*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ฆราวาสธรรม ๔

                  ฆราวาสธรรม ๔
 
 
ฆราวาสธรรม ประกอบด้วย 2 คำ "ฆราวาส" แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก, ผู้ครองเรือน และ "ธรรม" แปลว่า ความถูกต้อง, ความดีงาม, นิสัยที่ดีงาม, คุณสมบัติ, ข้อปฏิบัติ
 
ฆราวาสธรรม แปลว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ
  1. สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้
  2. ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ
  3. ขันติ แปลว่า อดทน
  4. จาคะ แปลว่า เสียสละ
ความสำคัญของหลักธรรม 4 ประการ ที่มีต่อการสร้างตัวนี้ พระพุทธองค์ถึงกับท้าให้ไปถามผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่า มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศให้คนเราได้เท่ากับการมี "สัจจะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี "ทมะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี "ขันติ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี "จาคะ" หรือไม่
การที่พระพุทธองค์ทรงท้าให้ไปถามผู้รู้อื่นๆ อย่างนี้ก็หมายความว่า ไม่มีธรรมะใดๆ ที่จะใช้สร้างตัวให้ประสบความสำเร็จได้ยิ่งกว่าการสร้างสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะให้เกิดขึ้นในตนอีกแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คนที่จะยืนหยัดผ่านอุปสรรคต่างๆ ในโลกนี้ไปจนกระทั่งพบความสำเร็จได้นั้น เขาต้องสร้าง "ฆราวาสธรรม" ให้เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานประจำตนก่อนนั่นเอง เพราะฉะนั้น ความหมายที่แท้จริงของ ฆราวาสธรรม คือ คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสร้างเกียรติยศ สร้างปัญญา สร้างทรัพย์สมบัติ และสร้างหมู่ญาติมิตรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จด้วยกำลังความเพียรของตน
 
 
อานิสงส์ของการสร้างตัวให้มีฆราวาสธรรม

อานิสงส์ของการมีสัจจะ - ปลูกนิสัยความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว - เป็นคนหนักแน่นมั่นคง - มีความเจริญก้าวหน้าในการประกอบหน้าที่การงาน - ได้รับการเคารพยกย่อง - มีคนเชื่อถือ และยำเกรง - ครอบครัวมีความมั่นคง - ได้รับเกียรติยศชื่อเสียง
อานิสงส์ของการมีทมะ - ปลูกฝังนิสัยรักการฝึกฝนตนให้เกิดขึ้นในตัว - ทำให้เป็นคนมีความสามารถในการทำงาน - ไม่มีเวรกับใคร - ยับยั้งตนเองไม่ให้หลงไปทำผิดได้ - สามารถตั้งตัวได้ - มีปัญญาเป็นเลิศ
อานิสงส์ของการมีขันติ - ปลูกฝังนิสัยการอดทนต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ - ทำงานได้ผลดี - สามารถเป็นหลักในครอบครัวได้ - สามารถเป็นหลักให้กับบริวารได้ - ไม่มีเรื่องวิวาทกับคนอื่น - ไม่หลงผิดไปทำความชั่วได้ - ทำให้ได้ทรัพย์มา
อานิสงส์ของการมีจาคะ - ปลูกฝังการมีอารมณ์ผ่องใสและนิสัยเสียสละให้เกิดขึ้นในตัว - เป็นการสร้างความปลอดภัยแก่ตนเอง - เป็นที่นับหน้าถือตาของคนทั่วไป - ครอบครัวและสังคมเป็นสุข - มีกัลยาณมิตรรอบตัว สรุปแล้วคุณของการมีฆราวาสธรรมโดยรวม ก็คือ เมื่อมีสัจจะย่อมมีเกียรติยศชื่อเสียง เมื่อมีทมะย่อมได้รับปัญญา เมื่อมีขันติย่อมเกิดทรัพย์ในบ้าน และเมื่อมีจาคะย่อมเกิดมิตรที่ดีไว้เป็นสมัครพรรคพวกในสังคม
 
 
โทษของการไม่สร้างตัวให้มีฆราวาสธรรม
 
 
โทษของการขาดสัจจะ- ปลูกนิสัยขาดความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว - เป็นคนเหลาะแหละ - พบแต่ความตกต่ำ - มีแต่คนดูถูก - ไม่มีคนเชื่อถือ - ไม่สามารถรองรับความเจริญต่างๆ ได้ - ไร้เกียรติยศชื่อเสียง
โทษของการขาดทมะ - ขาดนิสัยรักการฝึกฝนตนเอง - ทำให้ขาดความสามารถในการทำงาน - สามารถหลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย - จะเกิดการทะเลาวิวาทได้ง่าย - จะจมอยู่กับอบายมุข - ครอบครัวเดือดร้อน - ไม่สามารถตั้งตัวได้ - เป็นคนโง่เขลา
โทษของการขาดขันติ - ไม่สามารถอดทนต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้ - เป็นคนจับจด ทำงานคั่งค้าง - ไม่สามารถเป็นหลักให้ครอบครัวได้ - หลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย - ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น - เต็มไปด้วยศัตรู - ขาดความเจริญก้าวหน้า - ทำให้เสื่อมจากทรัพย์
โทษของการขาดจาคะ - ปลูกฝังความตระหนี่ให้เกิดขึ้นในใจ - ได้รับคำครหาติเตียน - เป็นทุกข์ใจ - ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ สรุปแล้วโทษของการขาดฆราวาสธรรมโดยรวมก็คือ เมื่อขาดสัจจะย่อมเกิดปัญหา ถูกหวาดระแวง เมื่อขาดทมะย่อมเกิดปัญหาความโง่เขลา เมื่อขาดขันติย่อมเกิดปัญหาความยากจน และเมื่อขาดจาคะย่อมเกิดปัญหาความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นในสังคม

 
 
 
 
.

5 ความคิดเห็น:

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

๑.สัจจะ ความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน เป็นหลักสำคัญที่จะให้เกิดความไว้วางใจและไมตรีจิตสนิทต่อกันขาดสัจจะเมื่อ ใดย่อมเป็นเหตุให้เกิดความหวาดระแวงแคลงใจกันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความร้าว ฉาน ซึ่งยากนักที่จะประสานให้คืนดีได้ดังเดิม


๒.ทมะ การรู้จักบังคับควบคุมอารมณ์ ข่มใจระงับความรู้สึกต่อเหตุบกพร่องของกันและกัน รู้จักฝึกฝนปรับปรุงตน แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับนิสัยและอัธยาศัยให้กลมกลืนประสานเข้าหากันได้ ไม่เป็นคนดื้อด้านเอาแต่ใจและอารมณ์ของตน คนที่ขาดธรรมข้อนี้ ย่อมปล่อยให้ข้อแตกต่างปลีกย่อยทางอุปนิสัยและการอบรม กลายเป็นเหตุแตกแยกสามัคคีใหญ่โต และถ้าไม่สามารถปรับตนเข้าหากันได้ ก็เป็นอันต้องทำลายชีวิตคู่ครองแยกทางขาดจากกัน


๓.ขันติ ความอดทน อดกลั้น ต่อความหนักและความร้ายแรงทั้งหลาย ชีวิตของผู้อยู่ร่วมกัน นอกจากมีข้อแตกต่างขัดแย้งทางอุปนิสัย การอบรม และความต้องการบางอย่าง ซึ่งจะต้องหาทางปรับปรุงเข้าหากันแล้วบางรายอาจจะมีเหตุล่วงเกินรุนแรง แสดงออกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจะเป็นถ้อยคำหรือกิริยาอาการ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรู้จักอดกลั้นระงับใจ ไม่ก่อเหตุให้เรื่องลุกลามกว้างขยายต่อไปความร้ายจึงจะระงับลงไป นอกจากนี้ ยังจะต้องมีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ และเรื่องหนักใจต่างๆ ในการประกอบการงานอาชีพเป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติ ความตกต่ำคับขัน ไม่ตีโพยตีพาย แต่มีสติอดกลั้นคิดอุบายใช้ปัญญาหาทางแก้ไขเหตุการณ์ให้ลุล่วงไปด้วยดี ชีวิตของคู่ครองที่ขาดความอดทน ย่อมไม่อาจประคับประคองพากันให้รอดพ้นเหตุร้ายต่างๆ อันเป็นประดุจมรสุมแห่งชีวิตไปได้


๔.จาคะ ความเสียสละ ความเผื่อแผ่ แบ่งปันตลอดถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ชีวิตบุคคลที่จะมีความสุข จะต้องรู้จักความเป็นผู้ให้ด้วย มิใช่คอยจ้องแต่จะเป็นผู้รับเอาฝ่ายเดียว การให้ในที่นี้ มิใช่หมายแต่เพียงการเผื่อแผ่แบ่งปันสิ่งของอันเป็นเรื่องที่มองเห็นและเข้า ใจได้ง่ายๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่กัน การแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ตลอดจนการเสียสละความพอใจและความสุขส่วนตนได้ เช่น ในคราวที่คู่ครองประสบความทุกข์ ความเจ็บไข้ หรือมีธุระกิจใหญ่เป็นต้น ก็เสียสละความสุขความพอใจของตน ขวนขวายช่วยเหลือ เอาใจใส่ดูแล เป็นที่พึ่งอาศัย เป็นกำลังส่งเสริม หรือช่วยให้กำลังใจได้โดยประการใดประการหนึ่ง ตามความเหมาะสมรวมความว่า เป็นผู้จิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละ ไม่คับแคบเห็นแก่ตัว ชีวิตครอบครัวที่ขาดจาคะ ก็คล้ายการลงทุนที่ปราศจากผลกำไรมาเพิ่มเติม ส่วนที่มีมาแต่เดิมก็คงที่หรือค่อยร่อยหรอพร่องไป หรือเหมือนต้นไม้ที่มิได้รับการบำรุง ก็มีแต่อับเฉา ร่วงโรย ไม่มีความสดชื่นงอกงาม


ธรรม ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะดังกล่าวมานี้ มิใช่ประสงค์เป็นข้อปฏิบัติจำกัดเฉพาะในระหว่างคู่ครองเพียง ๒ คนเท่านั้น แต่มุ่งหมายให้ใช้ทั่วไปในชีวิตการครองเรือนทั้งหมด โดยยึดถือเป็นคุณธรรมพื้นฐานของจิตใจ ในการที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีงามกับคนทั้งหลายที่จะอยู่ร่วมหรือติดต่อ เกี่ยวข้องกันให้เหมาะสมตามฐานะนั้นๆ เพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ชีวิตของตนเอง และแก่ชีวิตของคนอื่นๆ ในสังคม


.

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

ฆราวาสธรรม ๔



เวลาที่พระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดญาติโยม หรือ โปรดพระภิกษุ สามเณร ทุกครั้งพระพุทธองค์จะทรงพิจารณา เลือกเฟ้นธรรมะที่เหมาะสมกับผู้ที่กำลังฟังอยู่ เพราะว่าธรรมะนั้นเปรียบเหมือนกับยารักษาโรค เป็นยารักษาโรคทางจิตใจ คือ โรคเศร้าหมอง โรคของความทุกข์ ความไม่สบายใจ ความกังวลใจ ความเศร้าโศกเสียใจ สิ่งเหล่านี้นั้น เป็นโรคของจิตใจ ต่างจากโรคของร่างกาย โรคของร่างกาย ก็มีปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ เป็นหวัด เจ็บเท้า ปวดท้อง อย่างนี้เป็นต้น มีความแตกต่างกัน เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม พระพุทธองค์จึงเลือกยาที่เหมาะสมกับผู้ฟังธรรมนั้นๆ ถ้าเป็นฆราวาส ก็จะแสดงธรรมแบบหนึ่ง ถ้าเป็นพระภิกษุ เป็นนักบวช ท่านก็จะแสดงธรรมอีกแบบหนึ่ง เพื่อให้เหมาะสมกับเพศ กับวัย ให้เหมาะสมกับภูมิจิต ภูมิธรรม ของแต่ละบุคคล เวลาที่เราไปหาหมอ หมอก็จะต้องให้ยาที่เหมาะสมกับโรค ถ้าเราเป็นโรคปวดท้อง แต่หมอให้ยารักษาโรคปวดหัวมา โรคปวดท้องก็จะไม่หาย กินยาเข้าไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ดีไม่ดี อาจจะเกิดโทษขึ้นมาก็ได้ เพราะให้ยาผิด คนไข้ดีไม่ดีอาจจะเกิดอาการแพ้ยา หรืออาจจะตายไปก็ได้



การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้งนั้น พระองค์จึงทรงเลือกธรรมที่เหมาะสมกับผู้ฟัง สมัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมะครั้งแรกนั้น มีผู้ฟังธรรมะอยู่ ๕ รูปด้วยกัน คือ พระปัญจวัคคีย์ พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี้ ท่านเป็นนักบวช ท่านเป็นผู้แสวงหาความสุขทางด้านจิตใจ ท่านไม่ได้แสวงหาความสุขจาก รูป เสียง กลิ่น รส และ เครื่องสัมผัส คือ กามสุข อันนั้น เป็นความสุขของฆราวาส ความสุขของสมณะเพศ คือการหาความสงบของจิตใจ ทีนี้ จิตใจจะสงบ หรือไม่สงบ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะกำจัดเหตุ ที่จะนำมาซึ่งความไม่สงบของจิตใจได้หรือไม่ เหตุที่นำมาซึ่งความไม่สงบของจิตใจนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ในอริยสัจ 4 คือ สมุทัย ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา คือ ความอยากทั้งหลายนั้นเอง



ความอยากสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อันนี้เป็นกามตัณหา ความอยากมี ความอยากเป็น เช่น อยากเป็น ส.ส. อยากเป็นนายก อยากเป็นรัฐมนตรี อันนี้เรียกว่าภวตัณหา ส่วนวิภวตัณหา ก็คือ ความอยากไม่มี อยากไม่เป็น เช่น ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย คือความกลัวนั้นเอง วิภวตัณหาก็คือ ความกลัว กลัวแก่ กลัวเจ็บ กลัวตาย พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็น ให้เข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุ ที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ทางด้านจิตใจของนักบวช ของสมณะทั้งหลาย ถ้าอยากจะทำให้จิตสงบ จิตใจไม่มีความทุกข์ ก็ต้องละกามสุข ละกามตัณหา ละความอยากมี อยากเป็น เป็นพระลูกวัด ก็อย่าไปอยากเป็นเจ้าอาวาส อย่าไปอยากเป็นเจ้าฟ้า เจ้าคุณ ถ้าไม่มีความอยากแล้ว จะไม่มีความดิ้นรน จะไม่มีความทุกข์



ส่วนความแก่ ความเจ็บ ความตาย ท่านบอกว่าอย่าไปกลัวมัน ถ้ากลัวมันแล้ว มันก็มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว เพราะว่า ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันเป็นเรื่องของร่างกาย ไม่ใช่เรื่องของจิตใจ จิตใจนี้ ไม่แก่ตามร่างกาย ไม่ได้เจ็บตามร่างกาย ไม่ได้ตายตามร่างกาย แต่จิตใจหลง เลยไปผูกติดกับร่างกาย ทำให้คิดว่า เวลาร่างกาย แก่ เจ็บ ตาย จิตใจจะ แก่ เจ็บ ตาย ไปด้วย ถ้าสามารถระงับความกลัวนี้ได้ จะทำให้เราอยู่ในโลกนี้ได้ ด้วยความผาสุก ความสบายใจ เพราะว่าเข้าใจแล้วว่า อะไรคือสิ่งที่จะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อะไรคือสิ่งที่ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย สามารถแยกแยะได้ระหว่างกายกับจิต กายนั้นต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เป็นธรรมดา ส่วนจิตใจ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ร่างกายตายไปแล้ว จิตต้องไปเกิดใหม่



เวลาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมะให้กับฆราวาสผู้ครองเรือน จะแสดงธรรมะที่ต่างจากธรรมะของสมณะ เพราะว่าธรรมะของผู้ครองเรือนนั้น มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวของเงินทอง และบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวพันกัน ดังนั้น ธรรมะของฆราวาสจึงไม่เหมือนกับธรรมะของสมณะ พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมะของฆราวาสไว้ ๔ ประการด้วยกัน เรียกว่าฆราวาสธรรม ๔ คือ ธรรมที่ฆราวาสผู้ครองเรือน ควรจะมีไว้เป็นเครื่องนำพาจิตใจ เป็นเครื่องนำพาความประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีฆราวาสธรรมทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว ผู้ที่อยู่ครองเรือน จะอยู่อย่างมีความสุขตามฐานะ ตามอัตภาพของตน



ธรรมะทั้ง ๔ ประการคือ ๑. จาคะ การเสียสละ ๒. สัจจะ ความจริงใจ ๓.ขันติ ความอดทน ๔. ทมะ ความอดกลั้น การข่มจิตข่มใจ ชนะตนดีกว่าชนะผู้อื่น ผู้ที่มีธรรมะทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว ก็เปรียบเหมือนกับทหารที่มีอาวุธครบมือ พร้อมจะเข้าสู่สมรภูมิ ต่อสู้กับศัตรูทั้งหลาย ที่จะมาสร้างความเสื่อมเสีย ความหายนะ ความทุกข์ต่างๆ ท่านจึงสอนฆราวาสทั้งหลาย ให้ระลึกถึงธรรมะทั้ง ๔ ประการนี้ ตรวจตราดูว่า ธรรมะทั้ง ๔ ประการนี้ มีอยู่ภายในใจหรือเปล่า ถ้าไม่มี ก็พยายามสร้างให้มันเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง






.

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

จาคะ คือ การเสียสละ การแบ่งปันความสุข แบ่งปันประโยชน์ของเราให้แก่ผู้อื่นบ้าง มีมาก ก็แบ่งมาก มีน้อย ก็แบ่งน้อย เวลาทานอาหารร่วมกัน เราก็แบ่งปันอาหารกัน ไม่ต้องคิดว่า เราจะกินแต่เราคนเดียว ให้คิดถึงคนอื่นด้วย เพราะทุกคนก็มีปาก มีท้องเหมือนกัน มีความหิว มีความต้องการเหมือนกัน ถ้าได้แบ่งปันตามอัตราส่วนแล้ว ทุกคนก็จะอยู่กันได้ ด้วยความร่มเย็น เป็นสุข ไม่ว่าจะเป็นสังคมใหญ่ หรือสังคมเล็กก็ตาม ถ้ามีการแบ่งปัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว สังคมนั้น ก็จะเป็นสังคม ที่อยู่กันได้ ด้วยความสงบสุขเช่นในขณะนี้ มีอุทกภัยเกิดขึ้นตามภาคต่างๆ มีความเดือนร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และอาหารการกินต่างๆ มีการบริจาคปัจจัย ๔ เป็นข้าว เป็นของ เป็นเงิน เป็นทอง เพื่อเอาไปช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ ที่ ได้รับความเดือดร้อน ได้บรรเทาคลายความทุกข์ที่มีอยู่ ให้หนักเป็นเบา ถ้าต่างฝ่ายต่างมีจาคะ คือ มีการเสียสละ มีการบริจาค มีการให้ซึ่งกันและกันแล้ว สังคมนั้นก็จะอยู่กันด้วยความร่มเย็นผาสุก ทุกคนก็พอมี พออยู่ พอกินเพราะว่าปัจจัย ๔ นี้ มันไม่ใช่ตัวสำคัญ ตัวที่สำคัญ คือ ธรรมะที่อยู่ในจิตใจของเรา บางคนกินได้เยอะ กินได้มาก แต่กินคนเดียว ไม่แบ่งคนอื่นเขา ก็ไม่มีความสุขใจ แต่พอมีการเสียสละ แบ่งปันอาหารกัน ร่างกายก็พออยู่ได้ ใจก็อิ่ม ใจมีความสุข เพราะมีการเสียสละ มีจาคะนั้นเอง



สัจจะ คือความจริงใจ คนเราอยู่ด้วยกัน ต้องมีความจริงใจต่อกัน ปากกับใจต้องตรงกันไม่ควรอยู่ด้วยการโกหก หลอกลวงกัน ระหว่างสามีและภรรยา ควรจะมีสัจจะ มีความจริงใจต่อกันและกัน คือ มีความซื่อสัตย์ต่อกันนั่นเอง ไม่นอกใจกัน มีรักหนึ่ง ใจเดียว ถ้ามีสิ่งเหล่านี้แล้ว จะมีความสบายใจ ทุกคนไม่ต้องหวาดระแวงกัน ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกหลอกลวงหรือเปล่า ลูกกับพ่อแม่ก็เหมือนกัน ต้องมีสัจจะ เวลาบอกพ่อแม่ว่าจะไปโรงเรียน ก็ต้องไปโรงเรียน ไม่ใช่บอกไปโรงเรียน แล้วก็ไปเที่ยวเตร่ ตามผับ ตามบาร์ ตามสถานที่ที่ไม่ควรไป ไม่ควรโกหกหลอกลวงพ่อแม่ พ่อแม่ทราบเข้าจะเสียใจ



คนไม่มีสัจจะ มักจะทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เป็นที่น่ารังเกียจ ไม่น่าคบค้าสมาคมด้วย เป็นคนที่ไม่มีใครอยากรู้จักมักคุ้น ไม่อยากข้องเกี่ยวด้วย คนพูดปดเป็นคนไม่สวย ไม่งาม อยู่ในสังคมใดก็จะมีแต่จะสร้างความไม่ไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับสังคมนั้น ทำให้เกิดความระแวง เกิดความทุกข์ ความไม่สบายใจตามมา ถ้าอยากให้สังคมเป็นสังคมที่ดีงาม อยู่แล้วสบายใจ ก็ขอให้มีสัจจะ พูดความจริง ถ้าพูดความจริงไม่ได้ ก็ให้นิ่งเสีย หรือหลีกเลี่ยงไปพูดเรื่องอื่น ไม่จำเป็นต้องมาโกหกหลอกลวงกัน สร้างความไม่สบายใจต่อกันและกัน เมื่อเราพูดโกหกหลอกลวง เราจะไม่สบายใจ เพราะกลัวถูกจับผิด ว่าเป็นคนพูดปดมดเท็จ เป็นคนไม่มี คุณค่าทางวาจา ทำให้ทุกข์ใจ หาความสุขทางใจไม่ได้




.

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

ขันติ คือ ความอดทน อยู่ในโลกนี้ ต้องอดทนกับความยากลำบาก บางครั้งบางคราวขาดอาหารไปบ้าง เวลารับประทานอาหาร บางทีก็ช้าไปบ้าง สายไปบ้าง เกิดความหิวโหยขึ้นมา ก็ต้องอดทน ถ้าไม่อดทน ก็จะทุกข์มาก เวลาเห็นสิ่งต่างๆ ที่คนอื่นเขามีกัน เราก็อยากได้ ถ้าไม่มีความอดทน บางทีอาจไปลักขโมยสิ่งของเหล่านั้นมา การลักขโมย เราก็ทราบแล้วว่า ผลที่จะตามมาเป็นอย่างไร เราได้อ่านข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอว่า คนที่ไปขโมย ไปลักทรัพย์ จะต้องถูกตำรวจจับเข้าคุกเข้าตะราง แต่ถ้ามีความอดทน ว่าตอนนี้ ถึงแม้จะหิวขนาดไหนก็ตาม จะไม่ลักขโมยอาหารของคนอื่นเขา จะทนไปก่อน จนกว่าจะหาอาหารมาได้ด้วยความชอบธรรม แล้วเราจึงค่อยกิน ถ้ามีความอดทน โอกาสที่จะไปทำผิดทางด้านศีลธรรม จะมีน้อย โอกาสที่จะไปติดคุกติดตะรางก็มีน้อยเช่นกัน



ทมะ คือ ความอดกลั้น ข่มใจ เวลาจิตใจไม่มีความสุข เห็นอะไร ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ หรือเห็นอะไร ได้ยินอะไร เกิดความอยากได้ อยากมีขึ้นมา เกิดความทุกข์ร้อนใจ ท่านสอนให้ข่มใจ คือชนะอารมณ์เหล่านั้นเสีย ไม่ว่าจะเป็นความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ให้ระงับมันเสีย อย่าปล่อยให้มันมีฤทธิ์ มีอำนาจ สั่งให้เราไปทำในสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม เช่น พอเกิดความโกรธขึ้นมา ก็ระบายออกทางวาจา ไปด่า ไปว่า หรือ ไปทุบ ไปตี ไปทำร้ายร่างกายผู้อื่น ถ้าสามารถข่มใจได้ อดกลั้นได้ เอาชนะความโกรธได้ ก็ไม่ต้องไปพูด ไปด่า ไปว่า ไปทะเลาะเบาะแว้ง ถ้าไปด่าเขาแล้ว เขาก็จะต้องโต้ตอบกลับมา พอโต้กันไป โต้กันมา ขั้นต่อไป ก็จะต้องลงไม้ลงมือ ทุบตีกัน มีการเจ็บตาย คนตายก็ต้องถูกเอาไปเผา คนที่ฆ่าเขาตายก็จะต้องเข้าคุกเข้าตะรางต่อไป อันนี้เป็นเพราะว่าไม่มีทมะ คือ การข่มใจ ข่มอารมณ์ ข่มตนนั่นเอง



พระพุทธเจ้าท่านจึงสอน ให้มีทมะ คือ การข่มใจ ความอดกลั้น ชนะตน ดีกว่าชนะผู้อื่น ชนะผู้อื่นก็สร้างความเคียดแค้นให้กับเขา ถ้าผู้อื่นชนะเรา เขาก็สร้างความเคียดแค้น ความอาฆาตพยาบาทให้แก่เรา ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าเราชนะตัวเราได้แล้ว ทุกอย่างจะสงบ ทุกอย่างจะเย็น เวลาเราโกรธ เราเอาชนะความโกรธได้ เราก็สบายใจ คนที่ถูกเราโกรธก็จะไม่เดือดร้อน กับการที่ต้องฟังการดุด่าจากเรานั้นเอง การมีทมะ คือ การข่มใจนั้น เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับฆราวาส ไม่ว่าใครก็ตาม ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ควรมีทมะ ไว้สำหรับดูแล ควบคุมอารมณ์ ไม่ให้ระเบิดออกมา



ถ้าอยากจะมีความผาสุก ความสบายในชีวิต ขอให้นำธรรมทั้ง ๔ ประการนี้คือ จาคะ การเสียสละ แบ่งปัน สัจจะ ความจริงใจ ขันติ ความอดทน และ ทมะ การอดกลั้น ข่มใจ เป็นธรรมะประจำใจ ท่านจะอยู่ในสังคมได้ด้วยความร่มเย็นผาสุก และบุคคลที่อยู่ใกล้กับท่าน ก็จะมีความร่มเย็นผาสุกตามไปด้วย การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้











.

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

ฆราวาสธรรม หรือ ธรรมสำหรับชีวิตครองเรือน ๔ ประการ



๑.สัจจะ ความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน เป็นหลักสำคัญที่จะให้เกิดความไว้วางใจและไมตรีจิตสนิทต่อกันขาดสัจจะเมื่อใดย่อมเป็นเหตุให้เกิดความหวาดระแวงแคลงใจกันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความร้าวฉาน ซึ่งยากนักที่จะประสานให้คืนดีได้ดังเดิม


๒.ทมะ การรู้จักบังคับควบคุมอารมณ์ ข่มใจระงับความรู้สึกต่อเหตุบกพร่องของกันและกัน รู้จักฝึกฝนปรับปรุงตน แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับนิสัยและอัธยาศัยให้กลมกลืนประสานเข้าหากันได้ ไม่เป็นคนดื้อด้านเอาแต่ใจและอารมณ์ของตน คนที่ขาดธรรมข้อนี้ ย่อมปล่อยให้ข้อแตกต่างปลีกย่อยทางอุปนิสัยและการอบรม กลายเป็นเหตุแตกแยกสามัคคีใหญ่โต และถ้าไม่สามารถปรับตนเข้าหากันได้ ก็เป็นอันต้องทำลายชีวิตคู่ครองแยกทางขาดจากกัน


๓.ขันติ ความอดทน อดกลั้น ต่อความหนักและความร้ายแรงทั้งหลาย ชีวิตของผู้อยู่ร่วมกัน นอกจากมีข้อแตกต่างขัดแย้งทางอุปนิสัย การอบรม และความต้องการบางอย่าง ซึ่งจะต้องหาทางปรับปรุงเข้าหากันแล้วบางรายอาจจะมีเหตุล่วงเกินรุนแรง แสดงออกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจะเป็นถ้อยคำหรือกิริยาอาการ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรู้จักอดกลั้นระงับใจ ไม่ก่อเหตุให้เรื่องลุกลามกว้างขยายต่อไปความร้ายจึงจะระงับลงไป นอกจากนี้ ยังจะต้องมีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ และเรื่องหนักใจต่างๆ ในการประกอบการงานอาชีพเป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติ ความตกต่ำคับขัน ไม่ตีโพยตีพาย แต่มีสติอดกลั้นคิดอุบายใช้ปัญญาหาทางแก้ไขเหตุการณ์ให้ลุล่วงไปด้วยดี ชีวิตของคู่ครองที่ขาดความอดทน ย่อมไม่อาจประคับประคองพากันให้รอดพ้นเหตุร้ายต่างๆ อันเป็นประดุจมรสุมแห่งชีวิตไปได้


๔.จาคะ ความเสียสละ ความเผื่อแผ่ แบ่งปันตลอดถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ชีวิตบุคคลที่จะมีความสุข จะต้องรู้จักความเป็นผู้ให้ด้วย มิใช่คอยจ้องแต่จะเป็นผู้รับเอาฝ่ายเดียว การให้ในที่นี้ มิใช่หมายแต่เพียงการเผื่อแผ่แบ่งปันสิ่งของอันเป็นเรื่องที่มองเห็นและเข้าใจได้ง่ายๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่กัน การแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ตลอดจนการเสียสละความพอใจและความสุขส่วนตนได้ เช่น ในคราวที่คู่ครองประสบความทุกข์ ความเจ็บไข้ หรือมีธุระกิจใหญ่เป็นต้น ก็เสียสละความสุขความพอใจของตน ขวนขวายช่วยเหลือ เอาใจใส่ดูแล เป็นที่พึ่งอาศัย เป็นกำลังส่งเสริม หรือช่วยให้กำลังใจได้โดยประการใดประการหนึ่ง ตามความเหมาะสมรวมความว่า เป็นผู้จิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละ ไม่คับแคบเห็นแก่ตัว ชีวิตครอบครัวที่ขาดจาคะ ก็คล้ายการลงทุนที่ปราศจากผลกำไรมาเพิ่มเติม ส่วนที่มีมาแต่เดิมก็คงที่หรือค่อยร่อยหรอพร่องไป หรือเหมือนต้นไม้ที่มิได้รับการบำรุง ก็มีแต่อับเฉา ร่วงโรย ไม่มีความสดชื่นงอกงาม


ธรรม ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะดังกล่าวมานี้ มิใช่ประสงค์เป็นข้อปฏิบัติจำกัดเฉพาะในระหว่างคู่ครองเพียง ๒ คนเท่านั้น แต่มุ่งหมายให้ใช้ทั่วไปในชีวิตการครองเรือนทั้งหมด โดยยึดถือเป็นคุณธรรมพื้นฐานของจิตใจ ในการที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีงามกับคนทั้งหลายที่จะอยู่ร่วมหรือติดต่อเกี่ยวข้องกันให้เหมาะสมตามฐานะนั้นๆ เพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ชีวิตของตนเอง และแก่ชีวิตของคนอื่นๆ ในสังคม


http://www.geocities.com/sakyaputto/kharavastham.htm







.

แสดงความคิดเห็น