*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ปลูกปาล์มน้ำมันอีสานเสี่ยงสูง ขาดความรู้-ต้นทุนสูง-ไม่มีตลาดรับซื้อ

ปลูกปาล์มน้ำมันอีสานเสี่ยงสูง ขาดความรู้-ต้นทุนสูง-ไม่มีตลาดรับซื้อ





เวทีเสวนาฝ่าวิกฤตอาหาร และพลังงาน เรื่อง ปาล์มน้ำมันใน อีสาน : ความหวังหรือภัยเงียบ ? ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), สถาบันวิจัยและการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กระทรวงพลังงาน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อมูลที่หลายฝ่ายต้องตระหนักอย่างยิ่ง


ปลูกปาล์มอีสานมีข้อจำกัดเพียบ

นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เปิดประเด็นว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 3.2 ล้านไร่ ในปี 2550 มีผลผลิตออกสู่ตลาด 6.6 ล้านตัน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา ส่งเสริมไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันดีเซล ร้อยละ 5 ในปี 2554 หรือเป็นไบโอดีเซล B100 จำนวน 3.02 ล้านลิตรต่อวัน จึงมีแผนส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่ม 2.5 ล้านไร่ในปี 2551- 2555 และเพิ่มเป็น 10 ล้านไร่ในปี 2572 โดยพื้นที่ภาคอีสานอยู่ในเป้าหมาย 5 แสนไร่ มีภาคเอกชน เข้ามาส่งเสริมและมีธุรกิจจำหน่ายกล้าปาล์มน้ำมันอย่างกว้างขวาง

ปัญหาเวลานี้คือ เกษตรกรชาวอีสานยังขาดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับปาล์มน้ำมันในฐานะพืชแปลกถิ่น อีกทั้งยังไม่มีโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันมีการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสานไปแล้ว 70,000- 100,000 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ จ.หนองคาย, เลย, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี, มุกดาหาร และศรีสะเกษ โดยมีศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน จ.หนองคาย กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักให้การส่งเสริม มีการจัดฝึกอบรมและสนับสนุนสินเชื่อในรูปของกล้าปาล์ม และ ธ.ก.ส.ให้เงินกู้เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันอีกด้วย

ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยพื้นที่ปลูก 10-20 ไร่ ใช้พื้นที่เดิมที่เป็นนาข้าว นาลุ่มน้ำท่วม สวนมะขามหวาน ลำไย เป็นต้น ซึ่งเป็นการเบียดแย่งพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารได้

จากการลงพื้นที่ศึกษาของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน พบข้อจำกัดในการปลูกปาล์มในภาคอีสานหลายด้าน คือ มีการปลูกปาล์มน้ำมันกระจายทั่วภาคอีสาน ทั้งที่หลายพื้นที่ไม่มีความเหมาะสม เช่น มหาสารคาม ยโสธร และพบว่าในหลายพื้นที่ อายุปาล์ม 4-5 ปี ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วต้องตัดทะลายปาล์มทิ้ง เกษตรกรจึงเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงแต่ฝ่ายเดียว ขณะที่ราคาต้นกล้าปาล์มสูงถึงต้นละ 60-180 บาท ทั้งยังไม่มีโรงงานหีบน้ำมันปาล์มในภาคอีสาน จึงยังไม่มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน

ดร.อุดม คำชา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน จ.หนองคาย ให้ข้อมูลว่า ได้กระจายกล้าปาล์มน้ำมันในภาคอีสานราว 8 แสนต้น คิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 4 หมื่นไร่ ซึ่งเป็นเพียงการเริ่มทดลองปลูกเท่านั้น เพราะต้องหาพันธุ์ที่เหมาะสม ทนแล้ง และให้ผลผลิตสูง เนื่องจากปาล์มเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่มีพื้นที่ปลูกในเชิงพาณิชย์แล้ว 7 จังหวัด คือ หนองคาย, สกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร, อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์

การปลูกปาล์มในภาคอีสานยังเป็นเรื่องน่าห่วง มีความเสี่ยงสูง เพราะยังไม่มีโรงงานสกัดน้ำมันในพื้นที่ ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนหลายปี กว่าจะคืนทุนต้องใช้เวลา 7-10 ปี เกษตรกรทั่วไปไม่ควรปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยวในทางพาณิชย์ ควรปลูกพืชอื่นด้วย


อย่าผลีผลามปลูก-ศึกษาข้อมูลให้ดี


ขณะที่นายสมบัติ เหสกุล นักวิชาการ ผู้วิจัยศักยภาพการผลิตพืชพลังงาน กล่าวว่า ถ้าดูตัวแปรทางเศรษฐกิจในการปลูกปาล์มน้ำมันที่ภาคอีสาน ตนเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่คุ้มกับการลงทุน ที่ปลูกไปแล้ว 1 แสนไร่ ส่วนใหญ่ขาดความรู้ ขาดทักษะ ทั้งการคัดเลือกสายพันธุ์ การดูแล แม้แต่โรคที่เกิดกับปาล์มน้ำมันก็ยังไม่รู้ ส่วนโรงงานที่รับซื้อก็อยู่ใกล้ที่สุดที่ จ.ชลบุรี มีระยะทางไกลกว่า 700 กิโลเมตร ต้นทุนการขนส่งสูงมาก

ราคารับซื้อในภาคอีสานปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 2-2.50 บาท ถือว่าไม่คุ้มกับการลงทุน ที่ควรต้องได้ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 3.5 บาทขึ้นไป จึงเห็นว่า ผู้ที่ยังไม่ปลูกก็ควรหยุดไว้ก่อน ส่วนที่ปลูกแล้ว รัฐบาลต้องส่งเสริมและหาทางช่วยเหลือต่อไป

การเสวนายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยไม่พร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ครองตลาดน้ำมันปาล์ม ผู้ประกอบการรายเดียวลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้ต้นทุนต่ำ และภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน กำหนดให้น้ำมันพืชเป็น 1 ใน 15 รายการสินค้าที่ไทยต้องลดภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 ซึ่งจะส่งผลกระทบ กับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทยทั้งระบบ

การเสวนาครั้งนี้มีความเห็นร่วมกันว่า จะต้องทำให้ประชาชนตระหนักในด้าน "ความมั่นคงอาหาร" ไม่ทำการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อการทำลายฐานทรัพยากรอาหารของครอบครัวและชุมชน ส่วนเกษตรกรรายย่อยที่ยังไม่ตัดสินใจปลูกปาล์มน้ำมันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้เท่าทันข้อมูล ศึกษาอย่างละเอียดบนพื้นฐานความเป็นจริงของที่ดิน แหล่งน้ำ ตลาด และความรอบรู้เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน

สำหรับเกษตรกรที่ลงทุนปลูกไปแล้ว รัฐบาลต้องประสานให้มีการรับซื้อสกัดปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ในชุมชน รวมทั้งต้องศึกษา วิจัย ให้เกิดข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนทำการส่งเสริมและเผยแพร่ข้อมูลต่อเกษตรกรและสาธารณะทั้งแง่มุม "โอกาสและความเสี่ยง" ที่จะอาจเกิดขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เกษตรกรตัดสินใจ บนพื้นฐานการรับรู้ข้อมูลที่เห็นว่าน่าจะให้ผลผลิตที่ดี

หรือได้รับคำแนะนำจากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจกล้าปาล์ม เพราะสุดท้ายเกษตรกรต้องเป็นผู้ที่แบกรับภาระทั้งหมด


























.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น