*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย

พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย
พิธีทำบุญต่ออายุ
การชักบังสกุลเป็น
ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น
ชีวิตของมนุษย์เรามีความเกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีมาโดยตลอด ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวันตายคราวนี้ เป็นเรื่องราวรายละเอียดประเพณี พิธีกรรมที่เกี่ยวกับความตายและการทำบุญให้แก่ผู้ล่วงลับ

การ เกิด แต่ เจ็บ ตายเป็นสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดมาสำหรับชีวิตมนุษย์ทุกรูปนามโดยเท่าเทียมกันดังมีคำกล่าวที่ว่า"มรณัง อนตีโต"คือเราจะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้
ธรรมชาติของน้ำ คือ ความเหลว ธรรมชาติของคน คือความตาย
แม้ว่าความตายจะเป็นสิ่งที่มนุษย์เกรงกันมาก แต่ก็ไม่เคยมีใครหลีกหนีพ้นได้มีผู้คนเป็นจำนวนมากพยายามคิดค้นหาตัวยา หรือหนทางที่จะให้มีชีวิตอยู่อมตะแต่ยังไม่เคยมีใครประสบผลสำเร็จฉะนั้นเมื่อมนุษย์ทุกคนมีความตายเป็นของคู่กับการเกิดจึงไม่ควรเกรงกลัวกับความตายจนเกินเหตุแต่สิ่งที่ควรคำนึงคือการกระทำเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ควรพิจารณาว่าเราได้ประกอบคุณงามความดีและสร้างบุญกุศลเอาไว้ได้มากน้อยแค่ไหนในช่วงที่มีโอกาสเหลืออยู่
พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตายมีอยู่มากหลายอย่าง อาทิ
  • พิธีทำบุญต่ออายุ
  • การชักบังสุกุลเป็น
  • การบอกหนทางผู้ป่วย
  • พิธีการทำศพ
ในสมัยโบราณ เมื่อมีผู้ป่วยหนักเห็นว่าจะมีโอกาสรอดได้น้อย บรรดาญาติๆ หรือลูกหลาน จะนิมนต์สงฆ์มาสวดพุทธมนต์บทโพชฌงค์ และชักบังสุกุล นอกจากนี้ยังมีพิธีทำบุญต่ออายุให้แก่คนชราทั่วๆไปซึ่งลูกหลานจะเป็นผู้จัดให้ คือกระทำก่อนที่จะเจ็บป่วยถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อส่วนใหญ่เป็นการทำพิธีทางศาสนา คือนิมนต์พระมาสวดพระปริตรและทำบุญอุทิศส่วนกุศลโดยมากลุกหลานจะกระทำให้ทุกๆปี หรือทุกๆ ๕ ปีข้อนี้แล้วแต่ความสะดวกและเห็นสมควร
 
ประวัติความเป็นมา
การสวดโพชฌงค์ หรือ การสวดหลักธรรมชั้นสูงอันเป็นองค์แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ ซึ่งพระอริยเจ้าเมื่อระลึกถึงสามารถคลายความทุกขเวทนา ในเวลาอาพาธนั้นได้ดังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพุทธตำนาน ดังนี้
เมื่อคราวที่พระมหากัสสปะแลพระโมคคัลลานะอาพาธ พระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนาบทโพชฌงค์โปรดทำให้พระอริยเจ้าทั้งสองคลายจากความทุกขเวทนาหายอาพาธ
อีกคราวหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์ทรงประชวรได้ตรัสให้พระมหาจุนทะแสดงบทโพชฌงค์ให้ฟังซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงหายประชวรเช่นกัน
การชักบังสุกุลเป็น
สำหรับการสวดบังสุกุลเป็น คือการนำผ้ามาคลุมร่างคนเจ็บไว้ทั้งตัว ให้พระสงฆ์จับชายผ้า กล่าวคาถาเป็นภาษาบาลีว่า
อะจิรัง วะตะยัง กาโย
ปะฐะวิง อะธิเสสสะติ
ฉุฑโฑอะเปตะวัญญาโณ
นิรัตถังวะ กะลิงคะรัง ฯ
แปลใจความได้ว่า กายนี้ไม่นานหนอจักเป็นของเปล่าๆ ปราศจากวิญญาณทับถมแผ่นดิน ดังท่อนไม้อันหาประโยชน์มิได้ฉะนั้น ฯ
เป็นการช่วยให้คนป่วยหรือคนชรามีกำลังใจ ทั้งจากบทสวดและการที่ลูกหลานมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันด้วยความรักและระลึกถึงว่าคนชราผู้นี้เคยเป็นดังร่มโพธิ์ร่มไทรที่เคยให้ความร่มเย็นแก่ลูกหลานหากคนชราถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง โดยเฉพาะเมื่อยามเจ็บป่วยจะขาดกำลังใจเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ประเพณีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพุทธมนต์บทโพชฌงค์และชักบังสุกุลแก่ผู้ที่กำลังป่วยหนัก จึงกระทำสืบเนื่องกันมาในภาคอีสานจะมีพิธีสวดขวัญให้แก่คนไข้ที่กำลังเจ็บหนัก และทำพิธีค้ำต้นโพธิ์ต่ออายุพิธีตวงข้าวล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำบุญและสร้างขวัญกำลังใจทั้งสิ้น
บางคนเมื่อเจ็บป่วยหนัก อาจจะทำบุญต่ออายุด้วยการปล่อยนกปล่อยปลาปล่อยเต่า บางทีก็ไปซื้อสัตว์เป็นๆ จำพวกเป็ด ไก่ หมู วัวควาย ที่เขากำลังจะฆ่าไปปล่อย ถือเป็นการไถ่อายุ
การบอกหนทางคนป่วย

ไม่ว่าจะกระทำพิธีต่ออายุหรือพยายามรักษาพยาบาลอย่างไรก็ตามเมื่อถึงกำหนดแห่งการสิ้นอายุขัย ทุกคนก็ต้องตายละสังขารไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเมื่อคนป่วยเจ็บหนักใกล้จะหมดลมหายใจญาติพี่น้องจะจัดเตรียมกรวยสำหรับใส่ดอดไม้ธูปเทียนซึ่งทำจากใบตองนำมาใส่มือให้แก่ผู้ป่วยที่พนมไว้และทำการบอกหนทาง คือ บอกหรือกระซิบข้างหูว่าให้นึกถึงพระอรหันต์ หรือภาวนา
อรหัง สัมมา ฯลฯ
เหตุแห่งการบอกหนทางเช่นนี้เพราะมีความเชื่อกันว่า คนเราเมื่อจะหมดลมหายใจวิญญาณจะออกจากร่าง แต่จะไปสู่สุคติหรือทุกขคติ ย่อมขึ้นอยู่กับจิตสำนึกครั้งสุดท้าย การบอกหนทางแก่ผู้ตายก็เพื่อให้ดวงวิญญาณได้ไปสู่สุคติหรือสู่สัมปรายภพ คือภพใหม่ที่ดี
ตำนานความเป็นมา
มีคตินิยามเกี่ยวกับเรื่องกรวยดอกไม้ธูปเทียนและการบอกหนทางแก่ผู้ตายอยู่ว่า พรานป่าผู้หนึ่งเมื่อมีชีวิตอยู่ได้ล่าสัตว์ขายเป็นอาชีพครั้นเมื่อเจ็บหนักใกล้จะหมดลมหายใจได้เห็นวิญญาณของสัตว์ที่ตนเคยฆ่าจำนวนมากมาปรากฏอยู่ตรงหน้าจึงเกิดความสะดุ้งหวาดกลัวต่ออกุศลที่กระทำไว้พรานได้บอกเรื่องราวแก่ภิกษุลูกชายของตน
ภิกษุผู้เป็นลูกชายของพรานได้ให้บิดาพนมมือแล้วจัดกรวยดอกไม้ธูปเทียนใส่ในมือเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย ครั้นเมื่อบิดาใกล้จะหมดลมหายใจภิกษุได้เตือนให้บิดาของตนรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัย โดยกล่าวคำว่า
สัมมา อรหัง หรือ สัมมา สัมพุทโธให้นึกถึงพระอรหันต์
คนเจ็บใกล้หมดลมหายใจเราเรียกว่าอยู่ในช่วงใกล้มรณะญาณ โสตประสาทและจักษุประสาท (หูและตา) ยังไม่ดับสนิทเมื่อเห็นอาการว่าใกล้จะหยุดหายใจ ให้พยายามดูแลใกล้ชิดนำกรวยดอกไม้ธูปเทียนที่จัดเตรียมไว้ใส่มือพนม พร้อมบอกหนทางแก่คนเจ็บ
คนโบราณเชื่อว่าควรให้คนป่วยได้ใส่เสื้อผ้าชุดใหม่และนำเงินติดกระเป๋าให้ด้วยเพราะเมื่อดวงวิญญาณออกจากร่างแล้ว จะได้ใส่เสื้อผ้าชุดใหม่และมีเงินทองติดกระเป๋าสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสู่โลกของวิญญาณ



ลางบอกเหตุแห่งการมรณะ
ก่อนที่จะถึงมรณะญาณจะมีสิ่งบอกเหตุหลายอย่างสำหรับคนป่วย เช่น กินสั่งลา ไฟธาตุแตก เป็นต้น
กินสั่งลา คืออาการของคนป่วยที่เจ็บหนักมาเป็นเวลานาน กินข้าวกินน้ำไม่ค่อยได้ แล้วจู่ๆ ก็มีอาการเหมือนหายป่วย ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ขอข้าวขอน้ำกินหลังจากนั้นอีกไม่นานก็จะหมดลมหายใจหรือตายอย่างสงบ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า กินสั่งลา
ไฟธาตุแตกคนป่วยจะปล่อยอุจจาระปัสสาวะออกมาอย่างไม่รู้ตัว ลูกหลานจะรีบทำความสะอาดและเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ให้ สิ่งที่น่าสังเกตุก็คือคนไข้หรือคนชราที่นอนเจ็บอยู่นั้น ตัวจะเย็นผิดปกติหากเย็นจากปลายเท้ามาขึ้นตามลำดับเรียกว่า ตายขึ้นหากตายแล้วร่างกายจะเย็นจากตัวลงสู่ปลายเท้า เรียกว่า ตายลง เป็นภาษาชาวบ้าน
มีคติความเชื่ออันหนึ่ง กล่าวว่าหากมีนกแสกมาเกาะที่หลังคาบ้านที่มีคนป่วย หรือบินผ่านพร้อมส่งเสียงร้องในเวลากลางคืน แสดงว่าคนป่วยนั้นถึงกาลหมดอายุ เพราะนกแสกเป็นพาหนะของพญายม
ของถูกผีทับ

เป็นคติความเชื่อของชาวบ้านว่าเมื่อก่อนที่คนเจ็บจะหมดลมหายใจ ต้องนำยาที่ใช้รักษาพยาบาลออกไปไว้นอกบ้านมิฉะนั้น เมื่อคนเจ็บตาย ยานั้นเรียกว่าของถูกผีทับไม่สามารถนำมาใช้ได้เพราะคุณภาพเสื่อมบางทีเชื่อถึงขนาดต้องนำคาถาเลขยันต์ของศักดิ์สิทธิ์ออกไปนอกตัวบ้านก่อนที่คนเจ็บจะตาย มิฉะนั้นของจะเสื่อมต้องนำไปถวายวัดหรือนำไปเข้าพิธีปลุกเสกใหม่เป็นคติความเชื่อของคนโบราณซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยยึดถือปฏิบัติกันแล้ว
การจุดเทียนขี้ผึ้ง

ในสมัยโบราณ เมื่อคนเจ็บสิ้นลมหายใจแล้วให้จุดเทียนขี้ผึ้งหนัก ๑ บาทมีไส้ ๗ ไส้ไว้จนกว่าเทียนดับเป็นอันสิ้นสงสัยเพราะคนป่วยตายแน่ทั้งนี้เนื่องจากบางทีคนป่วยอาจสลบหรือเพียงหมดสติไปชั่วคราวเท่านั้นจึงไม่ผลีผลามรีบร้อนจัดการศพในทันทีที่สิ้นใจ

การเฝ้าศพหรือเฝ้าผี
หากมีคนตายในบ้านในเวลาค่ำไม่สามารถนำศพบรรจุโลงได้ทัน จะต้องมีการนอนเฝ้าศพหรืออยู่เป็นเพื่อนศพโดยการนำผ้าขาวหรือผ้าห่มมาคลุมศพไว้ตั้งแต่หัวถึงเท้าจุดตะเกียงหรือเปิดไฟให้สว่าง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความวังเวงน่ากลัวนั่นเอง

คติความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำ
คนโบราณเชื่อกันว่า ถ้าแมวดำกระโดดข้ามศพจะทำให้ศพนั้นผุดลุกขึ้นมาหรือทำให้ปีศาจคนองด้วยเหตุนี้หากศพนอนอยู่ในที่ซึ่งมีฝาเรือนกั้นไม่มิดชิดต้องกางมุ้งให้ศพด้วยบางท้องที่จะให้ศพนอนตรงรอด หรือขื่อบ้านหันหัวศพไปทางทิศตะวันตกเพราะเชื่อกันว่าเป็นทิศของคนตายด้วยเหตุนี้จึงถือคติไม่นอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก
คติความเชื่อเกี่ยวกับการกางมุ้งให้ศพ
การนำผ้าห่มมาคลุม หรือกางมุ้งให้ศพก็เพื่อไม่ให้มองเห็นแล้วเกิดความกลัว ต้องระวังอย่ายกหรือถือข้าวของข้ามศพเพราะถือเป็นการไม่ให้ความเคารพบางคนมีคติความเชื่อว่าต้องกางมุ้งให้ศพเพียง ๒ หูคร่อมศพไว้และเมื่อคนป่วยสิ้นใจลูกหลานอาจร้องไห้เศร้าโศกอาลัยรักควรระวังอย่าให้น้ำตาไปโดนร่างของศพเพราะเชื่อกันว่าจะทำให้วิญญาณของผู้ตายเป็นห่วงลูกหลานไม่ยอมไปสู่สุคติ
การอาบน้ำศพ - พิธีรดน้ำศพ
การอาบน้ำศพเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งในพิธีทำศพซึ่งจะทำกันก่อนนำศพใส่โลง เหตุที่ต้องมีการอาบน้ำศพเพราะต้องการให้ร่างกายของคนตายสะอาดบริสุทธิ์เช่นเดียวกับที่พวกพราหมณ์ในอินเดียลงอาบน้ำชำระบาปในแม่น้ำ
ในสมัยโบราณการอาบน้ำศพจะทำการอาบกันจริงๆ คือต้มน้ำด้วยหม้อดิน ซึ่งในหม้ออาจใส่ใบไม้ต่างๆต้มลงไปด้วยเช่น ใบหนาด ใบส้มป่อย ใบมะขามใบหนาดนั้นถือกันว่าเป็นใบไม้ทีผีกลัวและใช้ปัดรังควานได้
การอาบน้ำศพจะอาบด้วยน้ำอุ่นก่อนแล้วจึงอาบด้วยน้ำเย็นอีกครั้ง ฟอกด้วยส้มมะกรูด เมื่อล้างจนสะอาดหมดจดแล้วจึงฟอกด้วยขมิ้นชันสดและผิวมะกรูดตำละเอียดต่อจากนั้นจึงทำการแต่งตัวให้ศพ
แต่การอาบน้ำศพในปัจจุบัน เรียกว่าพิธีรดน้ำศพคือใช้น้ำพุทธมนต์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าน้ำมนต์ ผสมกับน้ำฝนหรือน้ำสะอาดบางทีใช้น้ำอบไทยร่วมด้วยเพื่อให้เกิดความหอม เมื่อถึงเวลาอาบน้ำศพซึ่งจะทำกันหลังจากที่คนป่วยตายไม่นานนักเพราะศพยังสดอยู่ญาติมิตรและผู้คนทั่วไปกล้าที่จะเข้าใกล้ เนื่องจากยังไม่มีกลิ่นหรือขึ้นอืดสัปเหร่อหรือผู้ใหญ่จะจัดให้ศพนอนในที่อันสมควรจับมือข้างหนึ่งยื่นออกมายังหมอนใบเล็กที่รองรับ
ลูกหลานของผู้ตายจะทำหน้าที่ใช้ขันใบเล็กๆ ตักน้ำมนต์จากขันใหญ่ส่งให้กับผู้ที่มาทำการรดน้ำศพโดยการเทน้ำลงบนมือของผู้ตาย กล่าวคำไว้อาลัยหรือกล่าวขอให้วิญญาณของผู้ตายจงไปสู่สุคติไม่ต้องห่วงอาลัยมีกังวล
ปริศนาธรรมในการทำพิธีรดน้ำศพ

การรดน้ำศพเป็นปริศนาธรรม ให้เห็นว่าคนเราเมื่อตายไปแล้วแม้นำของหอมหรือน้ำอบน้ำมนต์ใดๆ มาราดรด ก็ไม่อาจที่จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ควรประมาทเร่งขวนขวายสร้างบุญกุศลและคุณงามความดีไว้ เพราะท่านยังโชคดีที่มีโอกาสได้กระทำส่วนคนที่ตายนั้นหมดโอกาสไปแล้ว

การแต่งตัวให้ศพ การหวีผมให้ศพและปริศนาธรรม
เมื่อทำพิธีอาบน้ำศพเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องจัดการแต่งตัวหวีผมศพให้เรียบร้อย เกี่ยวกับการหวีผมให้ศพนั้นมีคติความเชื่อเป็นหลายนัย บ้างให้หวีสามหนเท่านั้นบ้างก็ว่าให้หวีกลับไปข้างหน้าซีกหนึ่งไปข้างหลังอีกซีกหนึ่งหมายถึงหวีสำหรับคนตายครึ่งหนึ่งสำหลับคนเป็นครึ่งหนึ่ง
หลังจากหวีผมเสร็จจะต้องหักหวีที่ใช้ทิ้งหรือโยนใส่ไปในโลงศพ ตอนหักหวีให้กล่าวเป็นภาษาบาลี "อนิจจังทุกขัง อนัตตา" เป็นปริศนาธรรม หมายถึงความไม่เที่ยงแห่งสังขาร แม้หวีดีๆ ก็ยังต้องหักเป็นท่อนใช้การไม่ได้ในวันหนึ่งชีวิตของมนุษย์เราก็เช่นกัน
หวีที่ใช้หวีผมให้ศพนั้นคนเป็นจะไม่นำมาใช้อีก จึงต้องหักทิ้ง

การนุ่งผ้าให้ศพ

เมื่ออาบน้ำ หวีผม ให้ศพเสร็จแล้ว ต่อไปก็เป็นการนุ่งผ้าแต่งตัวให้ศพซึ่งจะกระทำไม่เหมือนกับการแต่งตัวของคนเป็น คือ
๑. ให้ใช้ผ้าขาวนุ่งในชั้นแรกเอาชายพกไว้ข้างหลังแล้วนำเสื้อขาวมาสวมให้โดยเอารังดุมไว้ข้างหลังให้ต่างกับการใส่เสื้อคนเป็นแล้วเย็บเนาเป็นตะเข็บลงมาหาเอวทั้ง ๒ ข้าง ให้ห่มผ้าเฉียงจากขวามาซ้าย
๒. เสร็จแล้วจึงนำเสื้อผ้าใหม่อีกชุดหนึ่งมาสวมใส่ทับข้างนอกอย่างที่คนธรรมดาใส่กันทั่วไปตามปกติ

ปริศนาธรรมของการนุ่งผ้าให้ศพ

การแต่งตัวนุ่งห่มให้ศพของคนโบราณแบบนี้เป็นปริศนาธรรมให้เห็นว่า คนเราเกิดด้วยทิฏฐิ ตายด้วยทิฏฐิ อวิชชาปิดหน้าปิดหลังการนุ่งห่มอย่างแรกหรือชั้นแรกที่อยู่ข้างใน หมายถึงความตาย การนุ่งห่มชั้นนอกหมายถึงการเกิด อันคนเรามีเกิดแล้วก็มีวันดับวนเวียนอยู่ในสังสารวัฎ
ในปัจจุบัน ไม่ค่อยได้ทำพิธีอาบน้ำศพแต่งตัวและนุ่งผ้าศพอย่างสมัยโบราณกันแล้ว คงมีแต่การรดน้ำศพที่มีดังกล่าวมาแล้วส่วนเสื้อผ้านั้นนิยมสวมใส่ชุดใหม่ให้ศพ
การทำศพของคนโบราณมีปริศนาธรรมอยู่ทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มรดน้ำศพ ไปจนถึงตอนเผา
ประเพณีที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการทำศพอีก ๒ อย่างที่ยึดถือกันมา คือ
  • การตำหมากใส่ปากศพ และ
  • การนำเงินใส่ปากศพ
การตำหมากใส่ปากศพ
เมื่อทำพิธีอาบน้ำแต่งตัวและรดน้ำศพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตำหมากใส่ปากศพ ๑คำหรือถ้าคนตายยังมีฟันอยู่ ก็ใช้หมากเจียนพลูที่เป็นคำๆ หักใส่ปากศพเป็นปริศนาธรรมว่า แม้หมากพลูที่คนตายเคยชอบนักหนาเมื่อตายแล้วก็ไม่สามารถเคี้ยวกินได้ขนาดตำป้อนให้แล้วก็ยังไม่รู้จักเคี้ยวไม่รู้จักคาย หรือแม้แต่ทรัพย์สมบัติทั้งหลายตายไปก็ไม่มีใครนำติดตัวไปได้นอกจากบุญกุศลและคุณความดีที่สร้างไว้เท่านั้นที่จะติดตัวไป
การนำเงินใส่ปากศพ
การนำเงินใส่ปากศพ มีคติที่มาหลายนัยบ้างว่าเป็นปริศนาธรรมเช่นเดียวกับการตำหมากใส่ปากศพ คือตายแล้วก็ไม่สามารถเอาทรัพย์สินติดตัวไปไม่ได้แม้เงินที่อมไว้ในปากสัปเหร่อก็ล้างเอาไปเสียอีกนัยหนึ่งบอกว่าคนสมัยโบราณเอาเงินใส่ปากศพเพื่อให้สัปเหร่อเป็นค่าจ้างเผา
บางคติว่าเงินที่ใส่ปากศพนั้นสำหรับให้วิญญาณของคนตายใช้เป็นค่าเดินทาง หรือค่าจ้างสำหรับคนพายเรือที่ทำหน้าที่พาดวงวิญญาณของผู้ตายข้ามแม่น้ำไปสู่ดินแดนของคนตายหรือโลกของวิญญาณ
นอกจากคนไทยแล้ว ชนชาติอื่นๆ เช่น จีน กรีกโบราณยิว ฯลฯ ก็มีการนำเงินใส่ปากศพโดยมีคติเกี่ยวกับความเชื่อแตกต่างกันไป
การปิดหน้าศพ
ในสมัยโบราณการทำศพบางแห่งจะมีการปิดหน้าศพด้วยขี้ผึ้งหนาประมาณครึ่งนิ้วกว้างพอปิดหน้าศพได้พอดีบางทีปิดเฉพาะดวงตาและปากเท่านั้น หรือใช้ผ้าปิดแทนทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันภาพอุจาดตาและป้องกันไม่ให้แมลงมาวางไข่
การมัดตราสัง
ก่อนนำศพใส่โลก ต้องทำพิธีมัดตราสังด้วยด้ายสายสิญจน์ นิยมมัดเป็น ๓ เปลาะ คือที่คอ ที่มือและที่เท้า มีผู้แต่งคำโครงอธิบายปริศนาธรรมของการมัดตราสังเป็น ๓เปลาะไว้ดังนี้
มีบุตรห่วงหนึ่งเกี้ยว
พันคอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ
หน่วงไว้
ภริยาเยี่ยงอย่างปอ
รึงรัด มือนา
สามห่วงใครพ้นได้
จึงพ้นสงสาร

ในการมัดตราสังศพ
  • เมื่อนำบ่วงคล้องคอ สัปเหร่อจะว่าคาถา ปุตโต คีวหมายความว่า ลูกคือห่วงผูกคอ เมื่อเวลามัดว่าคาถารัดประคดอก เป็นห่วงที่๑
  • แล้วโยงเชือกมากลางตัว ทำเป็นห่วงตะกรุดเบ็ดผูกหัวแม่มือของศพที่พนมมือกรวยดอกไม้ธูปเทียนอยู่ รวบมือศพผูกให้พนมไว้ที่หน้าอกว่าคาถา ธน หตุเถ ความหมายว่า ทรัพย์คือห่วงผูกมือ ในเวลามัดว่าคาถารัดประคดเอวเป็นห่วงที่ ๒
  • แล้วโยงเชือกมาที่เท้าทำเป็นบ่วงผูกหัวแม่เท้ารวบรัดเท้าผูกให้ข้อเท้าทั้งสองติดกันว่าคาถา ภริยา ปาเท หมายความว่า ภรรยา คือห่วงผูกเท้าเป็นห่วงที่ ๓ (แม้ศพผู้หญิงก็ว่าคาถาแบบเดียวกัน) บางตำราว่าใช้คาถา ธน ปาเทไม่ใช่ ภริยา ปาเท และบางตำราก็ให้ผูกจากเท้าขึ้นมาก่อน
เสร็จแล้วให้เอาผ้าขาวผืนใหญ่ห่อตัวศพโดยขมวดไว้ด้านศีรษะ เพื่อจะได้เป็นการสะดวกเมื่อเวลาเปิดเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพก่อนเผา แล้วเอาด้ายดิบขนาดนิ้วหัวแม่มือมัดเป็นเปลาะๆ ให้แน่นเป็น ๕ เปลาะ เป็นปริศนาธรรม หมายถึง นิวรณ์ ๕ คือ
๑. กามฉันทะ
๒.ความพยาบาท
๓. ความง่วงเหงาหาวนอน
๔.ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
๕. ความลังเลใจ
ทั้ง ๕ ประการนี้คือสิ่งขวางกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี
เหตุที่ต้องมัดศพอย่างแน่นหนาเพราะในสมัยโบราณไม่มียาสำหรับฉีดรักษาศพจึงต้องมัดไว้ให้ดีเพื่อให้ผ้าซับเลือดน้ำเหลืองและป้องกันโลงแตกเพราะศพขึ้นอืด

พิธีเบิกโลง
พิธีเบิกโลงในแต่ละท้องที่อาจมีแตกต่างกันไปบ้างหลังจากทำพิธีมัดตราสังเสร็จแล้ว จะไม่นำศพใส่โลงในทันที ต้องทำพิธีเบิกโลงก่อน โดย
  • เอาไม้ไผ่มาจักเป็นซีกเล็กๆ ทำเป็นบันได ๔ ขั้น หรือให้มี๓ ช่องกว้างยาวเท่ากับโลง สำหรับวางบนปากโลง
  • เอาเฝือกผืนหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่ ๗ ซีกถักติดกันเหมือนแร่งวางก้นโลงเอาผิวไม้ขึ้น ไว้ระยะห่างเพื่อรองรับอย่างเสื่อ
  • แล้วจึงเอาไม้ไผ่มาผ่าให้โตขนาดนิ้วก้อย ยาวพอสมควรผ่าข้างหนึ่งสำหรับคาบปากโลงเป็นระยะจนครบ ๘ อันเป็นทำนองไม้ตับปิ้งปลาและผ่าอีกข้างหนึ่งสำหรับคาบสายสิญจน์วางทางขวาก่อนให้รอบโลง ไม้นี้เรียกว่าปากกาจับโลง
  • เอาเทียน ๘ เล่มพาดที่ปากโลงระหว่างปากกาทั้ง ๘ ช่องกับมีกระทงใบตองขนาดเล็กใส่กุ้งพล่าปลายำ หรือจะเป็นอาหารอย่างอื่นๆ ก็ได้นำมาวางบนปากโลงทั้ง ๘ ช่องใกล้เทียนที่ติดไว้ ให้เป็นเครื่องสังเวยเทพทั้ง ๘ทิศ
  • สัปเหร่อจะทำน้ำมนต์สำหรับรดโลงต้องเตรียมขันและเทียนติดพาดปากขันเล่มหนึ่ง เงินค่ายกครู แต่ก่อนประมาณ ๖สลึง
  • สัปเหร่อจุดเทียนเป็นคู่ๆ ตั้งแต่ด้านปลายเท้าไปด้านศีรษะแล้วตั้งต้นทำน้ำมนต์ธรณีสาร ใช้สำหรับประพรมแก้เสนียดจัญไรแล้วว่าคาถา
    สิโรเม พุทธเทวญจ
    นลาเฏ พรหมเทวตา
    หทย นรายกญเจว
    เทวหตปรเม สุราฯ
    ปาเท วิสสณุกญเจว
    สพพกมมา ปสิทธิ เม
    เป็นการเชิญ พระพุทธ พระธรรม พระนารายณ์พระปรเมศวร พระวิศวกรรม มาเข้าสิงกายให้ทำกรรมต่างๆ สำเร็จ บทตั้งแต่ สิทธิกิจจเป็นบทให้พระเจ้าเรือน มีดังนี้
    สิทธิกิจจสิทธิกมม
    สิทธการิย ตถาคโต
    สิทธิลาโภนิรนตร
    สิทธิเตโช ชโย นจจ
    สิทธิกมม ปสิทธิเม
    สพพสิทธิ ภวนตุ เม
  • เสร็จแล้วสัปเหร่อจะนำน้ำมนต์ลูบหน้าเสยผม ๓ ครั้งประพรมโลง ๓ หน หยิบเทียนที่ติดปากโลงมาจุดด้ายสายสิญจน์ที่วงรอบโลงจุดเทียนเป็นคู่ๆ จากปลายเท้าให้ไหม้ขาดทุกช่อง เว้นช่องด้านสกัดที่จะใช้เป็นหัวโลงเอามีดหมอ กดด้ายสายสิญจน์ที่กลางหัวโลงเสกคาถาว่าพุทธปจจกขามิ ธมม หจจกขามิ สงฆ ปจจกุขามิ๓ หน
  • ความนี้สัปเหร่อจะถามว่า โลงของใคร ลูกหลานก็ตอบว่าโลงของ...(ชื่อผู้ตาย) หรือบางที สัปเหร่อก็ถามเองตอบเอง บางทีถามหนเดียวบางทีก็ถามตอบอย่างนั้น ๓ หน
  • เสร็จแล้วสัปเหร่อจึงเอามีดหมอสับปากโลง ๓ ครั้งโดยการสับตรงกลางก่อน แล้วจึงสับซ้ายขวา หรือบางทีสับเป็นรูปกากบาทเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายว่าด้านนี้เป็นทิศศีรษะหัวโลง
  • ต่อจากนั้น จึงผลักเครื่องเซ่น ไม้ปากกา เทียนและด้ายสายสิญจน์ที่เหลืออยู่ลงไปในโลงให้หมดเอาใบตองบางทับเฝือกและของที่ผลักลงใส่โลงส่วนใหญ่นิยมใช้ใบตองต้นกล้วยตานีที่ใบไม่แตกยอดไม่หัก ๓ ยอดมาปู
    ด้วยเหตุนี้ในการตัดใบตองมาใช้ทั่วไป ชาวบ้านจึงหักยอดเสียก่อนเพราะใบตองที่ไม่ได้หักยอดถือว่าเป็นใบตองรองผี
    เฝือก ใบตองที่ใส่ในโลงศพล้วนเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น คือ ชี้ให้เห็นว่าร่างกายของเราก็เหมือนกับเฝือกที่นำไม้ไผ่มาสานต่อกันเป็นซี่ๆในที่สุดก็ต้องแยกสลายจากกัน
การนำศพไปวัด
การเคลื่อนย้ายศพไม่ว่าจะเพื่อนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัด เคลื่อนศพจากบ้านไปเผามีธรรมเนียมปฏิบัติดังนี้
  • หากเป็นการตั้งศพสวดอภิธรรมที่บ้านในวันเคลื่อนศพไปเผาที่วัด เจ้าภาพจะนิมนต์พระสงฆ์มาฉันเช้าที่บ้านส่วนใหญ่นิยมนิมนต์เพียง ๔ รูปหรือตามต้องการแต่เมื่อฉันเช้าเสร็จแล้วนิมนต์พระเพียง ๔ รูปทำหน้าที่จูงศพไปวัดหากมีลูกหลานผู้ตายบวชเณรหน้าศพ ก็ให้มาร่วมจูงศพด้วย โดยเดินต่อจากพระ
  • หากต้องการนำศพไปตั้งสวดอภิธรรมที่วัดก็ให้พระมาจูงศพเช่นเดียวกันหลังจากที่สัปเหร่อทำพิธีนำศพใส่โลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากมืดค่ำกะทันหันก็อาจตั้งศพไว้ที่บ้านคืนหนึ่งครั้นรุ่งเช้าจึงค่อยนิมนต์พระมาฉันเช้าแล้วจูงศพไปวัด

การเคลื่อนขบวนศพ
ในการเคลื่อนขบวนศพนั้นให้ลูกหลานของผู้ตายถือกระถางธูป และรูปของผู้ตายนำหน้าต่อมาจึงเป็นพระสงฆ์ ๔ รูปถือสายสิญจน์ที่ต่อมาจากการมัดตราสังศพและโยงออกมาหน้าโลงซึ่งสัปเหร่อได้จัดเตรียมไว้ไห้แล้วสายสิญจน์ที่ให้พระจับเวลาสวดศพทุกคืนก็ใช้เส้นเดียวกันนี้
สำหรับญาติพี่น้องคนอื่นๆ ก็ช่วยกันแยกโลงศพหรือนำศพตั้งไว้บนรถเข็นช่วยกันเข็นประคองตามกันไปเป็นขบวนเดินไว้อาลัยไปตลอดทางจนกว่าจะถึงวัดหากวัดอยู่ไกลจะใช้รถยนต์เป็นพาหนะในการเคลื่อนศพก็ได้หากไม่ต้องการนำรถของตนเองมาขนศพเพราะเชื่อเกี่ยวกับโชคลางก็สามารถขอเช่ารถของทางวัดหรือมูลนิธิได้
การนำศพออกจากบ้าน

เมื่อจะเริ่มเคลื่อนศพตามคติโบราณจะไม่ยกศพออกทางประตูเหมือนคนปกติ และไม่ให้ศพลอดใต้ขื่อบางทีก็ต้องรื้อฝาบ้านข้างหนึ่งเพื่อนำศพออกก็มีทั้งนี้เพราะเรือนสมัยก่อนประตูค่อนข้างเล็กและขื่อเตี้ยการยกศพต้องช่วยกันหลายคนจึงเบียดเสียดไม่สะดวกฝากระดานของบ้านสมัยก่อนสามารถถอดออกได้สะดวกเพราะใช้วิธีเข้าลิ่มไม่ได้ทำตายตัวเหมือนปัจจุบัน
เมื่อยกศพออกทางฝาบ้าน ต้องทำบันได ๓ขั้นไว้เป็นทางลง ไม่ลงบันไดเดียวกับคนเป็นใช้อยู่ประจำ บันได ๓ขั้นนี้ทำไว้ชั่วคราวไม่แข็งแรงนัก พอคนขึ้นลงก็หักโดยง่าย เป็นเคล็ดความเชื่อว่าทำให้วิญญาณไม่สามารถหาทางย้อนกลับมาบ้านได้ จะได้ไปผุดไปเกิดเสียไม่มัววนเวียนอยู่บนโลกด้วยความเป็นห่วงลูกหลานและทรัพย์สมบัติ
แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยถือเคร่งครัดเท่าไรนักเพราะบางทีฝาบ้านเป็นปูนหรืออิฐหากทลายเพื่อเอาศพออกคงเป็นเรื่องใหญ่แน่
การทำประตูป่า

ประตูป่า คือการนำกิ่งไม้มาปักไว้ตรงประตูที่จะนำศพออกจากบ้านโดยรวบกิ่งไม้มัดไว้เป็นซุ้มหรือคูหา เมื่อนำศพออกไปพ้นประตูแล้วก็ให้รื้อทิ้งเสียเพราะเชื่อกันว่า วิญญาณของผู้ตายจะกลับบ้านไม่ได้เพราะประตูป่าที่จำไว้เป็นเครื่องหมายถูกรื้อไปแล้ว หากมองเป็นปริศนาธรรมก็คือคนที่ตายไปแล้วย่อมไม่สามารถย้อนกลับหรือฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีกเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่หากไม่เร่งสร้างคุณงามความดีก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายเพราะคนตายนั้นไม่มีโอกาสเช่นเราอีกแล้ว
การชักฟาก ๓ ซี่
เป็นคติความเชื่อเช่นกันสมัยโบราณใช้ไม้ไผ่มาผ่าทำฟากเป็นซี่ๆ สำหรับปูพื้นเรือนและทำฝาเมื่อนำศพออกจากบ้านแล้ว ให้ซักฟากออก ๓ ซี่ เพื่อลวงไม่ให้วิญญาณจำบ้านได้และปริศนาธรรม อธิบายเกี่ยวกับเรื่องไตรลักษณ์ คือ รูป สังขาร วิญญาณล้วนเป็นสิ่งไม่เที่ยงไม่จีรังยั่งยืน เมื่อความตายมาเยือนไม่มีใครสามารถหลีกหนีได้ต้องละสังขารทิ้งร่างไว้เหมือนกับเรือนที่ว่างเปล่า
การตีหม้อน้ำและหม้อไฟนำศพ
ในสมัยโบราณ เมื่อนำศพออกจากบ้านแล้วจะมีการตีหม้อน้ำ ๓ ใบ ด้วยไม้ซีก (ไม่นิยมใช้ไม้ท่อนเพราะต้องหักทิ้ง)เมื่อตีหม้อดินใส่น้ำซึ่งเตรียมไว้แตกแล้ว ก็หักไม้ทิ้งเสียเป็นปริศนาธรรมหมายถึงการแตกสลายของสังขาร หรือธาตุต่างๆ เช่นธาตุน้ำที่มาชุมนุมกันเป็นร่างกายเมื่อแยกออกจากกันแล้วก็ต้องกลับไปเป็นธาตุเหล่านั้นเหมือนเช่นเดิม
สำหรับหม้อไฟ หรือตะเกียงที่จุดไว้หน้าศพนั้นเมื่อเวลาเผาศพก็นำใส่เข้าไปในกองฟืนขณะที่ตีหม้อน้ำทั้ง ๓ ใบทิ้งนั้นคนบนเรือนก็ใช้พัดโบกไปทั้ง ๔ ทิศ
การซัดข้าวสาร
การซัดข้าวสารในปัจจุบันไม่นิยมทำกันแล้วแต่สมัยโบราณเมื่อนำศพออกจากบ้านต้องทำการซัดข้าวสารหรือบางทีก็ซัดเกลือขึ้นไปบนหลังคาด้วย พร้อมว่าคาถา
คจฉ อมุมหิ พุทธปัด แปลใจความได้ว่าจงไปทางโพ้นเถิด พระพุทธเจ้าปัดแล้ว
เป็นการขับไล่เสนียดจัญไรหรือความอัปมงคลทั้งหลายให้จากไป
การโปรยข้าวตอกข้าวสาร
ในระหว่างที่เคลื่อนศพไปวัดนั้นบางทีมีการโปรยข้าวตอกหรือข้าวสารไปตลอดทาง เป็นปริศนาธรรมเตือนใจว่าข้าวตอกข้าวสารไม่งอกขึ้นมาได้อีกฉันใดคนที่ตายย่อมไม่อาจฟื้นขึ้นมาฉันนั้น
การใช้ไม้ขีดทางนำหน้า
การใช้ไม้ขีดทางนำหน้าเมื่อเคลื่อนขบวนศพก็เป็นปริศนาธรรมเช่นกัน หมายถึงการเดินตามกันไปเป็นวัฏสงสารในวันนี้เรานำศพคนตายไปเผา วันต่อๆ ไป ทุกคนก็ต้องไปตามเส้นทางสายนี้เช่นเดียวกันไม่มีใครสามารถหลีกหนีพ้นได้
ขบวนศพห้ามผ่านเรือกสวนไร่นา
ในสมัยโบราณหนทางยังไม่ค่อยสะดวกนักการหามศพต้องหามไปตามทางเดินจะลัดผ่านไร่นาของคนอื่นไม่ได้อาจเพราะมีความเชื่อเกี่ยวกับความตายว่าเป็นอัปมงคล หรือขบวนแห่มีคนเป็นจำนวนมากหากเดินตัดผ่านไร่นาอาจไปเหยียบข้าวกล้าพืชไร่ได้รับความเสียหาย
การเรียกบอกหนทางแก่วิญญาณผู้ตาย
เมื่อนำศพไปวัดขบวนแห่ศพผ่านที่ไหนลูกหลานผู้ตายก็จะเอามือเคาะโลงเพื่อบอกให้รู้ตัวไปตลอดทาง เช่นลงจากบ้านแล้ว เลี้ยวขวาไปตามทาง ผ่านโรงเรียนแล้ว ข้ามสะพานแล้ว ถึงวัดแล้วทั้งนี้เป็นคติความเชื่อว่า เพื่อให้วิญญาณของผู้ตายตามร่างไป
การไปงานศพ (ไปฟังพระสวด)
เมื่อไปถึงควรแสดงความเสียใจต่อเจ้าภาพแต่บางครั้งต้องดูตามสถานการณ์เพราะการพูดกระตุ้นให้เจ้าภาพเกิดความเศร้าโศกขึ้นมาอีกคงไม่เหมาะสมนัก บางทีเจ้าภาพยุ่งอยู่กับการต้อนรับแขกจนเกือบจะลืมเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียคนที่รักไปได้ชั่วคราวแล้วผู้ไปเคารพศพอาจแสดงออกด้วยอากัปกิริยาแทนคำพูดก็ได้
เจ้าภาพหรือตัวแทนของเจ้าภาพจะนำไปจุดธูปเคารพศพหากมีการจัดที่พุทธบูชาไว้ด้วยเช่น
เมื่อนำศพไปตั้งสวดอภิธรรมที่วัดต้องจุดธูปเทียนไหว้พระก่อน ด้วยธูปสามดอกแล้วจึงจุดธูปไหว้ศพเพียงดอกเดียวบางแห่งลูกหลานของผู้ตายจะคอยจุดธูปส่งให้กับแขก หากต้องจุดธูปเองควรใช้ไม้ขีดหรือจุดกับตะเกียงที่ตั้งไว้ต่างหากอย่ายื่นธูปไปจุดกับเทียนที่ตั้งไว้หน้าศพ เป็นการไม่เหมาะสม
หากนำพวงหรีดไปไว้อาลัยควรส่งให้เจ้าภาพหรือคนทีมีหน้าดูแลรับไปติดตั้ง ไม่ควรหาติดตั้งเอาเองตามใจชอบปัจจุบันไม่นิยมพวงหรีดที่ทำจากโฟมโดยทั่วไปจะใช้พวงหรีดที่ทำจากวัสดุธรรมชาติซึ่งย่อมสลายง่ายหรือใช้พวงหรีดที่ดัดแปลงมาจากผ้าเพราะเมื่อเสร็จงานแล้วเจ้าภาพสามารถถวายให้พระนำไปใช้ประโยชน์ได้
การสวดศพ
พระที่นิมนต์มาสวดพระอภิธรรมหน้าศพ นิยมนิมนต์เพียง ๔ รูป หากทำพิธีสวดที่บ้านต้องจัดรถคอยรับส่ง และจัดหาคนทำหน้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรมคือ กล่าวนำอาราธนาศีล อาราธนาธรรม ฯลฯ ไว้ให้เรียบร้อย
เมื่อพระมาถึงแล้วเจ้าภาพต้องจุดธูปเทียนที่พระพุทธ และตู้พระธรรม กล่าวคำอาราธนา พระจึงจะเริ่มทำการสวดได้ บางงานเจ้าภาพนั่งรอไม่เห็นพระท่านเริ่มสวดเสียทีพระท่านก็นั่งรอไม่เห็นเจ้าภาพจุดธูปเทียนและกล่าวอาราธนาเสียทีจึงควรเรียนรู้การทำหน้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรมเอาไว้บ้าง
การเคาะโลงให้ผู้ตายฟังพระสวด
เมื่อพระเริ่มสวด ลูกหลานของผู้ตายจะเคาะโลงเบาๆเพื่อเรียกให้ฟังพระสวดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติคือลูกหลานยังคงปฏิบัติกับผู้ตายเหมือนเมื่อยังมีชีวิตอยู่เป็นความผูกพันภายในครอบครัว
การบรรเลงปี่พาทย์มอญ
หากเจ้าภาพมีฐานะดี ก็จัดหาปี่พาทย์มอญมาบรรเลงเป็นทำนองวังเวงพอพระสวดพระอภิธรรมจบ ปี่พาทย์ก็ขึ้นรับฟังแล้วชวนให้เศร้าโศกเข้ากับบรรยากาศ
การเลี้ยงอาหารแขกที่มาฟังพระสวด
ตามธรรมเนียมของการสวดอภิธรรม พระจะสวดทั้งหมด ๔ จบแต่บางแห่งก็แตกต่างกันไป เมื่อพระสวดได้ ๒ จบ หรือ ๓ จบแล้วจึงทำการหยุดพักช่วงนี้เจ้าภาพจึงนำอาหารที่จัดเตรียมไว้มาเลี้ยงแขก เสร็จแล้วจึงฟังพระสวดต่อจนครบ๔ จบ

สำหรับผู้ไปร่วมพิธีเผาศพหรือไว้อาลัยผู้ตายก่อนทำการเผาหรือเมื่อไปฟังพระสวดอภิธรรมศพ เมื่อกลับถึงบ้านแล้วให้ล้างหน้าล้างตาก่อนเข้าบ้านบางทีนำใบทับทิมใส่ในขันแล้ววักน้ำในขันนั้นล้างหน้าเพื่อความเป็นสิริมงคล
นำศพเวียน ๓ รอบก่อนนำขึ้นเมรุ
หากตั้งศพสวดบำเพ็ญกุศลที่วัดในตอนเช้าของกำหนดทำพิธีเผาลูกหลานก็จะช่วยกันหามโลงศพเวียนรอบเมรุ ๓ รอบ แล้วจึงนำขึ้นไปตั้งไว้บนเมรุหากตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้าน ครั้นเคลื่อนศพมาถึงวัดแล้วก็ให้ทำการเวียนรอบเมรุก่อน๓ รอบเช่นกัน จึงจะนำไปตั้งบนเมรุ บางแห่งมีการนำโลงกระแทกเมรุก่อน ๓ ครั้งจึงนำขึ้นไปตั้ง นิยมหันหัวศพไปทางทิศตะวันตก
การเวียนศพต้องเวียนซ้ายต่างกับการเวียนเทียนหรือแห่นาคซึ่งเป็นงานมงคลจะทำการเวียนขวาเรียกว่า ทักษิณาวรรต การเวียนศพ ๓รอบเป็นการเวียนเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้ตาย และเป็นปริศนาธรรมเกี่ยวกับพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ในสามภพ คือ ในโลกนรก และสวรรค์
การทิ้งเบี้ยให้ตากลียายกลา

สมัยโบราณ เมื่อนำศพขึ้นตั้งบนเมรุ หรือเชิงตะกอนแล้ว ต้องทิ้งเบี้ย๓๓ เบี้ยให้ตากลียายกลา ซึ่งเป็นเจ้าของป่าช้าเพื่อซื้อที่ให้ผีอยู่และเป็นค่าจ้างเผาเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครทำกันแล้วแต่จะใช้วิธีโปรยทาน
สาเหตุที่โยน ๓๓เบี้ยมีคติเป็นหลายนัย บ้างว่าเป็นการแสดงคุณบิดา ๒๐ เบี้ย มารดา ๑๒ เบี้ย (รวมได้๓๒ เบี้ย อีก ๑ เบี้ยไม่ทราบว่าหายไปไหน) บางทีก็ว่า ๓๒ เบี้ยนั้นหมายถึงอาการ ๓๒นั่นเอง


การจุดพลุสัญญาณ
ในสมัยโบราณ บ้านเรือนแต่ละหลังอยู่ห่างกัน จึงใช้เสียงพลุเป็นสัญญาณอาจจะจุดเมื่อเริ่มเคลื่อนศพไปวัดลูกหนึ่ง เมื่อถึงวัดแล้วลูกหนึ่งเมื่อพระสวดมาติกาลูกหนึ่ง และยิงลูกสุดท้ายเมื่อทำพิธีเผาไม่มีข้อจำกัดอันใดจะให้มีการจุดพลุหรือไม่ก็ได้แต่ตามต่างจังหวัดยังนิยมจุดกันอยู่

พิธีในวันเผา
เมื่อตั้งศพไว้บนเมรุเป็นที่เรียบร้อยแล้วเจ้าภาพจะนิมนต์พระมาเลี้ยงอาหารเพลที่ศาลาสวดอภิธรรม เสร็จแล้วทำการถวายจตุปัจจัยทอดผ้าบังสุกุล กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ตอนบ่ายมีการเทศนา ๑ กัณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่พระท่านจะเทศน์ เกี่ยวกับเรื่องการ เกิด แก่ เจ็บ ตายความไม่เที่ยงของสังขาร ต่อจากนั้นก็มีการสวดมาติกา กล่าวชีวประวัติของผู้ตายการทอดผ้าบังสุกุลหน้าศพ และทำการเผาหรือประชุมเพลิง

การกล่าวถึงชีวประวัติของผู้ตาย
เมื่อผู้ร่วมพิธีเผาและไว้อาลัยแด่ผู้ตายมาพร้อมกันแล้วก่อนทำพิธีวางดอกไม้จันทน์อาจมีการกล่าวถึงชีวประวัติของผู้ตายอย่างย่อๆส่วนใหญ่จะบอกถึงวันเดือนปีเกิด ชื่อบิดามารดาบุตรธิดา หน้าที่การงานและคุณความดีของผู้ตาย สุดท้ายเป็นการกล่าวขอบคุณผู้มาร่วมไว้อาลัย

การชักผ้าบังสุกุล

เมื่อใกล้เวลาเผาเจ้าภาพจะเชิญแขกผู้มีเกียรติหรือผู้ที่เคารพนับถือร่วมทอดผ้าบังสุกุลโดยเรียกชื่อทีละคน ผู้ที่ได้รับเชิญก็เดินไปที่หน้าเมรุหยิบผ้าบังสุกุลซึ่งลูกหลานของผู้ตายวางไว้บนพาน หยิบไปเฉพาะผ้าบังสุกุลเท่านั้นนำไปวางไว้ในพานหน้าโลงศพบนเมรุ
เจ้าภาพหรือผู้มีหน้าที่ในการทำพิธีจะเชิญพระสงฆ์องค์หนึ่งให้ขึ้นไปพิจารณาผ้าบังสุกุลหรือซักผ้าบังสุกุลทำเช่นนี้ไปจนกว่าจะครบแขกที่เชิญหากมีแขกคนสำคัญอาจให้ทอดเป็นคนสุดท้าย เรียกว่าทอดผ้ามหาบังสุกุล วิธีการนั้นก็เช่นเดียวกัน เมื่อขึ้นบันไดไปบนเมรุเพื่อทอดผ้าให้เดินลงทางด้านข้างของเมรุไม่ควรเดินย้อนกลับตรงทางขึ้น
การโปรยทาน

การโปรยทาน เป็นการอุทิศส่วนกุศลแทนผู้ตาย คล้ายเป็นการแจกหรืออุทิศทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่มี ให้กับคนที่อยู่เบื้องหลังเป็นปริศนาธรรมทำนองตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้เช่นเดียวกัน เงินโปรยทานนี้ชาวบ้านนิยมเก็บไว้เป็นขวัญถุง
การวางดอกไม้จันทน์
เมื่อชักผ้ามหาบังสุกุลเสร็จแล้วเจ้าภาพก็จะนำดอกไม้จันทน์มาแจกให้กับผู้มาร่วมไว้อาลัยคนละ ๑ ช่อหรือนำใส่ถาดไปวางไว้หน้าเมรุ ครั้นได้เวลาเผา พระก็จะสวดพระอภิธรรมผู้มาร่วมพิธีจึงทยอยขึ้นบันไดเมรุ นำช่อดอกไม้จันทน์ไปวางไว้ในพานหน้าศพแล้วเดินลงทางบันไดด้านข้าง ไม่ควรย้อนกลับลงไปทางที่ขึ้นมาเพราะจะทำให้ชนหรือเกะกะขวางทางคนอื่นๆ ที่กำลังจะขึ้น
การวางดอกไม้จันทน์นี้หากเป็นสมัยโบราณที่มีการเผาบนเชิงตะกอนกลางแจ้งผู้มาร่วมพิธีก็จะถือฟืนติดมือกันมาคนละท่อน นำมาวางรวมกันซึ่งถ้าได้ไม้จันทน์ก็จะเป็นการดีเพราะเวลาเผามีกลิ่นหอมเมื่อพร้อมกันแล้วสัปเหร่อจึงทำการจุดไฟ
มอญร้องไห้
หากเจ้าภาพมีฐานะดีจัดให้มีวงปี่พาทย์มอญมาบรรเลงในงานตลอดงาน หรือเฉพาะในวันเผาเมื่อเริ่มพิธีเผาคือผู้มาร่วมไว้อาลัยทำการวางดอกไม้จันทน์ ก็จะมีพิธีมอญร้องไห้โดยคนในคณะปี่พาทย์เป็นผู้ร้องคร่ำครวญพรรณนาถึงคุณงามความดีของผู้ตายด้วยความอาลัยรักผู้ร้องจะร้องอย่างโหยหวนเข้ากับบรรยากาศพลอยทำให้ลูกหลานของผู้ตายเกิดความเศร้าโศกพากันร้องไห้


การขอบคุณผู้มาร่วมพิธีและการมอบของที่ระลึก
เมื่อถึงตอนทำพิธีเผาศพเจ้าภาพและลูกหลานของผู้ตายจะไปยืนอยู่ที่บันไดทางลงของเมรุ ซึ่งมักทำไว้ ๒ ฟากเมื่อผู้มาร่วมพิธีวางช่อไม้จันทน์เสร็จและเดินลงมา เจ้าภาพก็กล่าวขอบคุณหากจะมอบของที่ระลึกก็มอบให้ในตอนนี้เลยซึ่งส่วนใหญ่ผู้ร่วมพิธีก็จะมอบซองใส่เงินช่วยงานให้เจ้าภาพเช่นกันพร้อมกล่าวขอบคุณและกล่าวคำอำลา
การเผาศพในปัจจุบัน
เมื่อแขกทยอยกลับกันไปบ้างแล้วเหลือแต่ผู้ที่สนิทสนมกับเจ้าภาพซึ่งรออยู่รอบๆ เมรุ สัปเหร่อจะทำการเปิดโลงศพเพื่อให้ลูกหลานได้ดูหน้าผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย แล้วจึงต่อยผลมะพร้าวให้แตกเอาน้ำมะพร้าวซึ่งถือกันว่าเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ล้างหน้าศพแล้วจึงนำเข้าเตาเผา
หากเป็นผู้มีฐานะดี จะจัดสร้างเมรุเผาศพขึ้นมาต่างหากมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม เวลาเผาก็ใช้วิธีจุดลูกหนูเป็นชนวนให้วิ่งตามเส้นเชือกไปสู่โลงศพ
การเอาผ้าโยนข้ามศพ
ประเพณีบางแห่งจะมีการนำผ้าขาวหรือเสื้อผ้าของผู้ตายตัวหนึ่งโยนไปมาข้ามกองไฟที่กำลังลุกไหม้ ๓ ครั้ง เป็นปริศนาธรรมหมายถึงว่าผู้ตายได้ข้ามพ้นของร้อนทั้ง ๓ อย่างไปพ้นแล้วของร้อนนั้นได้แก่ โลภะ คือความโลภ โทสะ คือ ความโกรธ และ โมหะ คือ ความหลง
ผ้านั้นบางทีก็ใช้ผ้าขาวที่คลุมโลงเมื่อโยนแล้วให้นำไปถวายพระหรือให้เป็นทานแก่คนยากจน
การชักฟืน ๓ ดุ้น

ในสมัยโบราณ ทำการเผาศพกันที่เชิงตะกอนเรียกว่าเผาสดคือนำกองฟืนมาสุมกันแล้วนำศพไปวางไว้ข้างบน เมื่อจุดไฟเผาแล้วผู้มาร่วมพิธีต้องรอสัปเหร่อชักฟืนออกมา ๓ ดุ้นก่อนจึงจะกลับบ้านได้เป็นอุบายให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขารเมื่อตายแล้วร่างย่อมถูกเผามอดไหม้ทิ้งไว้แต่คุณงามความดี หรือเป็นปริศนาธรรมว่าฟืนติดไฟทั้ง ๓ นั้นคือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ ราคะ โทสะ โมหะเป็นกองไฟที่แผดเผาให้เร่าร้อนอยู่ในวัฏสงสารเมื่อชักออกหรือหลุดพ้นได้แล้วย่อมพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
เมื่อกลับจากงานศพ
สำหรับผู้ไปร่วมพิธีเผาศพหรือไว้อาลัยผู้ตายก่อนทำการเผาหรือเมื่อไปฟังพระสวดอภิธรรมศพ เมื่อกลับถึงบ้านแล้วให้ล้างหน้าล้างตาก่อนเข้าบ้านบางทีนำใบทับทิมใส่ในขันแล้ววักน้ำในขันนั้นล้างหน้าเพื่อความเป็นสิริมงคล บางทีมีคติความเชื่อว่าเมื่อกลับจากงานศพต้องเดินวกวนอ้อมไปอ้อมมา เพื่อไม่ให้ผีตามมาถึงบ้านได้สำหรับเจ้าภาพและลูกหลาน หลังจากทำพิธีเผาแล้วเมื่อจะเดินทางกลับบ้านต้องกลับลวดเดียวให้ถึงบ้านเลย ห้ามไปแวะที่อื่นผู้ที่ถือรูปของผู้ตายก็เช่นเดียวกันให้นำรูปกลับมารวดเดียวให้ถึงบ้านอย่าแวะกลางทางแล้วนำรูปไปติดไว้ในที่อันสมควร
การบวชหน้าศพ (บวชหน้าไฟ)
ลูกหลานผู้ชายของผู้ตายที่อายุน้อยยังไม่ได้อุปสมบท ก็จะทำการบวชเณรหน้าศพส่วนใหญ่นิยมบวชก่อนวันเผา ๑ วัน หรือ ๓ วัน เมื่อทำพิธีเผาเสร็จแล้วจึงลาสึกการบวชก็เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายและเพื่อให้ผู้ตายได้เห็นชายผ้าเหลืองของลุกหลานซึ่งเชื่อกันว่าเป็นธงชัยสามารถช่วยฉุดดึงให้พ้นจากขุมนรกได้ดังนั้นผู้ใดมีลูกชายหลานชายก็อยากจะได้บวชให้แต่มาจบชีวิตลงเสียก่อนลูกหลานจึงบวชหน้าศพหรือบวชหน้าไฟให้ และเมื่ออายุครบอุปสมบท หรือบวชพระก่อนบวชลูกหลานก็จะทำการจุดธูปบอกกล่าวให้ญาติผู้ล่วงลับร่วมอนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง
วันห้ามเผาศพ
มีคติความเชื่อเกี่ยวกับการเผาศพอยู่หลายนัย คือ ห้ามเผาวันคี่วันข้ามแรม ต้องเผาวันคู่ และยังห้ามเผาในวันพระและศุกร์
ส่วนใหญ่ยังคงนิยมถือกันแก่ในเรื่องห้ามเผาวันศุกร์เพราะถือกันว่าวันนี้เป็นวันดี เหมาะแก่การทำงานมงคลอันเนื่องมาจากคำว่าศุกร์ไปคล้ายกับคำว่าสุข และคำว่าศุกร์นี้ยังมีความหมายคล้ายกับคำว่าสุก คือ เผาไม่ไหม้ อะไรทำนองนี้
สำหรับวันห้ามเผาวันพระนั้นเพราะในวันนี้พระท่านอาจมีกิจธุระมากถ้าในช่วงเข้าพรรษาอาจต้องเข้าโบสถ์ฟังสวดปาฎิโมกข์ หรือมีคนมาทำบุญกันที่วัดมากแต่ในปัจจุบันการเผาวันพระก็ค่อนข้างสะดวก เพราะวัดส่วนใหญ่อยู่ใกล้ชุมชน
การเก็บกระดูก
เมื่อทำการเผาเสร็จแล้วสัปเหร่อจะทำการแยกธาตุเก็บกระดูกใส่โกศที่ญาตินำไปให้ไว้ส่วนเถ้าก็ใช้ผ้าขาวห่อในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันเผา ญาติจะมารับโกศเพื่อนำไปไว้ที่บ้านหรือมีการทำบุญเลี้ยงอาหารพระที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย
โกศใส่กระดูกผู้ตายนั้นบางทีก็เอาไปไว้บนหิ้งบูชาที่บ้านบางคนก็นำไปใส่ไว้ในเจดีย์ประจำตระกูลซึ่งส่วนใหญ่สร้างไว้ที่วัดหรือบรรจุตามช่องซุ้มของประตูกำแพงวัด
เมื่อถึงวันสงกรานต์ญาติและลูกหลานของผู้ตายก็จะนำผ้าบังสุกุลมาทอดเพื่อให้พระมาชัก หรือพิจารณาผ้า เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายส่วนใหญ่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลเช่น วันตรุษ วันสารทหรือวันสงกรานต์และหากคิดถึงผู้ตายที่ล่วงลับไปแล้ว จะทำวันไหนอีกก็ได้ตามแต่สะดวก หรือทำบุญตักบาตรกรวดน้ำไปให้ผู้ตาย
สำหรับเถ้านั้นบางทีก็นำไปบรรจุรวมกับโกศในเจดีย์ หรือนำเฉพาะเถ้าไปลอยน้ำส่วนเสื้อผ้ามุ้งหมอนข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายส่วนใหญ่นิยมถวายวัดหรือมอบเป็นทานให้แก่คนยากจนผู้ที่รับก็จะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตาย


การทำบุญร้อยวัน
หลังจากเก็บกระดูกแล้ว เมื่อครบวันตาย ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วันจะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย แต่มักนิยมรวมไปทำ ๑๐๐ วันเลยทีเดียวในวันนี้ญาติพี่น้องและลูกหลานของผู้ตายจะมาพร้อมกันที่วัดไม่ต้องใส่ชุดไว้ทุกข์หรือขาวดำอีก หากแต่งชุดขาวดำไว้ทุกข์ให้ผู้ตายร้อยวันในวันนี้ก็สามารถออกทุกข์ คือ กลับไปนุ่งห่มเสื้อผ้ามีสีสันได้เหมือนเดิม
สิ่งของที่ต้องเตรียมก็คือ รูปภาพของผู้ตายส่วนใหญ่จะใช้ภาพที่ตั้งหน้าโลง ในช่วงที่ทำพิธีสวดพระอภิธรรรมนั่นเองพร้อมโกศใส่กระดูก นำมาใส่พาน พันสายสิญจน์ที่โกศและรูป ไปวางไว้ในพานข้างพระสงฆ์รูปที่เป็นประธาน
เมื่อได้เวลาซึ่งส่วนใหญ่จะก่อนเพลพระที่นิมนต์ไว้ ๙ รูปจะมาสวดพุทธมนต์ เสร็จแล้วเจ้าภาพจึงถวายจตุปัจจัยพระสวดอนุโมทนา และให้พร เจ้าภาพกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายต่อจากนั้นจึงเลี้ยงอาหารเพลพระ ซึ่งมักนิยมเลี้ยงหมดวัดเสร็จแล้วจึงมีการสวดอนุโมทนาและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล อีกครั้งหนึ่ง ขั้นตอนเหล่านี้ไม่มีกำหนดตายตัว บางแห่งอาจผิดแผกแตกต่างกันไปแล้วแต่ประเพณีท้องถิ่นนิยม
ที่มา : ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย

3 ความคิดเห็น:

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย








เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนจะต้องประสบและไม่สามารถหลีกหนีจุดจบของชีวิตได้ ประเพณีไทยมีพิธีกรรมในการจัดการกับศพเพื่อแสดงถึงความรักและอาลัยให้แก่ผู้ตายและเป็นการส่งวิญญาณผู้ตายให้ไปสู่สุขคติ





เมื่อมีคนสิ้นลมหายใจแล้ว นำมาทำพิธี พิธีที่จะทำเริ่มแรก คือ การอาบน้ำศพหรือที่เรียกกันว่า พิธีรดน้ำศพ ซึ่งการรดน้ำศพจะจัดพิธีหลังจากคนตายไปไม่นานนัก โดยใช้น้ำมนต์ผสมน้ำสะอาด โรยด้วยดอกไม้หอมหรืออาจะใช้น้ำอบผสมด้วย ผู้ที่มารดน้ำศพจะรดที่มือข้างหนึ่งของผู้ตายที่ยื่นออกมาและกล่าวคำไว้อาลัย





หลังจากพิธีรดน้ำศพเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะต้องนำศพมาแต่งตัว โดยการหวีผมให้ศพ และเมื่อหวีผมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องหักหวีโยนลงโลงศพในการนุ่งผ้าสวมเสื้อให้ศพนั้นจะต้องสวมเสื้อเอาหน้าไว้หลังเอาหลังไว้หน้าเสื้อที่ใส่เป็นสีขาว นุ่งผ้าขาว ให้เอาชายพกไว้ข้างหลัง จากนั้นจึงเป็นการนุ่งห่มตามธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง





การนำเงินใส่ศพ และการนำหมากใส่ปากศพนั้นก็เพื่อเป็นการให้คติข้อคิดเตือนใจให้กับคนที่มีชีวิตอยู่ว่า บรรดาทรัพย์สมบัติที่ผู้ตายมีไม่ว่าจะน้อยหรือมากเพียงใด เมื่อตายไปก็ไม่สามารถเอาไปได้ เช่น เดียวกันกับหมากที่ผู้ตายชอบ แต่เมื่อตายไปแล้วก็ไม่สามารถเคี้ยวได้ ดังนั้น จึงไม่ควรมีความโลภลุ่มหลงในทรัพย์สินเงินทองแต่ควรหมั่นสร้างบุญสร้างกุศล





การปิดหน้าศพ นั้นก็เพื่อป้องกันการอุจาดตา สัปเหร่อจะเป็นผู้มัดตราสัง ก็คือการมัดศพโดยใช้ด้ายดิบขนาดใหญ่มาทำการมัดมือที่คอ แล้วโยงมาที่มือที่ประนมอยู่ที่หน้าอก โยงไปที่เท้า และมีการท่องคาถา หลังจากนั้นสัปเหร่อก็จะนำศพลงโลงโดยมีการทำพิธีเบิกโลงก่อน และมีการนำมีดหมอเสกสับปากโลงด้วย เมื่อสัปเหร่อทำพิธีการเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะสามารถนำศพออกจากเรือนหรือย้ายศพไปเผาได้และจะตั้งศพโดยจะหันไปทางทิศตะวันตกเพราะเชื่อว่าเป็นทิศของคนตาย





การสวดศพ เจ้าภาพอาจจะใช้เวลา 5 วัน หรือ 7 วัน ตามความสะดวกและฐานะของเจ้าภาพ และนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป สวดศพอภิธรรมในการเผาศพ วันเผาศพนั้นจะต้องไม่ใช่วันศุกร์ วันพฤหัสบดี วันพระ วันเลขคู่ ในข้างขึ้น วันเลขคี่ในข้างแรม ในวันเผาศพจะมีการทำบุญและทำมาติกาบังสกุลก่อน จากนั้นก็จะเคลื่อนศพเวียนซ้าย 3 รอบ ยกขึ้นเชิงตะกอนหรือขึ้นเมรุ ผู้ที่มาร่วมงานศพจะนำดอกไม้จันทร์ที่เจ้าภาพแจกให้ขึ้นไปวางไว้ที่ฝาโลงศพ ซึ่งในพิธีการเผาศพจะมี 2 ช่วงคือ ช่วงแรกจะเรียกว่าการเผาหลอก คือพิธีการที่บรรดาญาติพี่น้องและแขกที่มาร่วมงานจะนำดอกไม้จันทน์ขึ้นไปวางไว้ แต่ยังไม่มีการจุดไฟจริง แต่พิธีการเผาจริงจะเป็นบรรดาญาติสนิทขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์ และมีการจุดไฟเผาจริง





เมื่อพิธีเผาศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นสามารถมาเก็บอัฐิได้แต่ถ้าเป็นชนบทจะเก็บอัฐิภายหลังการเผาแล้ว 3 วัน เนื่องจากชนบทจะใช้ฟืนเผาจึงจะต้องรอให้ไฟมอดสนิทก่อน ลูกหลานจะเก็บส่วนที่สำคัญไว้บูชา และบางส่วนอาจจะนำไปลอยอังคาร ซึ่งอาจจะเป็นแม่น้ำ หรือทะเล ทั้งนี้มีความเชื่อที่ว่าจะทำให้วิญญาณของผู้ตายมีความสงบและร่มเย็น





พิธีกรรมที่จัดขึ้นเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันถึงแม้จะมีพิธีบางอย่างที่ปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้เข้ายุคสมัย แต่ข้อคิด คติเตือนใจที่แฝงอยู่ในความเชื่อต่างๆ สามารถช่วยย้ำเตือนให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตและพยายามทำความดีงามเพื่อที่จะได้เจอแต่สิ่งดีๆ










.

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

พิธีทำศพ
ความตายของคนเป็นปรกติ ธรรมชาติที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
จึงไม่ควรหวาดกลัวหรือเศร้าโศกจนเกินไป พิธีการต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำศพ
มีโดยสังเขปดังนี้

1. การบอกทาง
เมื่อเชื่อแน่ว่าผู้ป่วยต้องถึงแก่กรรม หรือมีกาการบอกให้ทราบว่าจะถึงแก่กรรมในระยะอันใกล้นี้แล้ว ผู้พยาบาลต้องจัดหาดอกไม้ธูปเทียนใส่กรวยใบตองให้ผู้ตายถือไว้ และบอกให้รำลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ กับให้ทำใจให้สงบ ไม่กระวนกระวาย เพื่อว่าให้ผูตายได้ตายด้วยความสงบทั้งทางร่างกายและจิตใจจริง ๆ

2. การปฏิบัติเมื่อตายแล้ว
เมื่อสิ้นลมหายใจ ให้จุดเทียนไว้ข้างศพ โดยใช้เทียนขี้ผึ้งมีไส้ 7 ไส้ เมื่อเทียนเล่มนั้นจุดหมดดับแล้ว ผู้ตายไม่ฟื้นขึ้นก็เชื่อได้ว่าตายแน่แล้ว ถ้าเอาศพเข้าโลงไม่ทันต้องเอาไว้ข้ามคืน ให้เอาผ้าคลุมศพไว้ และอยู่ตามไฟ กับระวังอย่าให้แมวกระโดดข้าม เพราะถือกันว่าผีจะแรง

3. การอาบน้ำศพ
ก่อนเอาศพใส่โลงต้องทำพิธีอาบน้ำศพเสียก่อน ตอนแรกอาบด้วยน้ำอุ่น แล้วอาบด้วยน้ำเย็น ฟอกศพด้วยผิวมะกรูดแล้วล้างให้สะอาด เช็ดถูให้แห้งแล้วตำขมิ้นชันสดกับผิวมะกรูดขัดให้ทั่วอีกทีหนึ่ง แล้วแต่งตัวศพด้วยเสื้อผ้าใหม่ ถ้าจะมีการรดน้ำศพอีก ก็เอาศพขึ้นวางบนเตียง จับแขนข้างหนึ่งให้ทอดออกมา ผู้มารดน้ำศพก็เอาน้ำหอมหยดลงที่ฝ่ามือของศพ อธิษฐานในใจให้อโหสิกรรมที่อาจจะมีอยู่แก่กันเสีย

4. การเอาศพใส่โลง
ก่อนเอาศพใส่โลงให้ตำหมากใส่ในปากศพคำหนึ่ง แล้วหาเงินบาทหรือแหวนทองคำใส่ลงไปในปาก เอาขี้ผึ้งหนาประมาณครึ่งนิ้วกว้างพอดีกับหน้าของศพปิดหน้าศพไว้เเพื่อกันอุจาดนัยน์ตา เอากรวยดอกไม้ธูปเทียนใส่มือ แล้วตราสังข์ศพด้วยผ้าขาว ยกไปวางในโลง ปิดฝาโลงให้เรียบร้อย

5. การตั้งศพทำบุญ
การตังศพทำบุญจะทำที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ตอนค่ำมีการนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรม
เป็นประจำทุกคืนจนกว่าจะถึงวันกำหนดทำพิธีเผา หรือเก็บศพไว้เผาทีหลัง

6. การเผาศพ
เมื่อถึงวันเผาศพยกศพไปตั้งในศาลา นิมนต์พระมาสวดบังสุกุล ถ้ามีเทศน์ก็เทศน์เสียก่อนบังสุกุล หามโลงเวียนเชิงตะกอน 3 รอบแล้วเอาขึ้นตั้งบนเชิงตะกอน ให้พระจุดไฟเผาก่อนคนไปร่วมด้วยจึงจุดไฟเผาทีหลัง ในตอนนี้อาจจะมีการสวดหน้าไฟด้วยก็ได้

7. การเก็บกระดูก
ศพมักเผาในตอนเย็น รุ่งเช้าจึงมีการเก็บกระดูก และนิมนต์พระมาตักบาตรปากหลุม เป็นเสร็จพิธี





.

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

รดน้ำศพ กับคำว่า อาบน้ำศพ ความเป็นมงคลกับไม่เป็นมงคล


คำทั้งสองนี้ คำหนึ่งใช้ในงานมงคล อีกคำหนึ่งใช้ในงานอวมงคล
แต่ทุกวันนี้เห็นมีใช้ปนกันไปหมด ซึ่งคงไม่ได้หมายความว่า
ความเป็นมงคลกับไม่เป็นมงคลนั้น กลายมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็หาไม่
แต่เนื่องจากความไม่รู้นั่นเอง...


" รดน้ำ " ใช้ในการมงคล เพราะคำนี้มาจากคำสันสกฤตว่า " เสก " (รดน้ำ)
หรือ " อภิเษก " คือ รดน้ำเพื่อคุณอันยิ่ง เป็นพิธีทางไสยศาสตร์
เมื่อทำการมงคลต่างๆ ก็เชิญพราหมณ์มารดน้ำสังข์ เช่น
" มูรธาภิเษก " คือ รดน้ำเหนือพระเศียร ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
คือ การทำบุญอายุ นั่นเอง
" ราชาภิเษก " คือ รดน้ำตั้งพระราชา
" อภิเษก " รดน้ำตั้งให้เป็นใหญ่เป็นโต
" อุปราชาภิเษก " ตั้งให้เป็นอุปราช
ดังนั้น คำว่า " รด " จึงใช้ในงานมงคลเท่านั้น รวมถึงการรดน้ำผู้ใหญ่ใน
วันสงกรานต์ ด้วย และไม่ควรนำไปใช้ในงานอวมงคล เช่น " รดน้ำศพ "


" อาบน้ำศพ " ตามประเพณีของไทย ถ้าท่านผู้ควรเคารพนับถือ สิ้นชีพลง
ท่านผู้ควรเคารพนับถือก็มี...
1. ตามทางสายญาติทั้งฝ่ายบิดาและมารดา
2. ตามทางคุณวุฒิที่เป็นครูบาอาจารย์
3. ตามทางผู้บังคับบัญชาเหนือตน
4. ตามทางมิตรสหายที่สนิทสนมกันมา
ตามประเพณี เมื่อคนเหล่านี้สิ้นชีวิตลง ในความรู้จักคุ้นเคยนั้น เราอาจ
มีการล่วงล้ำกล้ำเกินกันไป ก็จะต้องไปอาบน้ำศพเป็นการ ขมาลาโทษ ที่เคย
ล่วงเกินต่อกัน ขออโหสิกรรม ให้เลิกแล้วต่อกัน อย่าได้ตามติดไปในภพหน้า


"...ถึงพระเจ้าแผ่นดินก็ยังโปรดให้เจ้าหน้าที่นำเครื่องสักการะ
ไปขมาศพข้าราชการอยู่ เพราะทรงถือประเพณีข้อท้ายนี้ หาใช่ไปรดน้ำ
เพื่อเป็นมงคลใดๆ ไม่..."
ดังนั้น จึงควรใช้คำว่า " อาบน้ำศพ " มากกว่าคำว่า " รดน้ำศพ "
อย่างที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้


เหตุที่ใช้กันผิดๆ เข้าใจว่า ในความเป็นจริง ญาติพี่น้องของคนตายจะช่วยกัน
อาบน้ำศพ (คือ อาบน้ำให้ศพจริงๆ ) แล้วจัดการแต่งตัวให้ศพ นิยมแต่งตามยศ
ตามตำแหน่ง หากผู้ตายเป็นทหารหรือตำรวจ เมื่อเสร็จเรียบร้อย จึงนำศพ
มาตั้งไว้กลางศาลา เพื่อให้มิตรสหายและผู้อันเป็นที่เคารพ ได้ทำการอาบน้ำศพ
ด้วยการรดน้ำลงไปที่มือของผู้ตาย เพื่อความสะดวกของพิธี
ลักษณะการรดน้ำลงไปที่มือของผู้ตาย เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นการอาบน้ำศพ
คนรุ่นหลังเห็นลักษณะเช่นนี้ ประกอบกับไม่รู้ความหมาย จึงเรียกว่า " รดน้ำศพ"
ซึ่งเป็นการใช้คำที่ผิดไป.




.

แสดงความคิดเห็น