*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กรณีศึกษาการปลูกปาล์มในพื้นที่ภาคอีสาน

กรณีศึกษาการปลูกปาล์มในพื้นที่ภาคอีสาน


กรณีศึกษาการปลูกปาล์มในพื้นที่ภาคอีสาน...ผลการศึกษาจากการติดตามนโยบายและการเก็บข้อมูลปรากฏการณ์จากพื้นที่เกี่ยวกับพืชพลังงาน โดย "คณะทำงานศึกษาพืชพลังงานอีสาน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก อีสาน" ที่ได้ทำการศึกษาข้อมูลนโยบายพืชพลังงานและนำเสนอข้อเท็จจริง จากพื้นที่ต่างๆ โดยมีการศึกษาแหล่งปลูกจากการส่งเสริมของศูนย์วิจัย การพบเห็นตามเส้นทางต่าง ๆ รวมถึงการสอบถามจากเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน และลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์เกษตรกรโดยตรง


สถานการณ์การปลูกปาล์มน้ำมัน ในภาคอีสาน
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ รัฐบาลเริ่มส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมันใน พ.ศ.2511 และเริ่มส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นใน พ.ศ.2530 เป็นต้นมา ในส่วนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรัฐบาลเริ่มส่งเสริม ใน พ.ศ.2517 โดยมีการนำน้ำมันปาล์มไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมอาหาร สบู่ ยา เทียนไข เป็นต้น แต่การทำสวนปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยไม่สามารถแข่งขันกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าและมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทย เมื่อมีการเปิดการค้าเสรีไทย-อาเซียน ประเทศไทยต้องลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มเหลือร้อยละ 5 ใน พ.ศ.2546 และต้องลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ใน พ.ศ.2548 ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันผันผวน และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย

ใน พ.ศ.2548 รัฐบาลมีแผนนำน้ำมันปาล์มมาผลิตไบโอดีเซล โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 กำหนดให้ใช้ไบโอดีเซล B5 (ส่วนผสมไบโอดีเซลร้อยละ 5) ทั่วประเทศในปี 2554 และเพิ่มขึ้นเป็นไบโอดีเซล B10 (ส่วนผสมไบโอดีเซลร้อยละ 10) ในปี 2555 นอกจากนี้รัฐบาลมีนโยบายขยายพื้นที่สวนปาล์มจากประมาณ 2.2 ล้านไร่ ใน พ.ศ.2547 เป็น 10 ล้านไร่ ใน พ.ศ.2547 -2572 จึงจำเป็นต้องขยายพื้นที่ปลูก และเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้น

พัฒนาการการปลูกปาล์มน้ำมัน ในภาคอีสาน
ความสำคัญของพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมันในฐานะพลังงานทดแทนน้ำมันจากธรรมชาติ จากปัญหาพลังงานใต้ภิภพที่มีน้อยลง การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อทำไบโอดีเซล กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพลังงานได้มีความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกในภาคอีสาน ได้มีการคัดเลือกพื้นที่เหมาะสมในจังหวัด เริ่มต้นที่จังหวัดหนองคายโดยพื้นที่เป้าหมายต้องเป็นพื้นที่ที่ มีระบบน้ำชลประทาน ส่วนพื้นที่ลุ่มต้องสามารถระบายน้ำได้ในฤดูฝน สภาพดินถือว่าเหมาะสมเกือบทุกอำเภอของจังหวัดหนองคาย แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือแหล่งน้ำ และต้องเพิ่มเติมการจัดการพื้นที่ ซึ่งแตกต่างจากภาคใต้ในด้านการรักษาความชื้นในดินต้อง ปลูกโดยใช้วัสดุคลุมโคนต้น ลดการสูญเสียน้ำ

นายธีระชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากภาวะราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรฯ จึงร่วมกับกระทรวงพลังงานจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนา และส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล ตั้งเป้าลดการใช้น้ำมันดีเซลลง 10% ภายในปี 2555 หรือคิดเป็นความต้องการใช้ไบโอดีเซลจำนวน 8.5 ล้านลิตร/วัน ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบด้านการผลิตและกำหนดพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยกำหนดให้ภาคใต้และภาคตะวันออกเป็นฐานการปลูกปาล์มน้ำมัน ควบคู่ไปกับการทำโครงการนำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเลือก จ.หนองคาย เป็นพื้นที่นำร่องในการปลูกปาล์มน้ำมัน

ทั้งนี้
กรมวิชาการเกษตรได้ทำการวิเคราะห์สภาพพื้นที่และอากาศของ จ.หนองคาย และพื้นที่ใกล้เคียง พบว่า มีศักยภาพที่จะปลูกปาล์มน้ำมันและให้ผลผลิตใกล้เคียงกับปาล์มทางภาคใต้ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันหนองคาย จัดทำแปลงทดสอบปลูกขนาดใหญ่พื้นที่รวม 6 หมื่นไร่ พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมและให้คำแนะนำถึงข้อดีของการปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งให้การสนับสนุนต้นกล้าปาล์มคุณภาพดีแก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ต้องการเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคต ซึ่งล่าสุดราคารับซื้อผลผลิตปาล์มอยู่ที่ 2.5 - 4 บาทต่อกิโลกรัมและมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก
การผลิตเป็นไบโอดีเซล จะประสานกระทรวงพลังงาน จัดทำแผนการผลิตปาล์มน้ำมันให้สอดคล้องกับแผนการจัดตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลในพื้นที่ เพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้รวมกลุ่มเกษตรกร กลุ่มละประมาณ 3,000 ไร่ ต่อ 1 โรงงาน เพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรต่อไป ( แนวหน้า วันที่ 20/3/2008 )

ภาวะราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทรวงเกษตรฯจึงร่วมกับกระทรวงพลังงานจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนา และส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล ตั้งเป้าลดการใช้น้ำมันดีเซลลง 10% ภายในปี 2555 หรือคิดเป็นความต้องการใช้ไบโอดีเซลจำนวน 8.5 ล้านลิตร/วัน ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบด้านการผลิตและกำหนดพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยกำหนดให้ภาคใต้และภาคตะวันออกเป็นฐานการปลูกปาล์มน้ำมัน ควบคู่ไปกับการทำโครงการนำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเลือก จ.หนองคาย เป็นพื้นที่นำร่องในการปลูกปาล์มน้ำมัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายเกี่ยวกับการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศ แผน 5 ปีของกระทรวงฯ (2551-2554) กำหนดให้มีพื้นที่ปลูกปาล์ม 6 ล้านไร่ เป็นการปลูกภายในประเทศ 5 ล้านไร่ และประเทศเพื่อนบ้าน 1 ล้านไร่ โดยกระทรวงพลังงาน จะให้เงินทุนหมุนเวียน 7,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาผลิตไบโอดีเซลทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซล 10% ภายในปี 2555 และในภาคอีสานตั้งเป้าขยายพื้นที่ประมาณ 328,000 ไร่ และตั้งโรงงาน 2 โรงงาน

ผลการศึกษาผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสาน

ผลการศึกษาพบว่า ยังมีความเห็นที่แตกต่างของข้อมูลทางนักวิชาการที่ทำการศึกษาของนักวิชาการ 3 ท่าน คือ ดร.สมเจตน์ ประทุมมินทร์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญเพาะด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร ศ.ดร.สุนทรี ยิ่งชัชวาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และ คุณนคร สาระคุณ อดีตนักวิชาการ กรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีสาระสำคัญที่แตกต่างกัน ดังนี้

ดร.สมเจตน์ ประทุมมินทร์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร เป็นนักวิชาการที่เห็นด้วยกับการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มในภาคอีสาน มีความเห็นว่าแนวโน้มความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันมีไม่จำกัดและสามารถต่อยอดมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก ตามแผนการพัฒนาพลังงานของประเทศ และมีความเห็นว่าพื้นที่ภาคใต้ที่สามารถปลูกปาล์มได้เหลือน้อยและผลิตปาล์มได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงาน ดังนั้นภาคอีสานมีพื้นที่ที่มีศักยภาพที่สามารถขยายพื้นที่ปลูกได้มากกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งมีการทดลองในแปลงที่ จ.หนองคาย จ.อำนาจเจริญ จ,อุบลราชธานี ทำให้มีความมั่นใจว่าภาคอีสานมีศักยภาพที่เหมาะสมที่จะปลูกปาล์มน้ำมันได้ โดยได้ทำการสำรวจและจัดทำแผนที่ศักยภาพการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ จ.หนองคาย จ.อุบลราชธานี ( อ.น้ำยืน อ.นาจะหลวย อ.บุณฑริก) จ.ศรีสะเกษ นครพนม สกลนคร ยโสธร มุกดาหาร เป็นต้น โดยได้ทำการปลูกทดสอบ รวมถึงการเก็บข้อมูลในแปลงของเกษตรกร ซึ่งพบว่าในภาคอีสานพื้นที่ที่เป็นราบลุ่ม มีลักษณะดินเป็นดินทรายถึงดินร่วนเหนียวปนทราย ซึ่งปลูกข้าวไม่ได้ผล หรือให้ผลผลิตต่ำมาก เพราะดินชั้นบนไม่เก็บน้ำ และเมื่อปลูกมันสำปะหลังก็มักประสบปัญหาหัวมันเน่า จากการสำรวจพบว่าพื้นที่ลักษณะนี้มีระดับใต้ดินอยู่ตื้นไม่เกิน 1 เมตร จากผิวดิน ซึ่งมีศักยภาพสูงในการปลูกปาล์มน้ำมัน จากการศึกษาพบว่าแปลงทดสอบของกรมวิชาการเกษตรที่ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันหนองคายเริ่มให้ผลผลิตแล้ว ในปีที่ 2 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1.3 ตันต่อไร่ เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 22 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับมาตรฐานเดิมที่วางไว้เพียง 900 กิโลกรัมต่อไร่ เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 19 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าพื้นที่เขตภาคอีสานสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้ผลดี (เคหการเกษตร ปีที่ 32 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 )

ส่วนงานศึกษาเรื่องความเหมาะสมของสภาพอากาศในการผลิตปาล์มน้ำมัน โดย ศ.ดร.สุนทรี ยิ่งชัชวาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ได้มีข้อสรุปว่าปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการเลือกพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันคือ จำนวนวันที่ดินมีความชื้น เพียงพอ โดยเมื่อพิจารณาปริมาณน้ำฝนเทียบกับอัตราศักยภาพการระเหยน้ำของพืช และให้ดินเก็บปริมาณน้ำไว้ได้ปริมาณ 100 มิลลิเมตร พบว่าพื้นที่ใต้จากเส้นรุ้งที่ 10 ของประเทศไทยมีจำนวนวันที่ที่ดินยังมีความชื้นให้พืชได้ใช้ประมาณ 285 วัน แต่พื้นที่เหนือเส้นรุ้งที่ 14 คือ ภาคอีสานจะมีจำนวนวันต่ำกว่า 225 วัน กล่าวคือเขตภาคอีสานจะมีวันที่ต้นไม้จะขาดน้ำ หรือไม่สามารถดูดน้ำจากดินได้อีกนานถึง 140 วัน หรือ 4.6 เดือน หากเป็นต้นไม้ใบเลี้ยงคู่จะทิ้งใบเพื่อตัดการเสียน้ำ แต่ต้นปาล์มเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ไม่มีการทิ้งใบระหว่างที่ขาดน้ำ ด้วยการปิดปากใบ ซึ่งทำให้ปาล์มไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ยิ่งกว่านั้นใบต้องหายใจตลอดเวลา อาหารที่สะสมในต้นจึงถูกนำมาใช้เพื่อการยังชีพ เป็นการลดการสะสมอาหารที่จะส่งไปเลี้ยงทะลาย

โดยสรุปของงานศึกษาชิ้นนี้ คือ ปาล์มน้ำมันเป็นพืช ที่ทนและสามารถขึ้นได้ในหลายท้องที่ แต่การสร้างทะลายเป็นภาระที่หนักของต้น ไม่เพียงสภาพอากาศที่ต้องมีความชื้นสูงพอให้ตาดอกเป็นดอกตัวเมียไม่ฝ่อ ต้นปาล์มน้ำมันยังต้องใช้น้ำและอาหารที่สะสมเพื่อเลี้ยงทะลาย ดังนั้นการกระจายของฝนที่ต้องมีทุกเดือน เพื่อสร้างความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในทรงพุ่มได้ จึงเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการสร้างผลผลิตของปาล์มน้ำมันที่สุด

และความเห็นของคุณนคร สาระคุณ อดีตนักวิชาการผู้ทำงานวิจัยเรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันตามศักยภาพของที่ดินหรือโซนนิ่งในเขตภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง กรมวิชาการเกษตร ให้ความเห็นต่อพื้นที่เหมาะสมสำหรับปาล์มน้ำมันว่าระยะแรกให้พิจารณาว่ามีน้ำ ดินเหมาะสมหรือเปล่า ความชื้นในอากาศต้องไม่ต่ำกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ แต่พื้นที่ในภาคอีสานแม้บางที่มีดิน น้ำดี แต่มักประสบปัญหาเรื่องความชื้นในอากาศที่แห้งแล้งยาวนาน 4-6 เดือน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการติดผลของปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะช่วงออกดอกและการผสมเกสรที่ต้องมีอุณหภูมิและความชื้นในอากาศเหมาะสม ถ้าช่วงผสมเกสรอากาศแห้งปาล์มน้ำมันจะไม่ติดผล เป็นความเสี่ยงของเกษตรกรที่ปลูกปาล์มในภาคอีสาน

ประมวลสถานการณ์การปลูกปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ภาคอีสาน

การส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสานมีรูปแบบการส่งเสริมในลักษณะการให้ข้อมูลที่สร้างแรงจูงใจ ให้ข้อมูลด้านดีที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เป็นรายได้ที่มั่นคงในอนาคต จากการศึกษาระยะแรกพบว่าการส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมัน มี 3 ลักษณะ คือการส่งเสริมโดยหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร เช่น ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน จังหวัดหนองคายและศูนย์วิจัยพืชไร่ จังหวัดอุบลราชธานี การส่งเสริมโดยกลุ่มทุนบริษัทจำหน่ายกล้าพันธุ์ และ ความสนใจของเกษตรกรที่อยากสร้างรายได้จากพืชเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเป็นมาและรายละเอียดที่แตกต่างกันดังนี้

1. การส่งเสริมผ่านโครงการวิจัยและพัฒนา โดยศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน จ.หนองคาย
ภาวะราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทรวงเกษตรฯจึงร่วมกับกระทรวงพลังงานจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนา และส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล ตั้งเป้าลดการใช้น้ำมันดีเซลลง 10% ภายในปี 2555 หรือคิดเป็นความต้องการใช้ไบโอดีเซลจำนวน 8.5 ล้านลิตร/วัน ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบด้านการผลิตและกำหนดพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยกำหนดให้ภาคใต้และภาคตะวันออกเป็นฐานการปลูกปาล์มน้ำมัน ควบคู่ไปกับการทำโครงการนำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเลือก จ.หนองคาย เป็นพื้นที่นำร่องในการปลูกปาล์มน้ำมัน

กรมวิชาการเกษตรได้ทำการวิเคราะห์สภาพพื้นที่และอากาศของ จ.หนองคาย และพื้นที่ใกล้เคียง พบว่า มีศักยภาพที่จะปลูกปาล์มน้ำมันและให้ผลผลิตใกล้เคียงกับปาล์มทางภาคใต้ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันหนองคาย จัดทำแปลงทดสอบปลูกขนาดใหญ่พื้นที่รวม 6 หมื่นไร่ พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมและให้คำแนะนำถึงข้อดีของการปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งให้การสนับสนุนต้นกล้าปาล์มคุณภาพดีแก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ต้องการเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคต ซึ่งล่าสุดราคารับซื้อผลผลิตปาล์มอยู่ที่ 2.5 - 4 บาทต่อกิโลกรัมและมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก

ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน จ.หนองคายจึงเป็นหน่วยงานที่ จำหน่าย ต้นกล้าปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 2 จำนวน 800,000 ต้น ให้เกษตรกร ที่สมัครเข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนาศูนย์ต้นแบบการจัดการวัตถุดิบและพัฒนาการผลิตพลังงานทดแทนแบบครบวงจรนำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำไปปลูกไร่ละ 22-25 ต้น โดยกำหนดเงื่อนไขคือ พื้นที่ปลูกปาล์มจะต้องผ่านการประเมินความเหมาะสมโดยนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร เกษตรกรจะต้องชำระค่าต้นกล้าคืนในปีที่ 4 โดยใช้คืนในรูปทะลายปาล์มสด คิดตามราคาผลผลิตราคาต้นละ 50 บาท

ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ จ.หนองคาย ได้นำต้นกล้าไปปลูกแล้วจำนวน 37,454 ต้น พื้นที่ 1,502 ไร่ และมีเกษตรกรผ่านการสำรวจดินเพิ่มอีกกว่า 500 ราย พื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ซึ่งพร้อมจะนำต้นกล้า 200,000 ต้นไปปลูกในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งสำรวจพื้นที่ใน จ.หนองคาย และอุบลราชธานี เพิ่มเติมอีกกว่า 30,000 ไร่ ภายในปี 2551

ผลจากการทำโครงการศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันหนองคาย ได้จัดทำโครงการผลิตต้นกล้าปาล์มน้ำมัน เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด คือ หนองคาย อุบลราชธานี และอุดรธานี ปี 2550 คาดว่าทั่วภาคอีสานจะมีพื้นที่ปลูกปาล์มเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นไร่ จากที่ปลูกไปแล้ว 6 หมื่นไร่

2. การส่งเสริมโดยบริษัทเอกชน
จุดเริ่มต้นของการปลูกปาล์มในพื้นที่จังหวัดเลย มีบริษัทผลิตกล้าปาล์มแห่งหนึ่งเข้าไปส่งเสริม ในปี 2548 มีเกษตรกรร่วมโครงการ 182 รายคิดเป็นพื้นที่ปลูก 1.4 พันไร่ นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่มีธุรกิจกล้าปาล์มและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ส่งเสริมเกษตรกรรวม 288 ราย คิดเป็นพื้นที่ 4 พันไร่ สรุปปัจจุบันจังหวัดเลยมีการปลูกปาล์มแล้ว 5.4 พันไร่ คิดเป็นปาล์มจำนวน 1.2 แสนต้น หากรวมจังหวัดใกล้เคียง คือเพชรบูรณ์ และหนองบัวลำภู คาดว่ามีพื้นที่ปลูกปาล์มไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นไร่

ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดเลยมีพื้นที่ปลูกปาล์มแล้วประมาณ 1 หมื่นไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วราว 1 พันไร่ นายเจรียม ชาชุมพร ประธานกรรมการบริษัท เมืองเลยปาล์มน้ำมัน จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.เอราวัณ จ.เลย ดำเนินธุรกิจรับซื้อผลปาล์มดิบส่งขายให้กับโรงงานปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ ให้ข้อมูลถึงการสำรวจพื้นที่จังหวัดเลย พบเกษตรกรสนใจในการปลูกปาล์มน้ำมันเป็นอย่างมาก โดยบางส่วนได้โค่นสวนผลไม้ เช่น ลำไย และมะขามหวาน เพื่อปลูกปาล์มแทน เนื่องจากราคาลำไยที่ตกต่ำอย่างมากตั้งแต่ปี 2547-2548 ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ ทยอยตัดต้นลำไยทิ้ง แล้วเริ่มปลูกปาล์มน้ำมันแทน โดยเชื่อว่าราคาผลผลิตจะพุ่งสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และ มีแนวโน้มว่า เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มมากขึ้น สำหรับฤดูกาลนี้ โดยจะทำการปลูกทดแทนพืชอื่นๆ ที่ผลผลิตราคาไม่ดี อาทิเช่น ปลูกแทนลำไย หรือปลูกบนพื้นที่นาร้างหรือนาที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก รวมถึงที่ดอนบางแห่ง อาทิเช่น ต.หนองหญ้าปล้อง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งที่นาบริเวณนี้มีน้ำท่วมซ้ำซากจนเกษตรกรบางรายต้องเลิกทำนาข้าว หันมาปลูกปาล์มแทนแล้วราว 200 ไร่

3. ความสนใจของเกษตรกรที่อยากสร้างรายได้จากพืชเศรษฐกิจ
จากข้อมูลในพื้นที่พบว่ามีเกษตรกรที่สนใจในการปลูกปาล์มน้ำมันและได้ดำเนินการศึกษาหาความรู้ ในการปลูกปาล์มเพื่อค้นหาทางเลือกในการสร้างเศรษฐกิจครอบครัว เช่น พื้นที่ อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีษะเกษ

กรณีศึกษาพื้นที่

การศึกษาข้อมูล ปรากฏการณ์จากพื้นที่โดยคณะทำงานศึกษาพืชพลังงานอีสาน ได้ทำการศึกษาข้อมูลเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง จากพื้นที่ต่างๆ โดยมีการศึกษาแหล่งปลูกจากการส่งเสริมของศูนย์วิจัย การพบเห็นตามเส้นทางต่าง ๆ รวมถึงการสอบถามจากเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน และลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์เกษตรกรโดยตรง สามารถรวบรวมผลจากการศึกษาได้ 4 กรณี ดังนี้

1. กรณีศึกษา พื้นที่บ้านนาบอน ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย

จากการศึกษาข้อมูลพื้นที่ บ้านนาบอน ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย พบว่าในพื้นที่มีเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันไปแล้วโดยบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริม จุดเริ่มต้นของการปลูกปาล์มในพื้นที่จังหวัดเลย มีบริษัท จำหน่ายกล้าปาล์มน้ำมัน เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ โดยปี 2548 มีเกษตรกรร่วมโครงการ 182 รายคิดเป็นพื้นที่ปลูก 1.4 พันไร่ นอกจากนี้ยังมีบริษัท ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องร่วมส่งเสริมเกษตรกรรวม 288 ราย คิดเป็นพื้นที่ 4 พันไร่ สรุปปัจจุบันจังหวัดเลยมีการปลูกปาล์มแล้ว 5.4 พันไร่ คิดเป็นปาล์มจำนวน 1.2 แสนต้น หากรวมจังหวัดใกล้เคียง คือเพชรบูรณ์ และหนองบัวลำภู คาดว่ามีพื้นที่ปลูกปาล์มไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นไร่

ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดเลยมีพื้นที่ปลูกปาล์มแล้วประมาณ 1 หมื่นไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วราว 1 พันไร่ มีการจัดตั้งบริษัท เมืองเลยปาล์มน้ำมัน จำกัดเป็นการร่วมหุ้นของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ตั้งอยู่ที่ อ.เอราวัณ จ.เลย ดำเนินธุรกิจรับซื้อผลปาล์มดิบส่งขายให้กับโรงงานปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้

นายประทับ สืบสาย เกษตรกรและสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน บ้านนาบอน หมู่ 9 ที่ ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย มีการปลูกปาล์มในพื้นที่ 35 ไร่ โดยแรงจูงใจสำคัญของการปลูกปาล์มน้ำมันคือ การเห็นประสบการณ์จากพื้นที่ภาคใต้ ผ่านการเข้าไปทำงานรับจ้างในสวนปาล์มน้ำมันที่จังหวัดชุมพร ของลูกชาย ซึ่งเห็นว่าได้รับผลผลิตดี ราคาขายและรายได้ดี ประกอบกับสภาพพื้นที่ที่มีอยู่ได้มีการทำการเกษตรมาหลายรูปแบบทั้งสวนมะขามหวาน ไร่ข้าวโพด ไร่ขิง มันสำปะหลัง อ้อย เป็นเศรษฐกิจที่ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับครอบครัวได้ นายประทับและครอบครัวจึงได้มีความพยายามศึกษาเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม ด้วยการเดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดชุมพร การศึกษาข้อมูลจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ และการศึกษาข้อมูลจากนักวิชาการของศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันหนองคาย จึงตัดสินใจปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งมีแรงจูงใจสำคัญ คือ รายได้ และเห็นว่าเป็นการลงทุนครั้งเดียวที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ยาวนาน ถึง 25 ปี โดยที่ไม่ลงทุนปีต่อปี เหมือนพืชไร่ อื่น ๆ ข้อมูลเบื้อต้นจากการศึกษาด้วยตัวเองทำให้ตัดสินใจลงทุนปรับเปลี่ยนพื้นที่สู่การปลูกปาล์มน้ำมัน และมีการสร้างเครือข่ายผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในเขต ต.นาบอน ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 400 ราย ที่สนใจและสั่งกล้าพันธุ์ปาล์ม




ต้นทุนการผลิต
จากการศึกษาต้นทุนการผลิตในพื้นที่ 35 ไร่การคำนวณต้นทุนการผลิตเบื้องต้น พบว่าเกษตรกร มีการลงทุนไปกว่า 309,130 บาท ในระยะเวลา 3 ปีผ่านมาแล้วได้ผลผลิตตอบแทนเพียง 1,986 บาท ผลผลิตที่ได้รับ 890 กิโลกรัม เมื่อนำไปขายได้ราคา 2-3 บาท มีรายได้สุทธิจำนวน 1,986 บาท คิดเป็นรายละเอียดการลงทุน โดยซื้อต้นกล้าปาล์ม พันธุ์ยังกัมบิมาปลูกในพื้นที่35 ไร่ จำนวน 22 ต้นต่อไร่ ใช้ระยะปลูก 9x9 ราคาต้นละ 160 – 169 บาท รวมค่ากล้าพันธุ์ 130,130 บาท

การดูแลรักษา
ค่าปุ๋ย เนื่องจากมีการลงทุนในการซื้อต้นกล้าและการปรับพื้นที่ไปเป็นจำนวนมากการใช่ปุ๋ยจึงพยายามหาทางลดต้นทุนโดยการทำปุ๋ยใช้เอง ได้นำเอาวัสดุจากในท้องถิ่น เช่น กากถั่ว เปลือกถั่วเหลืองถั่วเขียว มูลสัตว์ ทำปุ๋ยชีวภาพที่มีในท้องถิ่น 2 ตันต่อปี ราคาตันละ 3,000 บาท เวลา 3 ปี รวมค่าวัสดุ 9,000 บาท ส่วนการพัฒนาระบบน้ำใช้บ่อนำขนาดใหญ่กลางแปลงจัดการโดยใช้ท่อซีเมนต์และท่อพีวีซีและจัดทำระบบน้ำหยด เป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร ( ธกส.) เป็นเงิน 150,000 บาท และค่าจัดการที่ดิน มีการใช้แรงงานคนในครอบครัว และซื้อน้ำมันรถไถเพื่อปรับพื้นที่ จำนวน 20,000 บาท จากข้อมูลเบื้องต้น ยังไม่คุ้มค่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยปรับสภาพดิน ที่ต้องบำรุงต้นปาล์มตามสภาพ เช่น การใช้ซิลิกอนรองก้นหลุม ใช้ปุ๋ยเคมีตามการวิเคราะห์อาการและได้รับคำแนะนำตามหลักวิชาการ รวมค่าการลงทุนในการซื้อต้นกล้าปาล์มและการดูแลรักษาเป็นเงินจำนวน 309,130 บาท

การให้ผลผลิต ในปีที่ 3 (2550) สามารถตัดทะลายปาล์มได้โดยการตัดกำหนดระยะเวลา 15 วัน จึงสามารถตัดได้ 1 ครั้ง ปีแรกให้ผลผลิต 4 รอบการเก็บเกี่ยว ดังนี้
ครั้งที่ 1 ได้ผลผลิต จำนวน 198 กิโลกรัม ราคา 3 บาท = 594 บาท
ครั้งที่ 2 ได้ผลผลิต จำนวน 80 กิโลกรัม ราคา 2 บาท = 160 บาท
ครั้งที่ 3 ได้ผลผลิต จำนวน 247 กิโลกรัม ราคา 2 บาท = 494 บาท
ครั้งที่ 4 ได้ผลผลิต จำนวน 369 กิโลกรัม ราคา 2 บาท = 738 บาท
นายประทับ มีแหล่งตลาดที่อำเภอเอราวัณ มีการรับซื้อผลผลิตราคากิโลกรัมละ 3 บาท โดยบริษัทเมืองเลยปาล์ม มีลานเทรับซื้อจากเครือข่ายผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และมีพ่อค้าคนกลางรับซื้อในท้องถิ่น ราคากิโลกรัมละ 2 บาท (ราคาเมื่อต้นปี 2551) และในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2551 ราคาผลผลิตลดต่ำลง เหลือ 1 บาท และไม่มีตลาดขายทะลายปาล์ม จนต้องปล่อยทะลายปาล์มที่ตัดได้แล้วทิ้ง

การขยายตัวของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันพื้นที่อำเภอเชียงคาน กลุ่มเกษตรกรประมาณ 50 รายที่ปลูกในปี 2549 เริ่มให้ผลผลิตทะลายปาล์มน้ำมันแล้ว และมีเกษตรกรกว่า400 คน ที่ให้ความสนใจปลูกปาล์มน้ำมันโดยมีการเตรียมพื้นที่ด้วยการรื้อสวนมะม่วง สวนมะขามหวาน และสวนผลไม้อื่น ๆ รอการปลูกปาล์มน้ำมัน แต่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ

3. กรณีศึกษาบ้านโคกเจริญ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ
การศึกษาปาล์มน้ำมัน บ้านโคกเจริญ ต.ละลาย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ พบว่า เริ่มปลูกเมื่อปี 2547 – 2548 เกิดจากการไปศึกษาจากพื้นที่บ้ายห้วยฆ้อง อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ โดยผู้นำชุมชนและผู้สนใจจำนวน 5 คน ไปศึกษาแปลงของเกษตรกรที่ปลูกมานานและเริ่มให้ผลผลิตแล้ว เห็นว่าในพื้นที่นั้นสามารถให้ผลผลิตได้ดี การศึกษาดูงานในพื้นที่เกษตรกร 3 ครั้ง และได้ร่วมกันไปศึกษาดูงานจากโรงงานสุขสมบูรณ์ และเห็นช่องทางการลงทุน การตลาด จึงตัดสินใจปลูกปาล์ม โดยซื้อพันธุ์จากที่ผ่านการรับรองจากบริษัทสุขสมบูรณ์ ใช้พันธุ์เทเนอรา

จากการสัมภาษณ์ นายวรจักร บุญสูง เกษตรกรบ้านโคกเจริญ พบว่าเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่บ้านโคกเจริญ จำนวน 30 ครัวเรือน รวมพื้นที่กว่า 500 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีพื้นที่การปลูกประมาณ 10 – 30 ไร่ มีการรวมกลุ่มกันเองภายในชุมชนเพื่อซื้อต้นกล้าปาล์ม และนัดหมายการตัดผลผลิตเพื่อขายทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของเดือน

การปลูกและการดูแล
นายวรรจักร เริ่มปลูก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 ใช้ต้นกล้าพันธุ์เททเนอรา อายุประมาณ 8 เดือน ราคาต้นละ 59 บาท ช่วงเริ่มปลูกมีการให้น้ำต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือนโดยให้สัปดาห์ละครั้ง การใช้ปุ๋ยส่วนมากใช้ปุ๋ยชีวภาพ เป็นปุ๋ยคอก ที่สามารถหาซื้อได้ภายในชุมชน และใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15- 15 – 15 ราคากระสอบละ 1,300 บาท อัตรการใช้ปุ๋ยเฉลี่ยปีละ 3 - 4 ครั้งต่อปี ครั้งละ 1 กระสอบ

การตัดและจำหน่ายผลผลิต
การตัดทะลายปาล์ม มีการนัดหมายตัดพร้อมๆ กันทุกวันที่15 ของเดือน และ 15 วัน ตัด 1 ครั้ง โดยมีพ่อค้ามารับซื้อ ในชุมชน รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกช่องทางการขายนี้ นอกจากนี้มีลานเท (ร้ายไทยยนต์) ใน อ.กันทรลักษณ์ รับซื้อในราคา 3.20 บาท
ปริมาณผลผลิตในพื้นที่ 5 ไร่ ของนายวรจักร ให้ผลผลิต 1.7 ตัน ขายได้ราคา กิโลกรัมละ 3.20 – 4 บาท (ราคาหน้าโรงงานที่ชลบุรี 7 บาท)

จากการศึกษาในพื้นที่พบว่าเกษตรกรค่อนข้างมั่นใจว่าการลูกปาล์มจะให้ผลผลิตแต่ไม่มั่นใจว่าราคาจะเป็นอย่างไรเนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนขึ้น ลง อยู่ตลอดเวลา ในพื้นที่ อ.กันทรลักษณ์จะสามารถให้ผลผลิตที่คุ้มค่าเนื่องจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. สภาพพื้นที่ ลักษณะดินเป็นดินร่วน ปนดินเหนียวเหมาะสม การให้น้ำให้เพียงระยะ 3 เดือนแรกและให้ในอัตรา สัปดาห์ ต่อครั้ง
2. การใช้ปุ๋ย เกษตรกรในพื้นที่มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยคอกที่หาง่ายในท้องถิ่น ลดปริมาณการซื้อปุ๋ยเคมีซึ่งมีราคาแพง มีวิธีการใส่ปุ๋ยคอกโดยไม่ต้องเพิ่มการจัดการ ประหยัดแรงงานด้วยการนำปุ๋ยคอกใส่กระสอบปุ๋ยและผ่าด้านหนึ่งแล้วนำไปวางไว้ใกล้โคนต้นระยะห่างประมาณ 0.50 เมตร
3. การปลูกพืชแซม เพื่อสร้างรายได้เสริม ระยะ 1-2 ปีแรก เกษตรกรมีการปลูกพืชอายุสั้นแซมระหว่างต้น เช่น กล้วย มะละกอ มะเขือ มะเขือพวง ข้าวโพด พืชผักสวนครัวอื่น ๆ ที่เป็นรายได้ระยะที่ปาล์มยังไม่ให้ผลผลิต
4. การตลาด มีการจัดการผลผลิตโดยรวมกลุ่มกันนัดหมายตัดทะลายปาล์มพร้อมกันทำให้ผลผลิตมีมากพอให้บริษัทมารับซื้อถึงในชุมชน โดยเกษตรกรไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าขนส่ง วันขายชัดเจนทำให้สามารถวางแผนการตัด- ขายได้โดยผลผลิตไม่เสียน้ำหนัก
ส่วนการจัดการผลผลิตมีการตั้งเครื่องสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กจำนวน 2 เครื่องจากโครงการ SML โดยผ่านกระบวนการแบบง่าย ๆ สกัดน้ำมันไปใช้กับรถไถนา

การขยายตัวในพื้นที่แถบนี้มีบ้านสามเสา บ้านห้วยตาสด บ้านโคกเจริญ หากประเมินจากจำนวนกล้าปาล์มที่บริษัทนำมาขายในพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ ในแถบเทือกเขาพนมดงรัก

3. กรณีศึกษาบ้านนิคมแปลง 1 ตำบลชานุมาน อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ
นายปราโมทย์ ทองแสง อายุ 50 ปี บ้านนิคมแปลง 1 ต.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ นายปราโมทย์เป็นคนอำเภอเขื่องในจังหวัดอุบลราชธานี ได้ย้ายติดตามพ่อซึ่งเป็นทหารผ่านศึกมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บ้านนิคมแปลง 1 ตั้งแต่นายปราโมทย์ยังเด็ก เมื่อปี 2513 ได้รับการจัดสรรที่ดินจากทางราชการ จำนวน 23 ไร่ นายปราโมทย์แต่งงานมีบุตร 3 คน กำลังเรียนระดับอุดมศึกษา 2 คน ชั้นประถมศึกษาอีก 1 คน ครอบครัวมีอาชีพรับจ้างไถไร่ในพื้นที่ มีรถไถนา 3 คัน ครอบครัวได้ซื้อที่ดินเพิ่มสองแปลง แปลงละ 8 ไร่ รวมมีพื้นที่เพิ่มเป็น 16 ไร่ ปลูกมันสำปะหลัง กล้วย สับปะรด ที่ดินแปลงหนึ่งมีปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากการพัฒนาถนนที่ตัดผ่านพื้นที่ได้มีการยกระดับผิวถนนและพัฒนาเป็นถนนลาดยางโดยไม่มีการวางท่อระบายน้ำบริเวณที่ดินนั้น ทำให้น้ำท่วมทุกปีส่งผลให้ การปลูกสวนกล้วยและสับปะรดขาดทุนทุกปี นายปราโมทย์สนใจปลูกยางพาราเนื่องด้วยพื้นที่น้ำท่วมจึงไม่สามารถปลูกยางพาราได้จึงสนใจปลูกปาล์มน้ำมัน โดยได้ไปศึกษาข้อมูลจากนายเส็ง บ้านห้วยฆ้อง ต.ป่าก่อ อ.ชานุมาน อ.อำนาจเจริญ จากประสบการณ์ของนายเส็งที่ปลูกมาแล้ว 9 ปี ( ปลูกเมื่อปี 2542 ) ที่เล่าว่าได้นำเอาทะลายปาล์มขนาดใหญ่หนัก 40 กิโลกรัม มาจากการไปรับจ้างที่ภาคใต้ นำมะเพาะเมื่อปี 2541 และเริ่มปลูกปาล์มในไร่มันสำปะหลัง 200 ต้น ในปี2542 หลังจากนั้น 3 ปี ก็ให้ลูกตัดผล แต่ไม่มีตลาด จึงต้องตัดไปให้หมูป่าที่เลี้ยงไว้กิน ประสบการณ์ของนายเส็งบอกว่าปาล์มน้ำมันสามารถทนน้ำท่วมได้ 2 - 3 เดือน

การตัดสินใจปลูกปาล์มของนายปราโมทย์ หลังจากไปศึกษาจากแปลงของนายเส็งซึ่งมีบทบาทในการขายกล้าปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่าด้วย ในราคาต้นละ 80 บาท แต่ขณะนั้นไม่มีกล้าปาล์ม จากนั้นได้ตัดสินใจสั่งซื้อกล้าปาล์มจากป้ายโฆษณาของบริษัทสหพันธ์ปาล์ม และมีนายหน้าอยู่ที่บ้านพรเจริญ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านนายปราโมทย์มากนัก ราคาต้นกล้าปาล์มลูกผสมเทเนอรา ราคาต้นละ 90 บาท บริการส่งถึงบ้าน จึงสั่งซื้อต้นกล้าจำนวน 475 ต้นเป็นเงินจำนวน 42,750 บาท นำมาปลูกในพื้นที่ 2 แปลง 16 ไร่ ใช้ระยะปลูก 7 x 8 เมตร ใช้วิธีการไถเบิกร่องแล้วขุดหลุมปลูกโดยไม่ได้ใช้ปุ๋ยรองก้นหลุม

การดูแลรักษา ได้มีการจัดทำระบบน้ำในแปลงที่อยู่ใกล้หมู่บ้านลงทุนค่าอุปกรณ์ 8,000 บาท แล้วใช้แรงงานตัวเองในการติดตั้งระบบส่งน้ำและใช้น้ำจากระบบประปาของหมู่บ้านในระยะแรก ปัจจุบันได้ขุดเจาะบ่อบาดาลลงทุน 11,000 บาท ส่วนแปลงที่มีปัญหาน้ำท่วมไม่ต้องทำระบบน้ำ ปีที่ผ่านมา ( 2551) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 เพียงกระสอบเดียว เพราะเห็นว่าราคาปาล์มไม่สูง ไม่อยากลงทุน

ตลาดปาล์มน้ำมัน หลังจากตัดทะลายปาล์มได้นำไปขายที่จุดรับซื้อที่บ้านห้วยฆ้อง โดยมีลูกสาวนายเส็ง ตั้งเป็นจัดรับซื้อและมีรถบรรทุกจากบริษัทสุขสมบูรณ์ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรีมารับซื้อไปยังโรงงาน ในทุกวันที่ 1 และ วันที่ 15 ของทุกเดือน ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่ที่มีผลผลิตปาล์มน้ำมันแล้ว ในหลายหมู่บ้านเช่น บ้านคำเขื่อนแก้ว บ้านปากก่อ บ้านโคกก่อ และอำเภอชานุมาน

การให้ผลผลิตปาล์มอายุ 2 ปี ของนายปราโมทย์ ให้ทะลายประมาณ 20% ของจำนวนต้นทั้ง 2 แปลง ได้ตัดมาแล้ว 3 รอบ ได้ผลผลิตครั้งละ 500-600 กิโลกรัม บรรทุกไปขายให้กับจุดรับซื้อในพื้นที่ ราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท ครั้งล่าสุดที่ตัดปาล์ม ( 15 ต.ค. 2551 ) และรอบล่าสุดไม่ได้ตัดปาล์มเนื่องจากติดภารกิจของครอบครัว

ปฏิกิริยาของคนในชุมชน ได้รับความสนใจจากเพื่อนบ้าน ค่อนข้างมาก ประเด็นที่สนใจคือ การปลูกปาล์มต้องรดน้ำหรือเปล่า ปลูกแล้วขายที่ไหน กี่ปีจะได้ขาย และหลักเกณฑ์ที่บอกว่าต้องส่งโรงงานภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากตัดเป็นเงื่อนไขที่ชาวบ้านรับไม่ได้มากที่สุด เพราะเห็นว่ากดดันมากเกินไป

นายปราโมทย์ มีทัศนะต่อการขายผลผลิตว่าตลาดน่าจะเคลื่อนเข้ามาหาพื้นที่ในเร็ว ๆ นี้ แต่ราคารับซื้อปาล์มก็ไม่น่าจะสูง เพราะทราบว่าราคา 2-3 บาทต่อกิโลกรัมมานานแล้ว คาดว่าพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญน่าจะปลูกปาล์มไปแล้วกว่า 10,000 ไร่ ทั้งจากการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและการส่งเริมของบริษัทเอกชน หมู่บ้านใกล้เคียงในเขตอำเภอชานุมาน เช่นบ้านห้วยสิ่ว ตำบลชานุมาน บ้านคำเดือย ตำบลคำเขื่อนแก้ว บ้านห้วยกอก บ้านนายาง อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น

ปัญหาที่พบ เนื่องจากปาล์มเป็นพืชใหม่ที่ไม่เคยรู้จักเลย หากว่ามีปัญหาอาการจะแสดงออกทางใบ ทางทะลายแต่ไม่มีความรู้เลย ดูไม่ออกและไม่มีใครมาแนะนำให้คำปรึกษาเลย ปีที่ผ่านมาปาล์มในแปลงน้ำท่วมหลังน้ำลดมีอาการใบไหม้เป็นจุดตายไป 3 ต้น ก็ยังไม่ทรายสาเหตุว่าตายเกิดจากการใส่ปุ๋ยมากเกินไปหรือติดเชื้อโรคอะไร

และนายปราโมทย์มีข้อเสนอว่าหากราคาทะลายปาล์มตกต่ำน่าจะส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันสกัดน้ำมันปาล์มทำ ไบโอดีเซลใช้กันเอง

4. กรณี นายสมาน แก้วมณี บ้านโพนสว่าง ต.รัตนวาปี อ.รัตนวาปี
จากการศึกษาแปลงเกษตรกรของนายสมาน แก้วมณี อายุ 61 ปี มีการปลูกปาล์มน้ำมันในปี2549 โดยเขาร่วมโครงการกับศูนย์วิจัยปาล์มหนองคาย ก่อนการปลูกได้ผ่านการฝึกอบรม ให้ความรู้จากศูนย์วิจัยปาล์มหนองคาย การให้ความรู้ถึงวิธีการปลูก การใส่ปุ๋ย การดูแลรักษา และมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยฯ ลงไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ ทีมศึกษาลงศึกษาแปลงของนายสมานพบว่าสภาพพื้นที่เป็นที่นาลุ่ม ติดหนองน้ำขนาดใหญ่เรียกว่าหนองคอน เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดปี เชื่อมต่อกับห้วยปากคาด นายสมาน บอกว่าเดิมทีพื้นที่จำนวน 22 ไร่นี้เคยเป็นที่นา ปลูกข้าวไว้กิน บางปีที่น้ำไม่ท่วมก็ได้ข้าวค่อนข้างมาก บางปีที่น้ำท่วมข้าวก็เสียหาย ด้วยความคิดอยากสร้างรายได้ให้กับครอบครัวยามแก่ ประกอบกับครอบครัวไม่มีแรงงาน คิดว่าการปลูกปาล์มน้ำมันเป็นทางออกหนึ่ง จึงตัดสินใจใช้พื้นที่นาน้ำท่วมจำนวน 22 ไร่ ปลูกปาล์มน้ำมัน

การลงทุนนายสมานบอกว่า ได้ซื้อต้นกล้าปาล์มน้ำมันพันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 จากศูนย์วิจัยปาล์มหนองคาย จำนวน 500 ต้น ราคากล้าปาล์มต้นละราคา 50 บาทเป็นเงินจำนวน 25,000 บาท เดิมมีความพยายามเข้าร่วมโครงการร่วมระหว่างกรมวิชากรเกษตรกับธกส. เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน แต่ว่าการดำเนินการล่าช้า และยังไม่ได้รับการอนุมัติ ความสนใจจึงนำพาตัวเองไปกู้เงินธกส. จำนวน 80,000 บาท เพื่อซื้อกล้าปาล์ม

การลงทุน นอกเหนือจากค่าพันธ์ปาล์มยังมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าปุ๋ยเคมี สูตร 21-0-0 ปีที่ 1 รองก้นหลุมก่อนปลูก จำนวน 2 กระสอบ ปีที่ 2 ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-0-0 จำนวน 6 กระสอบ กระสอบละ1,000 บาท ค่าปุ๋ยเป็นเงิน 8,000 บาท ค่าไถปรับพื้นที่ 30,000 บาท

ปัญหา น้ำท่วมแปลง ซึ่งปัจจุบัน( 22 กันยายน 2521) ในแปลงปาล์มน้ำมันมีน้ำท่วมสูงมิดยอดนานกว่า 20 วัน และบางต้นมีอาหารแห้งตาย โดยไม่ทราบสาเหตุ และต้องเตรียมกล้าปาล์มปลูกซ่อมอีกประมาณ 50 ต้นเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตขึ้นอีก และไม่มั่นใจว่าหลังน้ำลดจะมีอัตราการตายเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่

สภาพปัญหา ข้อจำกัด ผลกระทบที่เกิดขึ้น
ข้อมูลเบื้องต้นจากพื้นที่พบว่าการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคอีสาน จากแปลงศึกษาพบข้อจำกัด ด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ความรู้ เทคนิค การปลูกปาล์มน้ำมัน การดูแลรักษาต้นกล้า การให้น้ำ ให้ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ควบคุมโรค และแมลง ตลอดจนการเตรียมต้นกล้า พร้อมนำไปปลูกในแปลงปลูกจริง ต้องปฏิบัติตามหลักวิชาการ แต่เกษตรกรยังไม่มีความชัดเจนในการปลูกปาล์มน้ำมัน ความรู้ที่มีรับผ่านการส่งเสริมของผู้ผลิตกล้าปาล์ม ข้อมูลที่ได้รับทำให้เกษตรกรวิเคราะห์แนวโน้มที่จะได้รับผลผลิต และมีความหวัง แต่หน่วยงานระดับจังหวัดยังไม่มีข้อมูลเช่น เกษตรจังหวัดเลย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขปริมาณการปลูกปาล์มน้ำมันในจังหวัดเลยที่แน่ชัด ที่สำคัญยังไม่มีการรับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะต่อการปลูกปาล์มหรือไม่

2. คุณภาพสายพันธุ์ พันธุ์ที่เหมาะสมคือพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1, 2 และ 3 สายพันธุ์ปลูกเป็นการค้าคือลูกผสมเทเนอรา (ดูรา x ฟิสิเฟอรา)เป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตร จัดหาและแนะนำพันธุ์ ที่ให้ผลผลิตสูงแก่เกษตรกร แต่สายพันธุ์”ยังกัมบิ”ที่มีธุรกิจกล้าปาล์มโฆษณาในพื้นที่จ.เลย นำมาขายในพื้นที่เป็นพันธุ์ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก จึงเป็นความเสี่ยงในการได้พันธุ์ที่ดีและให้ผลตามการชวนเชื่อ ซึ่งการเลือกพันธุ์มีความสำคัญมาก ถ้าเลือกใช้พันธุ์ ที่มี คุณภาพต่ำ (พันธุ์ปลอม) ได้จากการผสมระหว่างพ่อและแม่พันธุ์ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกสายพันธุ์ และผสมพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ หรือได้จากการผสมพันธุ์แบบเปิด คือ ไม่มีการควบคุมการผสมพันธุ์และส่วนใหญ่ได้จากต้นกล้าที่งอกอยู่บริเวณใต้โคนต้น ความเสียหายเมื่อนำพันธุ์ปาล์มน้ำมันคุณภาพต่ำ ไปปลูก คือ ผลผลิตทะลายปาล์มสดและน้ำมันดิบลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกด้วยพันธุ์การค้า 15-50 % และ 35-55 % จะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย อาจจะต้องโค่นทิ้งถ้าสายพันธ์ไม่ดี ราคาต้นพันธุ์มีราคาแพง มีความเสี่ยงต่อการได้รับต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพไม่ตรงตามสายพันธุ์

3. ความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และแหล่งน้ำที่เพียงพอ รวมถึงความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมต่อการออกดอก การเจริญของผลปาล์ม แม้ว่าต้นปาล์มเจริญเติบโตดี แต่การให้ผลผลิตยังไม่สามารถประเมินได้ว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

การศึกษาพบว่าต้นปาล์มสามารเจริญเติบโตได้ทั่วไปในภาคอีสาน แต่การให้ผลผลิตเป็นทะลายที่สมบูรณ์และมีความคุ้มทุน อาจจะอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดปีและมีความชื้นสูงเพียงพอต่อการพัฒนาผลของปาล์ม

4. การตลาด การจัดการผลผลิต ยังไม่มีตลาดที่แน่นอนในพื้นที่ภาคอีสาน และยังไม่มีโรงงานผลิตปาล์มน้ำมัน มีเพียงการดำเนินธุรกิจรับซื้อผลปาล์มดิบส่งขายให้กับโรงงานปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก โดยสร้างเครือข่ายผู้รวบรวมปาล์มสด การตลาดในพื้นที่ยังไม่มีความมั่นคง การซื้อขายมีเพียงลานรับซื้อในกลุ่ม เช่น เกษตรกรที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ได้รวกลุ่มกันเพื่อขายปาล์มผ่านบริษัทเมืองเลยปาล์ม และ ราคาผลผลิตได้เพียงกิโลกรัมละ 2 บาท เกษตรกรในพื้นที่กันทรลักษณ์มีการรับซื้อในชุมชนโดยบริษัทสุขสมบูรณ์

5. การแย่งชิงพื้นที่ผลิตอาหาร การรุกพื้นที่ของปาล์มน้ำมันในพื้นที่อาหาร ปรากฏในหลายพื้นที่ เช่น พื้นที่ปลูกไม้ผล ที่ อ.เชียงคาน พื้นที่นาข้าว นาที่ลุ่มใน อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ และพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง การสูญเสียพื้นที่อันเคยเป็นแหล่งอาหารทั้งอาหารธรรมชาติ และการปลูกพืชผักอาหาร หากไม่มีมาตรการกำกับที่ชัดเจนและราคาจูงใจ จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวเบียดแย่งพื้นที่ผลิตอาหารได้

โอกาสและความหวัง
พื้นที่ในภาคอีสานบางพื้นที่มีศักยภาพเพียงพอในการปลูกปาล์มน้ำมัน เช่น อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีษะเกษ สามารถให้ผลผลิตได้ และการให้ผลผลิตที่ต่อเนื่อง เป็นโอกาสเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่สามารถเติบโตได้ท่ามกลางพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด

แรงจูงใจของเกษตรกรในการปลูกปาล์มน้ำมัน
นอกเหนือไปจากแรงจูงใจของปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติพลังงาน การพัฒนาเทคโนโลยี และนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐทำให้ธุรกิจพลังงานทดแทนจากปาล์มน้ำมันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในจังหวัดเลย ทั้งที่ยังไม่มีการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะต่อการปลูกปาล์มหรือไม่ การมีบริษัทเอกชนลงไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกและรับซื้อผลผลิต เป็นอีกเหตุ ปัจจัยทำให้เกษตรกรตัดสินใจปลูกปาล์มน้ำมันแทนการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง หรือแม้กระทั่งการทำนา เนื่องจากมองว่าปาล์มน้ำมันมีข้อดีกว่าหลายประการดังนี้

• การปลูกปาล์มน้ำมันเป็นการลงทุนครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนนานเป็นเวลา 20 – 25 ปี ไม่ต้องลงทุนปีต่อปีเหมือนพืชไร่ เช่นมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด
• ระยะเวลาการให้ผลผลิตเร็วกว่าไม้ผล เช่น มะขามหวาน คือประมาณ 3 ปีก็เริ่มต้นให้ผลผลิต ในขณะที่มะขามหวานต้องใช้ระยะเวลา 3 – 4 ปีจึงจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต และราคาผลผลิตราคาตกต่ำ ไม่แน่นอน
• แม้ว่าจะเป็นการลงทุนที่สูงมากแต่คาดว่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า สามารถสร้างเงินรายได้เป็นก้อนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะน้ำมันแพง ความต้องการพลังงานทดแทนมีมากขึ้น ผลผลิตปาล์มมีราคาถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
• การส่งเสริมของหน่วยงานราชการโดยมีกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพลังงาน เช่น การส่งเสริมผ่านโครงการวิจัยและพัฒนา โดยศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน จ.หนองคาย และศูนย์วิจัยพืชไร่จังหวัดอุบลราชธานี
• การส่งเสริมและการสร้างแรงจูงใจด้วยการให้สินเชื่อ ให้ข้อมูลผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับในเชิงบวก โดยธุรกิจขยายพันธุ์ และสร้างแรงจูงใจด้วยการให้ผ่อนซื้อกล้าพันธุ์จากราคา 160 บาท ให้ซื้อในราคา 110 บาท เมื่อได้รับผลผลิตจึงจะจ่ายคืนอีก 50 บาท

แม้ว่าผลตอบแทนเรื่องรายได้ในความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นไปตามที่ภาครัฐและธุรกิจเอกชนให้ข้อมูลไว้เสียทั้งหมด แต่แรงจูงใจเหล่านี้ก็เพียงพอให้เกษตรหลายรายเลือกที่จะปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ แล้วมาลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันกันมากขึ้น ซึ่งกระแสความร้อนแรงของปาล์มน้ำมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างกว้างขวาง ทั้งใน พื้นที่นา สวนผลไม้ พื้นที่ปลูกอาหารสัตว์ รวมถึงพื้นที่ว่างเปล่า ไปจนกระทั่งพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ การกว้านซื้อที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยโดยนายทุนและเกษตรกรรายใหญ่ ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนในชุมชนตามมา

ข้อคิดเห็น จากการศึกษา
จากการศึกษาพบว่าเกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงเพียงลำพังเช่น เกษตรกรหลายพื้นที่ต้องตัดทะลายปาล์มทิ้ง สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้ หลายพื้นที่ขาดความรู้ทางวิชาการจึงมีข้อสังเกตและ ข้อคิดเห็นกรณีการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสาน ต่อเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐ ดังนี้

1. เกษตรกรรายย่อยที่ยังไม่ตัดสินใจ
มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเท่าทันข้อมูล ศึกษาอย่างละเอียดบนพื้นฐานความเป็นจริงของที่ดิน แหล่งน้ำ ตลาด และความรอบรู้เกี่ยวกับปาล์มน้ำมันก่อนที่จะตัดสินใจ โดยเฉพาะการลงทุนทำการผลิตที่ต้องใช้ต้นทุนสูง ใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้เก็บเกี่ยว รวมถึงการใคร่ครวญต่อวิถีการผลิตที่ต้องพึงรักษาพื้นที่อาหารแหล่งอาหารธรรมชาติ อย่าให้สูญเสียไปกับการผลิตพืชน้ำมัน หรือพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามกระแสของเศรษฐกิจภาพรวม
ส่วนเกษตรกรที่ลงทุนปลูกไปแล้ว รัฐต้องประสานให้มีการรับซื้อ การสกัดปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ในชุมชน ไม่ควรปล่อยผลผลิตทิ้ง ควรประสานให้เกิดการพัฒนาการสกัดปาล์มน้ำมันระดับชุมชน

2. ความจำเป็นที่ต้องหาข้อสรุปทางวิชาการ
ในการปลูกปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตรและนักวิชาการที่ปฏิบัติงานในฐานะนักส่งเสริม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา วิจัย ค้นคว้าข้อเท็จจริง ให้เกิดข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนทำการส่งเสริม รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ต่อเกษตรกรและสาธารณะอย่างรอบด้าน ในแง่มุมที่เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่จะอาจเกิดขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เกษตรกรตัดสินใจบนพื้นฐานการรับรู้ข้อมูลที่เห็นว่าจะได้ น่าจะให้ผลผลิตที่ดี หรือได้รับคำแนะนำจากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจกล้าปาล์ม และสุดท้ายเกษตรกรก็ต้องเป็นผู้ที่แบกรับความเสี่ยงเพียงลำพัง

ข้อมูล ความชัดเจนในหลักวิชาการที่หน่วยงานมีข้อมูล ความรู้ที่ชัดเจนอยู่แล้วต้อง มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเข้าถึง ต้องจริงจังกับการวางกลยุทธการให้ข้อมูลแก่เกษตรกร
ที่มา : คณะทำงานศึกษาพืชพลังงานอีสาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น