีปกติทำความชั่วมากโดยบริสุทธิ์ใจในความเห็นแก่ตัว ทำดีน้อยซึ่งไม่บริสุทธิ์ใจ ซ้ำหวังผลตอบแทน จึงมีปกติรับทุกข์มากกว่าสุข ดังนั้น ถ้าเป็นผู้มีปัญญาหรือเป็นพ่อค้าที่ฉลาดยอมรู้ว่าขาดทุนมากกว่าได้กำไร และ สุขที่ได้เป็นเพียงมายา ย่อมปรารถนาในพระนิพพาน เมื่อ ขันธ์5 แตกสลาย เจตสิกที่ประกอบกันให้เกิดเป็นจิตนั้นก็แตกสลายตามเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีเหตุปัจจัยจะประกอบกันให้เกิดเป็นจิตนั้น กรรมย่อมไม่อาจให้ผลได้อีก (อโหสิกรรม) เหลือเพียงแต่พระคุณความดีเมื่อมีผู้บูชาย่อมส่งผลกรรมดีให้แก่ผู้บูชาเหมือนคนตีกลอง กลองไม่รับรู้เสียง แต่ผู้ตีได้รับอานิสงส์เสียงจากกลอง
วิถีทางดับทุกข์ (มรรค) คือ มัชฌิมาปฏิปทา (หลักการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนา) ทางออกไปจากสังสารวัฏมีทางเดียว โดยยึดหลักทางสายกลาง อันเป็นอริยมรรค คือ การฝึกสติ (การทำหน้าที่ของจิตคือตัวรู้ให้สมบูรณ์) เป็นวิธีฝึกฝนจิตเพื่อให้ถึงซึ่งความดับทุกข์หรือมหาสติปัฏฐาน โดยการปฏิบัติหน้าที่ทุกชนิดอย่างมีสติด้วยจิตว่างตามครรลองแห่งธรรมชาติ มีสติอยู่กับตัวเองในเวลาปัจจุบัน สิ่งที่กำลังกระทำอยู่เป็นสิ่งสำคัญกว่าทุกสรรพสิ่ง ทำสติอย่างมีศิลปะคือรู้ว่าเวลาและสถานการณ์เช่นนี้ ควรทำสติกำหนดรู้กิจใดเช่นไรจึงเหมาะสม จนบรรลุญานตลอดจน มรรคผล เมื่อจำแนกตามลำดับขั้นตอนของการบำเพ็ญเพียรฝึกฝนทางจิต คือ
  1. ศีล (ฝึกกายและวาจาให้ละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมถึงการควบคุมจิตใจไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำด้วยการเลี้ยงชีวิตอย่างพอเพียง)
  2. สมาธิ (ฝึกความตั้งใจมั่นจนเกิดความสงบ (สมถะ) และทำสติให้รับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง) (วิปัสสนา) ด้วยความพยายาม
  3. ปัญญา (ให้จิตพิจารณาธรรมชาติจนรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา) และตื่นจากมายาที่หลอกลวงจิตเดิมแท้ (ฐิติภูตัง))

ปฏิจสมุปบาท

ปฏิจสมุปบาท  (สันสกฤต:ปรตีตยสมุตปาทะ) เป็นหลักธรรมข้อหนึ่งในพุทธศาสนา อธิบายถึง การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน จึงเกิดมีขึ้น การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์หรือหัวข้อ 12 ดังนี้ คือ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ ไตรลักษณ์
  • เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
  • เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
  • เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
  • เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
  • เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
  • เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
  • เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
  • เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปทานจึงมี
  • เพราะอุปทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
  • เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
  • เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
  • ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม
ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ (อริยกรธรรม) แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึงสามัญลักษณะ คือ กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่ อนิจจลักษณะ ความไม่เที่ยง ทุกสิ่งในโลกย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขลักษณะ ความเป็นทุกข์ คือ มีความบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตลักษณะ ความที่ทุกสิ่งไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป ไม่สามารถบังคับจิตใจให้เป็นไปตามปรารถนา เป็นต้น
อิทัปปัจจยตา
อิทัปปัจจยตา เป็นหลักการทางพุทธศาสนากล่าวถึงความเกี่ยวเนื่องกันของเหตุและผล เมื่อมีเหตุย่อมมีผล และเมื่อเหตุดับผลก็ดับคือเมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นเมื่อสิ่งนี้ ไม่มีสิ่งนี้ย่อมไม่มีเพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป อิทัปปัจจยตา ถือเป็นหัวใจของปฏิจจสมุปบาทเป็นกฎเหนือกฎทั้งปวง เป็นพุทธธรรมอันติมะหรือสัจธรรมความจริงแท้ ที่สุดของพุทธศาสนา และเชื่อมโยงคำสอนทั้งปวง ของพระพุทธเจ้าว่า ล้วนเป็นไปตามหลักธรรม หรือกฎของอิทัปปัจจยตาทั้งสิ้น อิทัปปัจจยตาหลักอิทัปปัจจยตาซึมซ่านอยู่ในเหตุปัจจัยแห่งการก่อเกิด การดำรงอยู่ การมีปฏิสัมพันธ์ และเสื่อมสลาย ของสรรพสิ่งในจักรวาล รวมถึงเป็นวิธีคิด ทางทฤษฎีวิทยาศาสตร์ทุกสาขาด้วย ครอบคลุมทั้งปัจจัยส่วนวัตถุ จิตใจ สังคมและอื่นๆทั้งหมด ส่วนปฏิจจสมุปบาทหมายถึงแต่สิ่งมีชีวิตที่มีจิต อิทัปปัจจยตาในทางพุทธศาสนามักใช้ในการอธิบายในรูปแบบปรัชญาใช้อธิบายสิ่งต่างๆแบบเชื่อมโยง เช่น เสาเป็นปัจจัยของหลังคา ถ้าไม่มีเสา หลังคาก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีหลังคา เสาก็ไม่มีประโยชน์ ทั้งเสาและหลังคาเป็นปัจจัยของกันและกัน คือ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาลอยๆโดยไม่มีเหตุผล บางเหตุการณ์ประกอบด้วยหลายเหตุปัจจัย เช่น ร้องให้เพราะเจ็บ เจ็บเพราะหัวแตก หัวแตกเพราะหกล้ม หกล้มเพราะถนนลื่น ถนนลื่นเพราะฝนตก เป็นเช่นนั้นเอง

 

ตถตา เป็นคำสรุปรวมของเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตาซึ่งครอบโลกให้เหลืออยู่เพียงว่า ตถตา-เป็นอย่างนั้น ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นดังนี้
  • อวิตถตา - ไม่ผิด ไปจากความเป็นอย่างนั้น
  • อนัญญถตา - ไม่เป็นไปโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น
  • ธัมมัฏฐิตตา - เป็นความตั้งอยู่โดยความเป็นธรรมดาของธรรมชาติ
  • ธัมมนิยามตา - เป็นกฎตายตัวของธรรมดา
ทั้งหมดนี้มันยุ่งยากลำบากมากเรื่อง ไม่ต้องจำก็ได้จำคำว่า "ตถตา" ไว้คำเดียวพอ แปลว่า เป็นเช่นนั้น เป็นเช่นนั้นเอง การเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือเห็นเช่นนั้นเอง หรือจะแยกออกไปเป็นว่า มันปรุงแต่งกันออกไปเป็นสายยาว เป็นปฏิจจสมุปบาท กระทั่งว่ามีอายตนะ มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน มีทุกข์ มันก็คือเช่นนั้นเอง ที่ต้องทุกข์ก็เพราะว่าเป็นเช่นนั้นเองอย่างนั้น ขณะใดไม่ต้องทุกข์ เพราะว่า มันเป็นเช่นนั้นเองอย่างนั้น ฉะนั้น เรามีเช่นนั้นเองไว้เป็นเครื่องดับทุกข์เถอะ อะไรเกิดขึ้นมาก็เห็นเป็นเช่นนั้นเองไว้ก่อน แล้วก็จะไม่รัก จะไม่เกลียด จะไม่โกรธ จะไม่กลัว ไม่วิตกกังวลอะไรหมด เพราะมันเช่นนั้นเอง ถ้ามันเกิดทุกข์ขึ้นมา เราก็เห็นเช่นนั้นเองของความทุกข์ แล้วก็หาเช่นนั้นเองของความดับทุกข์ที่มันเป็นคู่ปรปักษ์กัน เข้ามาซี่ "เช่นนั้นเอง" อย่างนี้มันเป็นทุกข์ "เช่นนั้นเอง" ที่มันดับทุกข์ก็เอาเข้ามา มาฟัดกันกับ "เช่นนั้นเอง" เช่นนั้นเองกับเช่นนั้นเองมันก็ฆ่ากันเอง ในที่สุดความทุกข์มันก็ดับไป เพราะเรามีเช่นนั้นเอง ฝ่ายดับทุกข์หรือฝ่ายพระนิพพาน พุทธศาสนาเรียนได้ในพริบตาเดียวก็ด้วยคำว่า "เช่นนั้นเอง" หัวใจของปฏิจจสมุปบาท สรุปอยู่ที่คำว่าเช่นนั้นเอง ปฏิจจสมุปบาทคือคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนา คือสอนว่าทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรและดับไปอย่างไร สมตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ฉันไม่พูดเรื่องอื่น ฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์ และความดับทุกข์เท่านั้น เดี๋ยวนี้ก็ดี ต่อไปข้างหน้าก็ดี" คือให้ความทุกข์และความดับทุกข์นี้ มันรวมอยู่ในคำว่า "เช่นนั้นเอง" เรียกว่า "ตถตา" ก็ได้ "ตถาตา" ก็ได้ "ตถา" เฉยๆ ก็ได้ หมายถึงสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครสร้าง ใครบันดาล ให้มีให้เกิดขึ้น แต่เป็นเช่นนั้นขึ้นมาเอง ในพระไตรปิฎกมีอยู่ทั้ง 3 คำ : ทั้งตถา ทั้งตถตา ทั้งตถาตา ฉะนั้นใครถึงตถา คนนั้นคือตถาคต ตถา + คตะ, ตถา แปลว่า เช่นนั้นเอง, คตะแปลว่า ถึง ผู้ใดถึง ตถา ผู้นั้นชื่อว่า ตถาคต คือว่า ถึงความสูงสุดของสิ่งที่มนุษย์ควรจะได้จะถึง คือ ถึงเช่นนั้นเอง และ "เช่นนั้นเอง" ตัวใหญ่ที่สุด คือ พระนิพพาน"
ความว่าง
สุญญตา เป็นคำศัพท์ภาษาบาลี แปลว่า ความว่างเปล่า, ความเป็นของสูญ คือความไม่มีสาระ ถือเอาเป็นสาระไม่ได้ เขียนว่า สุญตา ก็มี ภาษาสันสกฤตใช้ว่า "ศูนยตา" สุญญตาหมายถึงสภาวะที่ว่างจากความเป็นตัวตนหรืออัตตา ได้แก่เบญจขันธ์ ธาตุ อายตนะ ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่มีสาระที่พึงยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล, สภาวะที่ว่างหรือปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง คือราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ได้แก่พระนิพพาน, สภาวะที่ว่างเปล่าไม่มีอะไร (นัตถิกิญจิ) ที่จิตกำหนดหมายไว้ในใจ ในการเจริญอากิญจัญญายตนฌาน คือการทำใจให้ว่าง ไม่เกาะเกี่ยวอารมณ์อื่น เป็นการพักผ่อนที่สำคัญ สุญญตาส่วนใหญ่ใช้ประกอบคำที่เป็นคุณธรรมอันสำเร็จมาจากการพิจารณาสุญญตา เช่น สุญญตสมาธิ สุญญตสมาบัติ สุญญตวิโมกข์ สุญญตวิหาร เพราะมีอวิชชา ถ้านามพ้นนาม ก็สู่สภาวะนิพพาน จิตเมื่อมีวิปัสสนาญาณจะพ้นรูปย่อมเป็นอิสระจากรูป ย่อมรูปแจ้งในรูป ดุจคนมองโลกในที่สูง เมื่อจิตพ้นจิต ด้วยอาสวักขยญาณ ย่อมเป็นอิสระจากนาม ย่อมรู้แจ้งในนาม ดุจอยู่ในกระแสแต่ทวนกระแสพบความว่างแห่งกระแส
ความหลุดพ้น
นิพพาน หมายถึง สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว ภาวะที่เป็นสุขสูงสุด เพราะไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพสมบูรณ์ "นิพพาน" จากบาลี Nibbāna निब्बान ประกอบด้วยศัพท์ นิ (ออกไป, หมดไป, ไม่มี) + วานะ (พัดไป, ร้อยรัด) รวมเข้าด้วยกันแปลว่า ไม่มีการพัดไป ไม่มีสิ่งร้อยรัด คำว่า "วานะ" เป็นชื่อเรียกกิเลสตัณหา กล่าวโดยสรุป นิพพานคือการไม่มีกิเลสตัณหาที่จะร้อยรัดพัดกระพือให้กระวนกระวายใจ อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา พระอนุรุทธาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ได้พรรณนาคุณของนิพพานว่า ปทมจฺจุตฺ มจฺจนฺตํ อสงฺขตมนุตฺตรํ นิพฺพานมีติ ภาสนฺติ วานมุตฺตามเหสโย "พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้พ้นแล้วจากตัณหาเครื่องร้อยรัด ทรงตรัสถึงสภาวะธรรมชาติหนึ่งที่เข้าถึงได้ เป็นธรรมชาติที่ไม่จุติ พ้นจากขันธ์ 5 ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใด ๆ เลย หาสภาวะอื่นเปรียบเทียบไม่ได้ ว่าสภาวธรรมนั้นคือพระนิพพาน" คัมภีร์พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะกล่าวถึงนิพพาน 2 ประเภท คือ  
  • สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุยังมีอุปาทิเหลือ ยังเกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ กล่าวคือดับกิเลสแต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ
  • อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุที่ไม่มีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ กล่าวคือดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่อีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น