*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

*** การเรียนรู้ตลอดชีวิตของพ่อใหญ่ครูเส โคตะขุน ***

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พิธีศพ

พิธีศพ
ภาพ:Funeral.jpg
พิธีศพ


ประเพณีเกี่ยวกับศพ มักจะผิดแผกแตกต่างกันไปตามความนิยมของบุคคลในท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่คงลักษณะการประกอบพิธีไว้เป็นแนวเดียวกัน จะนำมากล่าวพอเป็นแนวทางปฏิบัติเฉพาะบางตอน ที่อนุศาสนาจารย์ปฏิบัติช่วยเหลืออยู่เป็นประจำเท่านั้น

การตั้งศพ


เมื่อตั้งศพและจัดดอกไม้ธูปเทียนประดับเรียบร้อยแล้ว ให้ตามไฟ (ตะเกียงมีโคมหรี่ไว้ปลายเท้า ๑ คู่) ในพิธีทางราชการ เมื่ออาบน้ำศพและนำศพขึ้นตั้งเรียบร้อยแล้ว จะนิมนต์พระ ๑๐ รูป หรือ ๒๐ รูป สดับปกรณ์ (บังสุกุล) จบแล้วถวายไทยธรรมพระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำ ก็เป็นเสร็จพิธี แต่ศพชาวบ้านทั่วไป ปัจจุบันนิยมนิมนต์พระสงฆ์มา ๑๐ รูป หรือหลายรูปก็แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าภาพ เมื่อพระมาถึงแล้ว ทอดผ้าบังสุกุลบนหีบศพ หรือบนที่ที่เตรียมไว้ นิมนต์พระชักผ้าบังสุกุล (จะเป็นผ้าไตร, จีวร, สบง, ผ้าเช็ดตัว, ผ้าเช็ดหน้า ก็ได้) เมื่อพระชักผ้าบังสุกุลแล้ว ก็เป็นอันเสร็จพิธีในตอนนี้

การสวดพระอภิธรรม


การสวดพระอภิธรรม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สวดหน้าศพ นิยมสวดในเวลากลางคืน จัดที่พระสวดไว้หนึ่งต่างหาก จำนวนพระสวด ๔ รูป สถานที่ตั้งตู้พระอภิธรรม ๑ ตู้, แจกัน ๑ คู่, เชิงเทียน ๑ คู่, กระถางธูป ๑ ที่, อาสนะสำหรับพระนั่ง ๔ ที่ หมากพลู, น้ำร้อน น้ำชาถวายพระพร้อมความมุ่งหมายก็เพื่อให้เจ้าภาพได้มีโอกาสฟังธรรม และสนทนาธรรมตามควร จะสวด ๓ คืน ๗ คืน หรือทุก ๗ วัน จนถึงวันเผาก็ได้ เมื่อพระสวดประจำคืนเสร็จแล้ว จะนิมนต์ฉันภัตตาหารเช้าก็ได้ สุดแต่จะสะดวก

ลำดับพิธีในการสวดพระอภิธรรม

  • ได้เวลานิมนต์พระประจำที่
  • เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย จุดเทียนธูป ณ ที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม
  • เสร็จแล้วจุดธูปเคารพศพหน้าหีปศพ แล้วกลับมานั่ง
  • พิธีกร อาราธนาศีล รับศีลจบแล้วพิธีกร อาราธนาธรรม พระสงฆ์ก็เริ่มสวดพระอภิธรรมต่อไป
  • เมื่อถึงเวลาเลิกสวดประจำคืน พระสวดพระอภิธรรมจบสุดท้ายแล้ว
 
พิธีกร อ่านรายชือผู้ถวายถวายไทยธรรม 
 
  • เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)
  • พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล
  • พระสงฆ์อนุโมทนา
  • เจ้าภาพกรวดน้ำ พระสงฆ์เดินทางกลับ
  • เสร็จพิธี
  • เสร็จแล้วจุดเทียนธูปบูชาหน้าศพ แล้วกลับมานั่ง

การทำบุญ ๗ วัน


เมื่อเก็บศพไว้ครบ ๗ วัน เช่น ตายในวันศุกร์ พอถึงวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ต่อมา ก็นิมนต์พระ ๗ รูป (พิธีทางราชการ ๑๐ รูป) มาสวดพระพุทธมนต์เย็น ถวายอาหารบิณฑบาตเช้าในวันรุ่งขึ้น แล้วจะมีสดับปกรณ์ (สวดมาติกาบังสุกุล) แสดงพระธรรมเทศนาต่อก็ได้ หรือทำในตอนเช้าหรือตอนเพล โดยไม่ต้องสวดมนต์เย็นก็ได้

ลำดับพิธีทำบุญ ๗ วัน



(ทำบุญตอนเพล)

ทำบุญ ๗ วัน ถ้าทำวันเดียว ตายวันศุกร์ ให้ทำวันศุกร์สัปดาห์ต่อไป

๑๐.๐๐ น. - พระสงฆ์ประจำอาสนะ
  • เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย แล้วไปจุดเทียนธูปหน้าศพ และกลับมานั่งที่เดิม
  • อาราธนาศีล รับศีล อาราธนาพระปริตร แล้วฟังพระสวดพร้อมกัน (ถ้ามีพิธีเทศน์ติดต่อกันไป)
  • อาราธนาพระปริตรต่อทันที ส่วนศีลนั้นอาราธนาและรับศีลตอนมีเทศน์

๑๑.๐๐ น. - ถวายภัตตาหารเพลพระที่สวดพระพุทธมนต์

๑๒.๐๐ น. - พระฉันเสร็จ นำเครื่องไทยธรรมเทียบแล้ว เชิญเจ้าภาพถวาย
  • เก็บไทยธรรมแล้ว ชักผ้าภูษาโยง
  • เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)
  • พระชักผ้าบังสุกุลแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ
  • เจ้าภาพจุดเทียนธูปที่โต๊ะบูชาก่อน แล้วจุดเทียนประจำกัณฑ์เทศน์ (เทียนส่องดูหนังสือเทศน์)

๑๓.๓๐ น. - พระเทศน์ขึ้นธรรมาสน์

อาราธนาศีล อาราธนาธรรม

  • เมื่อพระเริ่มเทศน์ด้วยการบอกศักราชก่อน ระหว่างนี้เจ้าภาพจุดเทียนเครื่องห้า (เครื่องทองน้อย) องศพก่อนแล้ว จุดเครื่องห้าของเจ้าภาพ หรือจะจุดติดต่อจากจุดเทียนประจำกัณฑ์เทศน์ หรือจุดระหว่างอาราธนาธรรมก็ได้
  • พระสงฆ์แสดงธรรมจบ เจ้าภาพไปจุดเทียนธูป ณ ที่เบื้องหน้าพระสงฆ์สวดรับเทศน์ พระสงฆ์ ๔ รูป (ถ้ามี) สวดธรรมคาถาต่อจนจบ
  • เจ้าภาพถวายไทยธรรม เจ้าหน้าที่เก็บไทยธรรมแล้วชักผ้าภูษาโยง
  • พระสงฆ์ทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)
  • เจ้าภาพกรวดน้ำ พระสงฆ์อนุโมทนา แล้วเดินทางกลับ
  • เสร็จพิธี

การทำบุญ ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน


พิธีทำบุญ ๕๐ หรือ ๑๐๐ วัน ก็ทำเช่นเดียวกับพิธีทำบุญ ๗ วัน ดังที่กล่าวมาแล้ว

การบรรจุศพ


เมื่อเจ้าภาพได้บำเพ็ญกุศลครบ ๓ วัน ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วันแล้ว ยังไม่ทำฌาปนกิจ จะต้องเก็บไว้เพื่อรอญาติ รอโอกาสอันเหมาะสม ก็นิยมเก็บศพไว้ที่บ้านหรือที่วัด ก็สุดแต่จะสะดวก ถ้าเก็บไว้ที่วัด ก็นิยมการบรรจุศพ พิธีบรรจุศพก็ไม่มีอะไรมาก เมื่อเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลครบ ๓, ๕, ๗, ๕๐, ๑๐๐ วัน หรือมากกว่านั้นแล้ว พอได้เวลา (ส่วนมากเวลา ๑๕.๐๐ - ๑๗.๐๐) ก็นำศพไปยังสถานที่บรรจุนำหีบศพเข้าที่เก็บ แต่ยังไม่ปิดที่เก็บ เชิญแขกเข้าเคารพ โดยเจ้าภาพจัดหาดินเหนียวก้อนเล็ก ๆ ห่อกระดาษดำ และกระดาษขาวใส่ถาดไว้ เพื่อแจกแขกคนละก้อน จะมีดอกไม้ด้วยก็ได้ เมื่อแขกนำดินเหนียวและดอกไม้ไปวางเคารพศพแล้ว เจ้าภาพก็ทอดผ้าบังสุกุลปากหีบศพ และนิมนต์พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล (หรือทอดผ้าบังสุกุลก่อนเชิญแขกเข้าเคารพศพก็ได้) พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุลแล้วก็เก็บ เป็นอันเสร็จพิธี ผู้จัดการฌาปนสถานก็จัดการปิดที่เก็บหีบศพต่อไป

การฌาปนกิจศพ


การฌาปนกิจศพหรือการเผาศพ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าภาพกำหนดแล้ว ก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ฌาปนสถาน และออกบัตรเชิญ โดยกำหนดวันเวลาให้ผู้เคารพนับถือทราบทั่วกัน เมื่อชักศพขึ้นตั้งอย่างที่ทำคราวถึงแก่กรรมแล้ว จะมีพระสวดพระอภิธรรมก่อนฌาปนกิจสัก ๓ วัน ๗ วันอีกก็ได้ หรือจะทำเพียงวันเดียวก็ได้ แต่ทำกันอยู่ทั่ว ๆ ไปนิยมตั้งศพทำบุญในตอนเช้าวันฌาปนกิจแล้วเพื่อตัดภาระ

ลำดับพิธีฌาปนกิจศพ


๐๙.๐๐ น. - เชิญศพขึ้นตั้งบนศาลาบำเพ็ญกุศล ๑๐.๑๕ น. - นิมนต์พระสงฆ์ประจำที่อาสน์สงฆ์ ๑๐.๒๐ น. - เจ้าภาพจุดเทียนธูปพระรัตนตรัย ๑๐.๒๕ น. - อาราธนาพระปริตร ๑๐.๓๐ น. - พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ๑๑.๐๐ น. - ถวายภัตตาหารเพล
  • ถวายเครื่องไทยธรรม
  • พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๒.๐๐ น. - เลี้ยงอาหารกลางวันญาติมิตร และแขกที่มาในงาน ๑๔.๐๐ น. - นิมนต์พระเทศน์ขึ้นพักบนอาสน์สงฆ์ ๑๔.๐๕ น. - เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย เทียนกัณฑ์เทศน์, เทียนธูปหน้าศพ
  • อาราธนาศีล, อาราธนาธรรม (เทศน์ธรรมดาหรือเทศน์แจงก็ได้)
๑๔.๑๐ น. - พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว ถวายกัณฑ์เทศน์ ๑๕.๐๐ น. - นิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูป (หรือจำนวนตามแต่นิมนต์) ขึ้นอาสน์สงฆ์พร้อมกัน
  • มาติกาบังสุกลุ
๑๕.๓๐ น. - เคลื่อนศพเวียนเมรุ ๓ รอบ พระสงฆ์นำศพ ๑ รูป ๑๕.๔๕ น. - เชิญศพขึ้นสู่เมรุ ๑๖.๐๐ น. - แถวกองเกียรติยศเข้าที่พร้อมหน้าเมรุ (ถ้าเป็นศพที่ต้องจัดกองเกียรติยศ)
  • อ่านคำไว้อาลัย (ถ้ามี) (ท้ายคำไว้อาลัยมียืนไว้อาลัยศพที่มีกองเกียรติยศไม่ต้องเชิญยืนไว้อาลัย)
  • เจ้าภาพเชิญแขกผู้ใหญ่ทอดผ้าบังสุกุล โดยจัดลำดับจากผู้มีอาวุโสน้อยไปหาผู้มีอาวุโสขึ้นไปตามลำดับ
  • ประธานในพิธีทอดผ้าบังสุกุลหน้าศพ
  • ประธาน ฯ (กรณีพระราชทานเพลิงศพ ให้ถวายคำนับยังทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ฯ ในวันนั้น) วางกระทงดอกไม้ (เครื่องขมา)
  • เป่าแตรนอน ๑ จบ (กรณีจัดกองเกียรติยศ)
  • เจ้าหน้าที่เพลิงหลวงส่งธูปเทียน และดอกไม้จันทน์ให้ประธาน ฯ (ทำในเขตกรุงเทพ ฯ)
  • ประธาน ฯ ลงจากเมรุ
เจ้าภาพเชิญแขกขึ้นประชุมเพลิง
  • เสร็จพิธี


หมายเหตุ - ตามตัวอย่างนี้เป็นศพทหารซึ่งต้องมีกองเกียรติยศ ถ้าเป็นศพไม่มีกองเกียรติยศ ก็ต้องตัดรายการเกี่ยวกับกองเกียรติยศออก

  • ศพที่มีกองเกียรติยศ ไม่ต้องเชิญยืนไว้อาลัยหลังอ่านคำไว้อาลัย
  • รายการนี้สมมติขึ้นเต็มอัตรา ซึ่งยังย่อส่วนได้เพื่อการประหยัด เช่น ตัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระตอนเช้าออกได้ คงเหลือพิธีเทศน์มาติกาบังสุกุลตอนบ่าย
  • และตัวอย่างนี้ตั้งศพทำบุญที่วัด ถ้าตั้งศพทำบุญที่บ้านก่อน แล้วเคลื่อนศพมาที่วัดในวันนั้น ก็เดินเวียนเมรุแล้วนำศพขึ้นเมรุต่อไป
  • เวลาเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
  • หากมีผ้าทอดจำนวนหลายผืน จะเชิญญาติและแขกผู้ใหญ่ทอดก่อนอ่านคำไว้อาลัยก็ได้ โดยเหลือไว้สำหรับประธาน ฯ ๑ ผืน หรือ ๑ ไตร

การเก็บอัฐิ


มื่อจัดการฌาปนกิจเสร็จแล้ว การเก็บอัฐิ บางรายในตอนเย็นวันเผาเลย ทั้งนั้น เพื่อจะฉลองเสร็จในคราวเดียวกัน โดยเก็บอัฐิในเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. แล้วนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับพิธีก่อนเผาในคืนวันนั้น เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. นิมนต์พระสวดพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นถวายภัตตาหารเช้า แล้วนำอัฐิไปบรรจุหรือเก็บกลับบ้าน ก็เป็นเสร็จพิธี แต่ส่วนมากเก็บอัฐิในวันรุ่งขึ้น เช่นเดียวกับพิธีทางราชการ สำหรับชนบทบางที่ นิยมเก็บในวันที่ ๗ จากวันเผา แล้วนำไปบำเพ็ญกุศลดังกล่าวมา

การเดินสามหาบ



การเดินสามหาบ ก็คือ พิธีเก็บอัฐินั่นเอง แต่เป็นพิธีเก็บอัฐิแบบเต็มหรือแบบพิเศษ ซึ่งก็มีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งจะกล่าวต่อไป

รุ่งขึ้นเช้า เจ้าภาพไปเก็บอัฐิ เตรียมเครื่องบูชาและเครื่องสามหาบไปด้วย คือ เครื่องทองน้อย (ธูป ๑ เทียน ๑ ใส่เชิงเล็กและดอกไม้ทำเป็น ๓ พุ่ม) ๑ ที่, สุหร่าย (ขวดโปรยน้ำ) ใส่น้ำอบไทย ๑ ขวด พานใส่เงิน (เศษสตางค์) ๑ พาน และที่ที่จะใส่อัฐิ ของเหล่านี้วางไว้ตรงข้างศีรษะอัฐิ

เมื่อพร้อมกันแล้วก็ตั้งต้นเดินสามหาบ คือ มีของไปถวายพระ เลี้ยงพระ ๓ ชุด ชุดที่หนึ่งมีไตรครอง เป็นประเภทเครื่องนุ่งห่ม ชุดที่สองที่มีสำรับคาว ๑ หวาน ๑ เป็นเครื่องกิน ชุดที่สามมีหม้อข้าวเตาไฟเครื่องใช้ หรือจะจัดสามหาบอีกหนึ่งก็ได้คือ จัดให้มีหม้อข้าวเชิงกราน และพริก หอม กระเทียม ฯลฯ อยู่ในสาแหรกข้างหนึ่ง สาแหรกอีกข้างหนึ่งมีของคาวหวาน และเหมือนกันอย่างนี้ทั้งสามหาบ จัดให้บุตรหลานหรือเครือญาติ ๓ คน เป็นผู้หาบคนละหาบ

หรือสามหาบอีกแบบหนึ่ง จัดคนขึ้น ๙ คน แบ่งเข้าชุด ๓ คน ต่อ ๑ ชุด ชุดหนึ่ง ๆ มีดังนี้คือ ถือไตร ๑ คน, ถือจาน ช้อนซ่อม แก้วน้ำ ๑ คน, หาบสำรับคาวหวาน ๑ คน จัดอย่างนี้ทั้ง ๓ ชุด เดินเวียนเมรุคนละหรือชุดละ ๓ รอบ เวลาเดินให้กู่กันด้วยตามวิธีชาวป่า เรียกกันว่า "วู้ ๆ ๆ" คนและ ๓ ครั้ง แล้วจึงนำสามหาบขึ้นตั้งยังอาสน์สงฆ์

เมื่อเดินสามหาบแล้วก็ขึ้นไปเก็บอัฐิ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยแล้ววางไตร ๓ ไตรบนผ้าคลุมอัฐินั้น แล้วนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นไปชักผ้าบังสุกุลนั้น จากนั้นจึงเปิดผ้าคลุมออกพรมน้ำอบ และเก็บอัฐิใส่ที่ที่เตรียมไว้ แล้ววางบนพาน ส่วนเถ้าถ่านคือ อังคารรวบรวมใส่ผ้าขาวที่รองนั้น รวบชายขึ้นห่อใส่ในที่ใส่อังคารที่เตรียมไป แล้วเชิญอัฐิและอังคารกลับลงมาตั้งที่ทำบุญ เลี้ยงพระสามหาบและบังสุกุล แล้วก็เป็นอันเสร็จงาน หรือถ้าไม่มี ๓ หาบ ก็เก็บอัฐิอังคารและบังสุกุล ณ ที่นั้น เป็นอันเสร็จพิธี ตอนที่ลงจากเมรุแล้วขึ้นบันไดบ้าน เมื่อถึงบ้านนั้น เจ้าภาพจะโปรยเศษสตางค์เป็นการให้ทานด้วย

แปรธาตุ


ประเพณีเกี่ยวกับการเก็บอัฐิมีอยู่ว่า เมื่อถึงเวลาเก็บอัฐิ จะเป็นในวันเผา หรือในวันรุ่งขึ้น หรือ ๓ วัน ๗ วัน หลังจากเผาเสร็จก็ตาม ครั้งแรกให้ทำกองกระดูกให้เป็นรูปคนนอนหงาย หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก สมมติว่าตาย แล้วนิมนต์พระมาบังสุกุล ตอนนี้เรียกว่า "บังสุกุลตาย" จะมีผ้าทอดก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ พระสงฆ์จะพิจารณาว่า "อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปปาทวยธมฺมิโน อุปปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺ ติ เตสํ วูปสโม สุโข" เมื่อพระพิจารณาจบแล้ว ก็ให้ทำรูปอัฐินั้นใหม่ เป็นรูปคนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก สมมติว่าเกิด แล้วเจ้าภาพก็ใช้น้ำหอมประพรมโปรยด้วยดอกไม้และเงินทอง นิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เรียกว่า "บังสุกุลเป็น" พระสงฆ์บังสุกุลว่า "อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นอรตฺถํ วกลิงฺครํ" แล้วทำการเก็บอัฐิ
เมื่อเก็บอัฐิตามต้องการแล้วอัฐิที่เหลือรวมทั้งเถ้าถ่านก็รวบรวมไปบรรจุ, ทิ้งแม่น้ำหรือฝังในที่เหมาะสมต่อไป

ทำบุญอัฐิ (ออกทุกข์)


เมื่อเก็บอัฐิเสร็จตอนเช้า และนำอัฐิไปถึงบ้านแล้ว จะทำบุญในวันนั้นทีเดียว หรือจะพัก ๓ วัน หรือ ๗ วัน จึงทำก็ได้ รายการมีสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ บังสุกุล เทศน์ มีตักบาตรน้ำมนต์ เดินสายสิญจน์ เพราะเป็นการทำบุญเรือนให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่ข้างหลัง ในการทำบุญอัฐิ (ออกทุกข์) เจ้าภาพแต่งกายสีต่าง ๆ จากสีขาว - ดำได้

หลักเกณฑ์การจัดกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหารซึ่งเสียชีวิตในขณะประจำการ


การปฏิบัติของประธาน และผู้เข้าร่วมพิธี ในพิธีต่าง ๆ และระเบียบปฏิบัติราชการบางเรื่องที่ควรทราบ และถือปฏิบัติดังต่อไปนี้

โอกาสในการจัดกองทหารเกียรติยศ

  • สำหรับทหารซึ่งเสียชีวิตในขณะประจำการนั้น ให้จัดกองทหารเกียรติยศเมื่อเวลาเผาหรือฝัง ตามลัทธิศาสนาของผู้เสียชีวิต แต่ให้งดจัดสำหรับศพทหาร ซึ่งเสียชีวิตเนื่องจากตนเองกระทำความผิด หรือประพฤติชั่ว


การจัดกำลังของกองทหารเกียรติยศ กรณีศพทหารเมื่อเวลาเผาหรือฝัง ให้จัดกำลังดังนี้
  • ศพทหารชั้นนายพันขึ้นไป ให้จัดกำลัง ๑ กองร้อย (๓ หมวด) ถือปืนเล็กล้วน มีแตรเดี่ยว และแตรวง (ถ้ามี)
  • ศพทหารชั้นนายร้อย ให้จัดกำลังกึ่งกองร้อย (๒ หมวด) ถือปืนเล็กล้วน มีแตรเดี่ยว
  • ศพนายทหารชั้นประทวน และศพนักเรียนทหาร ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้เป็นนายทหารสัญญาบัตร ให้จัดกำลัง ๑ หมวด (๒ หมู่) ถือปืนเล็กล้วน มีแตรเดี่ยว
  • ศพพลทหาร และศพนักเรียนทหาร ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้เป็นนายทหารประทวน ให้จัดกำลัง ๑ หมู่ (๑๐ คน) ถือปืนเล็กล้วน มีแตรเดี่ยว

กรณีการจัดกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหารนั้น ถ้ามีหลายศพในที่เดียวและเวลาเดียว ซึ่งจะต้องทำการเคารพศพพร้อมกัน ให้จัดกำลังตามอัตราของศพที่มียศสูง แต่เพียงรายเดียว นอกจากนั้นการจักกองทหารเกียรติยศสำหับศพทหาร ให้พยายามจัดทหารจากหน่วย หรือเหล่าเดียวกับผู้เสียชีวิต หรือจัดจากหน่วยที่ผู้เสียชีวิตเคยบังคับบัญชา หรือเคยประจำมาแต่ก่อน

การแต่งเครื่องแบบของกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหาร ให้แต่เครื่องแบบฝึกสวมถุงมือสำหรับนายทหารชั้นจ่านายสิบขึ้นไป ให้คาดกระบี่ โดยมีลายละเอียดของเครื่องแต่งกายเช่นเดียวกับของทหารเกียรติยศ ในการต้อนรับ และส่งผู้บังคับบัญชาของทหาร ดังนี้
  • รองในหมวกเหล็กสีกากีแกมเขียว มีสายรักคางหนังสีขาว
  • เสื้อคอเปิดสีกากีแกมเขียว และผ้าพันคอสีน้ำเงินอ่อน ยกเว้นทหารซึ่งจัดเป็นกองทหารเกียรติยศ ที่สังกัด รร.จปร.ใช้ผ้าพันคอบานเย็น
  • กางเกงขายาวสีกากีแกมเขียวแบบฝึก
  • เข็มขัดหนังสีขาว หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทอง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทางนอนปลายมน พื้นเกลี้ยงมีรูปเครื่องหมายกองทัพบก ดุนนูนอยู่กึ่งกลางหัวเข็มขัด
  • รองเท้าสูงครึ่งน่องหนังสีดำ ชนิดผูกเชือก
  • สายนกหวีดทำด้วยด้ายถักหรือไนล่อนถักสีขาว ลักษณะเป็นสายถัก ๔ สาย และสายเกลี้ยง ๑ สาย โดยสายถัก ๒ สาย เป็นบ่วงคล้องใต้แขนซ้าย ส่วนสายถัก ๒ สายทำเป็นบ่วงขนาดใหญ่ และเล็กห่างกันพองาม พาดต้นแขนซ้าย ปลายสายเกลี้ยงให้ติดตุ้มโลหะสีทอง ๑ ตุ้ม เมื่อใช้สายนกหวีดนี้ไม่ใช้สายยงยศอย่างอื่นอีก
  • ซองกระบี่ หรือซองดาบทำด้วยหนังสีขาว
  • ถุงมือสีขาว
  • สายสะพายปืนทำด้วยหนังสีขาว
  • สำหรับกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหาร ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย


การปฏิบัติของกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหารในงานพระราชทานเพลิงศพ หรืองานฝังศพทหาร

การแสดงความเคารพของกองทหารเกียรติยศ
กองทหารเกียรติยศซึ่งจัดไปเคารพศพ ให้แสดงการเคารพศพในเวลาเผา หรือฝังโดยให้แตรเดี่ยวเป่าเพลงนอน ๑ จบ แล้วให้หน่วยทหารเคารพศพกระทำวันทยาวุธ แตรวงหรือแตรเดี่ยวบรรเลงเพลงเคารพ เมื่อจบแล้วทำเรียบอาวุธ คงอยู่ในท่าตรง ถ้ามีแตรวงให้บรรเลงเพลงโศก ๑ จบ จึงเสร็จการปฏิบัติ


การปฏิบัติของกองทหารเกียรติยศ และผู้ที่ได้รับเชิญให้เป็นประธานในงานพระราชทานเพลิงศพทหาร

ผบ.กองทหารเกียรติยศ นำกองทหารเกียรติยศเข้าประจำที่แล้วสั่งแถวเรียบอาวุธ และให้กองทหารเกียรติยศหันเข้าหาศพ เสร็จแล้ว ผบ.กองทหารเกียรติยศสั่งติดดาบและยืนรอเวลาจนกว่าพิธีกรอ่านประกาศเกียรติคุณ (ประวัติโดยย่อ) ของผู้ที่ได้รับพระราชทานเพลิงศพเจ้าภาพจะเชิญผู้บังคับบัญชา หรือผู้เป็นประธานในพิธีของงานพระราชทานเพลิงศพให้ขึ้นเมรุ เพื่อจะทอดผ้ามหาบังสุกุลเมื่อประธานในพิธี ฯ ได้ทอดผ้ามหาบังสุกุล และลงจากเมรุแล้วประธานในพิธีฯ ต้องหันหน้าไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ถวายคำนับแล้วรับเครื่องขมาศพ (กระทงข้าวตอก และกระทงดอกไม้) จากพนักงานพระราชพิธีของสำนักพระราชวัง ไปวางที่ฐานฟืนหน้าหีบศพ ขณะที่ประธานฯ วางกระทงข้าวตอก ดอกไม้ ผบ.กองทหารเกียรติยศจะสั่งให้กองทหารเกียรติยศจะสั่งให้กองทหารเกียรติยศแถวตรง แตรเดี่ยวเป่าเพลงนอน ๑ จบ จบแล้วประธานฯ หยิบธูปเทียน ตอกไม้จันทน์ จุดเพลิงพระราชทานจากโคมไฟที่เจ้าพนักงานพระราชทานถือเชิญไปสอดวางลงในใต้พื้นรองศพ ผบ.กองทหารเกียรติยศ จะสั่งให้กองทหารเกียรติยศแสดงความเคารพ โดยใช้คำบอกว่า “ตรงหน้า ระวัง วันทยาวุธ” แตรเดี่ยวเป่าเพลงเคารพ ๑ จบ ประธานในพิธีฯ คำนับศพ ๑ ครั้ง แล้วหันหน้าไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ถวายคำนับ ๑ ครั้ง แล้วเดินลงจากเมรุ จากนั้นผบ.กองทหารเกียรติยศ จะสั่งเรียบอาวุธ ปลดดาบ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงโศก ๑ จบ และสั่งให้กองทหารเกียรติยศทำซ้ายหรือขวาหันแบกอาวุธ แล้วเดินออกจากพื้นที่ จึงเสร็จการปฏิบัติ


การปฏิบัติของกองทหารเกียรติยศและผู้ที่ได้รับเชิญให้ประธานในงานเผาศพทหาร

การปฏิบัติของกองทหารเกียรติยศ ในงานเผาศพทหาร จะมีขั้นตอนคล้ายคลึงกับการปฏิบัติในงานพระราชทานเพลิงยศทหาร ในข้อ ๔.๒ ทั้งในส่วนของประธานและของกองทหารเกียรติยศ ยกเว้น ประธานในพิธีของงานไม่ต้องถวายคำนับ และรับเครื่องขอขมาศพจากพนักงานพระราชพิธีของสำนักพระราชวังไปวางที่ฐานพื้นหน้าหีบศพ
นอกจากทหารซึ่งเสียชีวิตในขณะประจำการ หรือในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการจะได้รับการจัดกองทหารเกียรติยศ สำหรับศพทหารในเวลาเผาศพหรือฝังศพแล้ว เมื่อเวลาประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนา กห. ยังได้จัดให้มียามเกียรติยศศพทหารแก่ทหาร ซึ่งเสียชีวิติในการรบ หรือเนื่องจากการรบ หรือซึ่งเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการในกรณีอื่น ซึ่งทางราชการพิจารณาเห็นว่า เป็นผู้ประกอบคุณงามความดี สมควรยกย่องเชิดชูเกียรตินั้น โดยจัดให้มียามคู่ ๑ คู่ หรือ ๒ คู่ ยืนเป็นผลัดประจำตลอดเวลาที่บำเพ็ญกุศล และให้เริ่มก่อนพิธีประมาณ ๓๐ นาที และเลิกเมือการบำเพ็ญกุศลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตายที่ได้เสียสละอย่างสูง และให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบด้วย
การแต่งกายของยามเกียรติยศศพทหารนี้ ให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบฝึก สวมรองในหมวกเหล็ก ถืออาวุธประจำกายในท่าสำรวม และแสดงความอาลัยโดยตั้งพานท้ายปืนขึ้นข้างบน มือทั้งสองประสานวางบนพานท้ายปืน ก้มหน้ามองพื้นในทิศทางตรงหน้า หันหน้าไปยังทางที่ตั้งศพ
อนึ่ง ทหารที่เสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และการเสียชีวิตนั้นมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง หรือเกิดจากความผิดของตนเองแล้ว ยังได้รับเกียรติให้ใช้ธงชาติคลุมหีบศพ เมื่อจะเชิญศพไปทำพิธีพระราชทานน้ำอาบศพ หรือพิธีรดน้ำศพ หรือในระหว่างการทำพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนาของแต่ละศาสนา และการเชิญศพไปฝังอีกด้วย และการใช้ธงชาติคลุมศพและหีบศพให้ปฏิบัติดังนี้
การคลุมศพ คลุมศพตามความยาวของศพ ให้ขอบธงชาติด้านคันธงชาติอยู่ทางศีรษะของศพ การคลุมหีบศพ คลุมทางด้านขวางของหีบศพให้ชายธงชาติเสมอกับของล่างของหีบศพทั้งสองข้าง

ระเบียบงานศพ


ตั้งแต่โบราณกาลมา พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชาคณะ ข้าราชการ เมื่อสิ้นพระชนม์ มรณภาพ หรือถึงแก่กรรม จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพ เช่น โกศ หีบ เป็นต้น เมื่อถึงเวลาที่จะทำการเป็นฌาปนกิจศพ ก็พระราชทานดอกไม้ธูปเทียน และไฟหลวงไปเผาศพผู้ที่จะได้รับพระราชมานเกียรติยศ ในปัจจุบันนี้ได้วางระเบียบไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับพระราชทานน้ำอาบศพ เครื่องประกอบเกียรติยศศพ และพระราชทานเพลิงศพมีดังนี้
ผู้ถึงแก่กรรมมีสิทธิขอรับพระราชทานน้ำอาบศพ เครื่องประกอบเกียรติยศศพ และขอพระราชทานเพลิงศพ คือ
  • พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ตั้งแต่พระครูสัญญาบัตรขึ้นไป
  • พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป
  • ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์รองเสวกตรี หรือรองอำมาตย์ตรีขึ้นไป
  • ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรีขึ้นไป
  • ข้าราชการฝ่ายทหาร และตำรวจชั้นร้อยตรี ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
  • สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ได้รับพระราชทานยศ ตั้งแต่ชั้นนายหมวดขึ้นไป
  • ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย หรือตติยานุจุลจอมเกล้า หรือจตุตถจุลจอมเกล้าขึ้นไป
  • ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน
  • พนักงานเทศบาลตรีขึ้นไป
  • สมาชิสภาผู้แทนราษฎร สามาชิกวุฒิสภา สามาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล ที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
  • รัฐมนตรีที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
  • ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เป็นกรณีพิเศษ
ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สามาชิกวุฒิสภา สามาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล หรือรัฐมนตรี เมื่อถึงแก่กรรม เมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว หากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว ก็ขอพระราชทานเครื่องประกอบเกียรติยศศพได้
  • ในการที่จะขอพระราชทานเครื่องเกียรติยศศพได้ ผู้ถึงแก่กรรมจะต้องถึงแก่กรรมโดยไม่ใช่อัตวิบาตกรรม
  • ผู้จะขอพระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพ จะได้รับพระราชทานเมื่อการศพนั้นจัดในจังหวัดกรุงเทพมหานคร
  • ผู้ที่ประสงค์จะขอพระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศ จะต้องปฏิบัติดังนี้
  • นำดอกไม้ธูปเทียนพร้อมทั้งหนังสือกราบถวายบังคมลาไปยังสำนักพระราชวัง พร้อมทั้งในมรณบัตร ซึ่งสำนักงานพระราชวังได้จัดที่ประดิษฐานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ไว้ (ภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ราชาศัพย์ " พระบรมฉายาลักษณ์" หรือ "พระบรมสาทิสลักษณ์" ก็ได้) ดอกไม้ธูปเทียนที่ใช้มนการนี้ ประกอบด้วยธูปไม้ระกำ ๑ ดอก, เทียนขี้ผึ้ง ๑ เล่ม, ดอกไม้ ๑ กระทง, วางบนพาน และมีคำกราบบังคมทูลตามแบบต่อไปนี้

วันที่.......................... เดือน....................................... พ.ศ. ........................................ ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ดอกไม้ธูปเทียนของข้าพระพุทธเจ้า............................ (ชื่อผู้ถึงแก่กรรม)......................................... ราชอิสริยาภรณ์................................. อายุ....................... ปี ข้าราชการ....................................... ชั้น.................................... สังกัด.......................... ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลา....................................................... ด้วยโรค............................................... ที่อำเภอ......................... จังหวัด....................................... เมื่อวันที่.................... เดือน....................................... พ.ศ............................ เวลา...........................

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ขอเดชะ

หนังสือข้างตนนี้ไม่ต้องลงนาม ผู้นำไป นำขึ้นวางบนพานเบื้องหน้าพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พร้อมกับดอกไม้ธูปเทียนแล้วถวายความเคารพ เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะสอบถามรายการต่าง ๆ และกรอกลงในแบบพิมพ์ ในการถึงแก่กรรมนี้ จะไม่ขอพระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพ จะขอพระราชทานในตอนฌาปนกิจศพก็ได้ถ้าจะตั้งศพที่วัด การติดต่อวันและการติดต่อเทศบาล เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพดำเนินการเอง
ในการขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพนั้น เข้าใจกันว่า จะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด คำว่า "พระราชทาน" ก็เป็นที่ควรเข้าใจแล้วว่าย่อมไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ค่าใช้จ่ายส่วนที่เจ้าภาพจะต้องจ่าย ก็เป็นส่วนนอกออกไปจากที่ได้รับพระราชทาน เช่น ค่าซื้อหีบลองใน ค่าผ้าขาวด้ายดิบ ค่าตั้งศพที่วัด ส่วนเครื่องประกอบเกียรติยศ ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังที่ไปปฏิบัติพิธีนั้น เจ้าภาพไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้จะเก็บศพไว้นานวัน ถ้าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับหีบ หรือโกศลองนอกไปประกอบศพอื่นดังกล่าวข้างต้นแล้ว สำหรับพระราชวังก็ไม่มาถอนหีบหรือโกศลองนอกออกไป และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหีบโกศแต่ประการใดเลย
เมื่อไปกราบถวายบังคมลา และแจ้งรายการเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าภาพก็นำศพไปยังที่อาบน้ำ เมื่อนำศพไปไว้บนเตียงอาบน้ำแล้ว ก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสงค์จะอาบน้ำศพเข้าอาบได้ จนถึงเวลาที่จะพระราชทานน้ำหลวง ซึ่งเป็นสุดท้าย ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็จะได้ทำสุกำศพใกล้เวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังก็เชิญน้ำพระราชทานไป ซึ่งประกอบด้วยน้ำ น้ำหอม และน้ำขมิ้น
เมื่อถึงเวลาจะรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เจ้าภาพก็เชิญผู้มีอาวุโส ซึ่งอยู่ในขณะนั้น หรือผู้ที่เจ้าภาพกำหนดตัวไว้เข้าไปพระราชทานน้ำ เป็นที่นิยมกันว่า ก่อนที่ผู้เป็นประธาน จะอาบน้ำศพ ให้บ่ายหน้าไปทางทิศ ซึ่งเป็นที่ประทับแรม ถวายคำนับ แล้วจึงปฏิบัติการต่อไป เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะส่งสิ่งของให้ตามลำดับ คือ น้ำ น้ำหอม น้ำขมิ้น ผู้เป็นประธาน รดน้ำนั้นที่ศพโดยเริ่มจากบ่าขวาเฉียงลงมาตามอก ไม่ต้องรดจนหมดก็ได้ เมื่อรดน้ำขมิ้นแล้วให้บ่ายหน้าไปถวายคำนับอีกครั้ง เจ้าหน้าที่จะวางศพลงในท่านอนตามเดิม ต่อจากนั้น ทายาทผู้ถึงแก่กรรมก็เข้าไปหวีผมให้ศพ การหวีผมตามประเพณีก็หวีลงแล้วหวีขึ้น แต่จะหวีอย่างธรรมดาก็ได้ ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่จะสุกำศพ
เมื่อทำกุกำศพเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะยกหีบศพหรือโกศขึ้นตั้งผู้ที่อยู่ ณ ที่นั้น ควรยืนแสดงการเคารพ แล้วตั้งแต่เครื่องประดับ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพ
ที่ตั้งนั้นไม่ควรจัดดอกไม้วางไว้บนฝาหีบศพ และไม่ควรจัดดอกไม้ประดับที่หีบศพ เพราะเป็นหีบเกียรติยศอยู่แล้ว ที่หน้าศพไม่ต้องตั้งชั้นลดหรือวางหมอนสำหรับกราบศพ (รวมทั้งไม่ตั้งชั้นลดหน้าโต๊ะพระพุทธรูปด้วย) ถ้าจะจัดเป็นที่กราบก็ควรปูพรมเล็ก ๆ ไว้บนพรมใหญ่อีกชั้นหนึ่ง และไม่ต้องตั้งกระถางธูปสำหรับผู้ไปเคารพศพปักธูป หากศพนั้นเป็นศพเกียรติยศ ก็จะสวดพระอภิธรรมเสียจบหนึ่งก่อน แล้วจึงบังสุกุล หรือสดับปกรณ์ส่วนของเจ้าภาพ


การสวดพระอภิธรรม

ศพที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ประถมาภรณ์ช้าางเผือกขึ้นไป นอกจากเครื่องประกอบเกียรติยศศพดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังทรงพระกรุราโปรดเกล้า ฯ ให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมด้วย จะพระราชทานให้มีสวดกี่คืน สุดแล้วแต่ระดับเกียรติยศศพของผู้ถึงแก่กรรม
พระที่จะสวดพระอภิธรรมมี ๔ รูป การที่กำหนด ๔ รูปนั้น เป็นจำนวนน้อยที่สุดของพระสงฆ์ พระภิกษุ ๔ รูป จึงจะเป็นสงฆ์ โดยที่เป็นธรรมเนียมนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม จะต้องเป็น ๔ รูป งานต่าง ๆ จึงไม่นิยมนิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูป ความจริงไม่ใช่ข้อห้าม หรือกฎเกณฑ์อะไร งานใด ๆ จะนิมนต์พระเพียง ๔ รูป ก็ได้ที่นิยมนิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูปขึ้นไป ก็เป็นเพียงการเสี่ยงไม่ให้เหมือนสวดพระอภิธรรมศพเท่านั้น
การสวดพระอภิธรรม แต่ก่อนนี้ มีถวายภัตตาหารเช้าวันรุ้งขึ้นด้วย แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีถวายภัตตาหาร คงถวายปัจจัยแทน ศพที่ได้รับพระราชทานพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม ก็ได้รับพระราชทานเงินสำหรับถวายด้วย พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่จะจัดเครื่องใช้สักการะสำหรับเจ้าภาพจุดบูชาพระ ทำการสวดพระอภิธรรมด้วย ทั้งนี้เป็นการพระราชทาน เจ้าภาพไม่ต้องเสียค่าใช่จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น










ที่มา :: จากหนังสือพุทธศาสตร์ "ศาสนพิธี" ปีที่ ๔๓ อันดับที่ ๑/๒๕๔๓
ที่มา :: กรมเสมียนตรา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
 
 
 
 
 
.

17 ความคิดเห็น:

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

พิธีศพ



การอาบน้ำชำระร่างกายศพ

- เป็นเรื่องภายในครอบครัวระหว่างญาติสนิท ไม่ต้องเชิญคนภายนอก เป็นการอาบน้ำชำระร่างกายศพ

จริง โดยอาบน้ำอุ่นก่อน แล้วล้างด้วยน้ำเย็น ฟอกสบู่ขัดถูร่างกายศพให้สะอาด

( แพทย์จะใช้สำลีอุดจมูกศพกันน้ำเหลืองไหลออก และกันแมลงไต่ตอมไว้ให้เรียบร้อย (จะฉีดยา

ป้องกันกลิ่นศพ ฯ หรือไม่ สุดแต่ทางญาติ (ทายาท) จะประสงค์)

- อาบน้ำเสร็จแล้ว ใช้ขมิ้นทาทั่วร่างกายศพ และประพรมน้ำหอม ใช้ผ้าขาวซับรอยหน้า ฝ่ามือทั้งสอง

แล้วมอบแก่ลูกหลานเก็บไว้บูชา

- อาบน้ำชำระร่างกายศพแล้ว แต่งตัวศพตามฐานะของผู้ตาย โดยใช้เสื้อผ้าสะอาดและใหม่ที่สุดเท่าที่มี

อยู่ ศพข้าราชการให้แต่งเครื่องแบบชุดขาวเต็มยศ ไม่ต้องมีผ้าคลุมใด ๆ ทั้งสิ้น

การตั้งเตียงรองศพสำหรับรดน้ำศพ

- จัดตั้ง ณ สถานที่กว้าง ๆ ตรงกลางของสถานที่นั้น ๆ

- ตั้งไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา

- หันด้านขวามือศพ หรือด้านปลายเท้าศพ ให้อยู่ทางผู้ที่มาแสดงความเคารพศพ

- ไม่ควรเดินผ่านด้านศีรษะศพ

- จัดร่างศพให้นอนหงายเหยียดยาว จัดมือขวาให้เหยียดออกห่างจากตัวศพเล็กน้อย โดยให้วางมือแบ

เหยียดออกคอยรับการรดน้ำ

- ใช้ผ้าใหม่ ๆ (โดยมากใช้ผ้าแพรห่มนอน) คลุมตลอดร่างศพ เปิดเฉพาะหน้า และมือขวาของศพเท่านั้น

แต่ศพที่ร่างกายประสพอุบัติเหตุ ซึ่งอวัยวะฉีกขาด ฯ ไม่อยู่ในสภาพที่จะให้ดูได้ หรือไม่น่าดู ให้โยง

สายสิญจน์จากร่างหรือหีบศพไปยังภาชนะรองรับการรดน้ำ ฯ แล้วประกอบพิธีรดน้ำ ฯ ที่สายสิญจน์นั้น

โดยไม่ต้องเปิดผ้าคลุมศพเมื่อจะประกอบพิธีรดน้ำศพ ฯ

- จัดเตรียมขันน้ำพานรองขนาดใหญ่ ตั้งไว้คอยรองรับน้ำที่รดศพแล้วนั้น พร้อมทั้งเตรียมน้ำอบน้ำหอม

และภาชนะเล็ก ๆ สำหรับตักให้แก่ผู้มารดน้ำศพ

- จัดบุคคลผู้ใกล้ชิดกับผู้ตาย หรือลูกหลาน คอยส่งภาชนะสำหรับแขกที่มารดน้ำศพ

พิธีรดน้ำศพ และการอาบน้ำ(พระราชทาน) น้ำหลวงอาบศพ

ลำดับพิธี ขั้นตอนของญาติ ๆ

- เจ้าภาพเชิญผู้มีอาวุโสสูงสุด ณ ที่นั้น ๆ จุดเครื่องสักการะพระรัตนตรัย เสร็จแล้วให้ลูกหลาน

วงศาคณาญาติ ผู้ใกล้ชิด ทำการรดน้ำศพ ก่อนเวลาเชิญแขก




...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...


ลำดับพิธี ขั้นตอนของแขก



- ประธานในพิธี ฯ จุดเทียนธูป ณ โต๊ะหมู่บูชา(ประดิษฐานพระพุทธรูปบูชา)

- ประธาน ฯ วางหรีดเคารพศพ (ถ้ามี) และจุดเทียนธูป เหนือศีรษะศพ เคารพศพ

- ประธาน ฯ รดน้ำศพ

- ผู้ร่วมพิธี ฯ รดน้ำศพ

หมายเหตุ :ในพิธีทางราชการ เมื่อประกอบพิธีรดน้ำศพ (อาบน้ำศพ) และตั้งศพยังที่ตั้งเรียบร้อยแล้ว

เจ้าภาพ จะนิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ – ๒๐ รูป บังสุกุล (สดัปกรณ์) จบแล้วถวายไทยธรรม แล้วกรวดน้ำ

และรับการอนุโมทนาจากพระสงฆ์หรือเพิ่มการนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมก่อนการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมประจำคืนด้วยก็ได้

ลำดับพิธีของศพที่ได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ

(พระสงฆ์ใช้ “น้ำหลวงสรงศพ”) หลังจากดำเนินการขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ฯ และได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ฯ แล้ว มีขั้นตอนของพิธีการในการประกอบพิธี ฯ ตามลำดับดังนี้:-

- ผู้ร่วมพิธี ฯ เข้ารดน้ำศพ (อาบน้ำศพ) ตามลำดับ จนถึงเวลาก่อนห้วงประกอบพิธีรับพระราช-ทานน้ำหลวงอาบศพ ฯ

- ได้เวลาประกอบพิธี ฯ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเชิญน้ำหลวงพระราชทาน (น้ำ,น้ำหอม,น้ำขมิ้น) ไปยังที่ตั้งศพ

- ประธาน ฯ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย, กราบพระรัตนตรัย และจุดเทียนธูปเคารพศพ

- เจ้าหน้าที่ ฯ ยกร่างศพขึ้นเฉพาะส่วนบน (ครึ่งลำตัวท่อนบนของศพ) เพื่อรับน้ำหลวงพระราช-ทานอาบศพ

- ประธาน ฯ ยืนหันหน้าตรงไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ฯ ณ วันนั้น ถวายคำนับ แล้วยืนหันหน้าไปทางศพ

- เจ้าหน้าที่ ฯ เชิญน้ำหลวง น้ำหอม และน้ำขมิ้น ส่งแก่ประธาน ฯ ตามลำดับ

- ประธาน ฯ หลั่งน้ำหลวงพระราชทานที่ร่างศพ โดยหลั่งน้ำหลวง น้ำหอม และน้ำขมิ้นรดลงโดยเริ่มจากบ่าขวาของศพเฉียงลงไปตามร่องอกตามลำดับ เสร็จแล้วยืนหันหน้าตรงไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ฯ ณ วันนั้น แล้วถวายคำนับอีก ๑ ครั้ง

- ทายาท ฯ ของผู้ถึงแก่กรรม หวีผมให้ศพ โดยหวีลงแล้วหวีขึ้น (หวีลงมีความหมายว่า “ตาย” หวีขึ้น มีความหมายว่า “ได้เกิดใหม่” จากนั้น หักหวีที่ใช้หวีแล้วนั้นทิ้งไป)

- เจ้าหน้าที่ทำสุกรำศพ (มัดตราสัง) แล้วห่อร่างกายศพยกลงหีบ (โลง) หรือใส่ โกศ ตามฐานะของศพ)


- เสร็จพิธี -





...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...


การเตรียมจัดโต๊ะและภาชนะใส่น้ำเพื่อการรดน้ำศพ ฯ ประกอบด้วย:-

- โต๊ะเล็ก (ขนาดพอเหมาะ) ๑ ตัว

- ผ้าสะอาดปูโต๊ะ ๑ ผืน

- ภาชนะ (ขันน้ำใบใหญ่ และพานรอง) ๑ ชุด พร้อมน้ำสะอาดที่มีปริมาณเพียงพอแก่การใช้ในพิธีรดน้ำศพ

- น้ำอบไทย ๑ ขวดใหญ่ (รินผสมลงในน้ำในภาชนะนั้น และนิยมลอยกลีบดอกกุหลาบสด หรือ ดอกมะลิ

สด ในภาชนะนั้นด้วย)

- ขันน้ำใบเล็ก (จอกน้อย) และพานรอง ๑ ชุด เพื่อเจ้าหน้าที่ใช้ตักน้ำในขันใหญ่ ฯ ส่งให้ผู้ร่วมพิธี ฯ รดน้ำศพ

- ภาชนะรองรับน้ำที่ใช้รดน้ำศพแล้ว ๑ ที่ (ขนาดใหญ่พอที่จะรับน้ำที่ใช้รดแล้วนั้นได้ทั้งหมด)

หมายเหตุ ๑.กรณีเป็นการรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ จะต้องไม่มีสิ่งใดตั้งหรือวางร่วมด้วยบนโต๊ะ

ที่ประดิษฐานโถน้ำหลวง ฯ นั้น

๒.นิยมที่จะขึงผ้าม่านกั้นรอบบริเวณที่ประกอบพิธีรดน้ำศพ ฯ นั้นด้วย




...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...


พิธีสวดพระอภิธรรมศพทั่ว ๆ ไป

- ได้กำหนดเวลา นิมนต์พระสงฆ์ประจำที่

- ประธาน ฯ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดธูปเทียนที่หน้าตู้พระธรรม และจุดธูปเทียนหน้าศพ

- ประธาน ฯ จุดเทียนธูปเครื่องทองน้อย (หน้าภาพถ่ายผู้ตาย) ซึ่งจะมีพุ่มดอกไม้ ๓ พุ่ม ตั้งอยู่บนเครื่องทองน้อยและตั้งอยู่ด้านภาพถ่าย โดยเทียนธูปจะตั้งอยู่ร่วมด้วย แต่เป็นด้านตรงข้าม (บนพานรองเดียวกัน)

ครั้นจุดเทียนธูปที่เครื่องทองน้อยแล้ว ให้หันด้านพุ่มดอกไม้ ๓ พุ่มออกไป ทางด้านพระสงฆ์ที่สวด

พระอภิธรรม เป็นการแสดงว่าให้ผู้ตายได้บูชาพระธรรมด้วย (ขั้นตอนนี้ บางแห่งไม่มีก็ได้)

- พิธีกร อาราธนาศีล ผู้ร่วมพิธีรับศีล (บางแห่งอาจนำบูชาพระ กราบพระก่อนก็ได้)

- พิธีกร อาราธนาธรรม (บางวัดหรือบางแห่งอาจไม่มีการอาราธนาธรรม ให้พิธีกร เรียนถามพระสงฆ์ก่อนเวลาพิธี)

- พระสงฆ์ สวดพระอภิธรรม จนจบครั้งสุดท้าย (จะสวดกี่จบแล้วแต่ความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ )

- พิธีกร และเจ้าหน้าที่ เข้าเทียบเครื่องไทยธรรม

- ประธาน ฯ (และผู้แทนผู้ร่วมพิธี) ถวายเครื่องไทยธรรม

- พิธีกร ลาดผ้าภูษาโยง

- ประธาน ฯ (และผู้แทนผู้ร่วมพิธี ) ทอดผ้าบังสุกุล

- พระสงฆ์ พิจารณาผ้าบังสุกุล

- พระสงฆ์ อนุโมทนา

- ประธาน ฯ กรวดน้ำ

- ประธาน กราบพระรัตนตรัย และน้อมไหว้พระสงฆ์

- พระสงฆ์ กลับ (ผู้ร่วมพิธี ลุกขึ้นยืนน้อมไหว้)

หมายเหตุ บางแห่ง อาจจะทอดผ้าบังสุกุลก่อนถวายเครื่องไทยธรรม ให้พิธีกรเรียนถามความนิยม

ของท้องถิ่นกับพระสงฆ์ก่อนเริ่มพิธี

การเตรียมจัดที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม มี:-

- ขึงผ้าม่านข้างฝาผนัง ฯ เมื่อฝาผนังนั้นไม่สะอาดหรือไม่เรียบร้อยพอ

- จัดที่ตั้งศพไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา ฯ (สถานที่ไม่อำนวย ให้ดูความเหมาะสม) โดยให้ล้ำไปทางด้านขวา

หรือซ้าย (ความเหมาะสมของสถานที่) และไม่บังโต๊ะหมู่บูชา (ระยะห่างพอสมควร) และให้ต่ำกว่าโต๊ะหมู่

บูชาอย่างเหมาะสม รวมทั้งเป็นที่ที่มีบริเวณกว้างพอ

- จัดที่ตั้งศพให้อยู่ห่างฝาผนังอาคารฯ เป็นต้นประมาณ ๑ ศอกเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ เพื่อเจ้าหน้าที่ หรือ

ญาติสามารถที่จะเดินได้รอบที่ตั้งศพนั้น รวมทั้งมีที่ว่างพอที่จะตั้งโต๊ะ เพื่อวางภาชนะใส่อาหารบูชา

ศพนั้นได้อย่างเหมาะสมด้วย

- เตรียมที่ตั้ง หรือที่แขวนพวงหรีดเคารพศพให้พร้อม

- เตรียมโต๊ะหมู่พร้อมดอกไม้ประกอบหีบศพตามความเหมาะสม

การเตรียมจัดที่ตั้งและภาพถ่ายผู้ตาย มี:-

- ใช้ภาพถ่ายขนาดใหญ่พอสมควรโดยเขียน วัน-เดือน-ปีเกิด-ปีตาย ของผู้ตายไว้ให้พร้อมที่ใต้ภาพถ่ายนั้น

(“ เกิด ” ใช้ว่า ชาตะ และ “ ตาย ” ใช้ว่า มตะ หรือ มรณะ)

- ตั้งภาพถ่ายไว้ด้านเท้าของศพ (ข้างเครื่องตั้งศพ) โดยให้มีที่รองให้สูงพอสมควร

(ใช้ตั้งบนขาหยั่งตั้งภาพถ่ายก็ได้)

- ตั้งเครื่องบูชาศพ ประกอบด้วย โต๊ะตั้งเครื่องบูชา ๑ ชุด แจกัน ๑ คู่ พร้อมดอกไม้สด เชิงเทียน ๑ ที่

หรือ ๑ คู่ พร้อมเทียน (ขาว) กระถางธูป ๑ ใบ พร้อมธูป ๑ ดอก

หมายเหตุ : ศพที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ หรือพระราชทานเพลิงศพใช้เครื่อง




....

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

....


ทองน้อยเป็นเครื่องบูชาศพ (ปัจจุบันมีใช้กับศพทั่วไปด้วย)

การเตรียมจัดตั้งเครื่องยศ – เครื่องหมาย – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ - เหรียญตรา มี:-

- ผู้ตายเป็นข้าราชการ ให้นำเครื่องแบบที่ติดเครื่องหมาย- ยศ ฯ เรียบร้อยแล้วตั้งไว้เบื้องหน้าศพ (ด้านเท้าของศพ)

โดยใช้โต๊ะขนาดเล็กรองรับให้สูงพอสมควร

- วางเครื่องราชอิสริยาภรณ์-เหรียญตรา (ถ้ามี) ติดกับหมอนรอง โดยใส่วางบนพานหรือโตกแล้ว

ตั้งวางไว้เบื้องหน้าที่ตั้งศพ (ตั้งทางด้านศีรษะศพ) โดยใช้โต๊ะขนาดเล็กรองรับให้สูงพอสมควรเช่นกัน

การเตรียมจัดที่สวดพระอภิธรรม มี:-

- จัดที่ตั้งตู้พระธรรม โดยยกพื้นให้สูงจากพื้นอาสน์สงฆ์ประมาณ ๑ ศอก

- จัดตั้งไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา (หากสถานที่ไม่อำนวย ให้ตั้งไว้ทางด้านขวาของโต๊ะหมู่บูชาพระก็ได้)

- จัดตั้งไว้เบื้องหน้าบนอาสน์สงฆ์ที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม

- เครื่องประกอบของชุดตู้พระธรรม ประกอบด้วย:-

- ตู้พระธรรมพร้อมคัมภีร์พระธรรม ๗ คัมภีร์ ๑ ชุด

- เชิงเทียน ๑ คู่ พร้อมเทียน (เหลือง)

- กระถางธูป ๑ ใบ พร้อมธูป ๓ ดอก

- แจกันดอกไม้ ๑ คู่ พร้อมดอกไม้สด

หมายเหตุ ๑ : กรณีใช้เครื่องทองน้อย เครื่องทองน้อยนั้นจะประกอบด้วยพานพร้อมจานรองวางเสมอ

ขอบปากพาน ๑ ชุด พุ่มดอกไม้ ๓ พุ่ม เชิงเทียน ๑ ข้างพร้อมเทียน(ขาว) เชิงเทียน

(สำหรับปักธูป) ๑ ข้างพร้อมธูปไม้ระกำ ๑ ดอก

- ตาลปัตร ๔ ด้าม

- ชั้นลด (ที่รองกราบ) ๑ ที่

หมายเหตุ ๒ ๑. ศพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ จะได้รับ

พระราชทาน พระพิธีธรรม (พระสงฆ์ที่สวดพระธรรม) ในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวด

พระอภิธรรม ตลอดพิธี ฯ (การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง)

๒.ยานพาหนะรับ-ส่งพระพิธีธรรมการจัดเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรม และค่าใช้จ่าย

ในห้วงการบำเพ็ญพระราชกุศล ฯ นี้ สำนักพระราชวังจะเป็นฝ่ายดำเนินการเองทั้งหมด

๓. เครื่องประกอบชุดตู้พระธรรม จะมีเครื่องประกอบเพิ่มเติม คือ:-

- พัดยศพระราชทาน ฯ ในการประกอบพิธี ฯ ๑ ด้าม

-ใช้พัดใบลาน ๔ ด้าม (แทนตาลปัตร ๔ ด้าม)




...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...


พิธีสวดพระอภิธรรม (พิธีหลวง)

- ผู้ร่วมพิธี ฯ พร้อม

- พระพิธีธรรม ๔ รูป พร้อม ณ อาสน์สงฆ์

- ประธานในพิธี ฯ (ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์) ลุกขึ้นยืนแล้วถวายคำนับไปทางที่ประทับ ฯ จุดเทียน

ธูปเบื้องหน้าตู้พระธรรม (เทียนธูปที่โต๊ะพระพุทธรูปบูชาไม่ต้องจุด เพราะเป็นที่ที่พระบาทสมเด็จ-

พระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์จะทรงจุดเท่านั้น) แล้วกราบพระ

- ประธาน ฯ ลุกขึ้นยืนแล้วถวายคำนับไปทางที่ประทับ ฯ จุดเทียนเคารพศพ

- ประธาน ฯ จุดเทียนธูปเครื่องทองน้อยเบื้องหน้าภาพถ่ายของผู้ตายแล้วหันพุ่มดอกไม้ออกมาทางพระสงฆ์

- เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล

- ประธานสงฆ์ให้ศีล ( กรณีที่เสด็จพระราชดำเนิน ฯ ใช้คำว่า ประธานสงฆ์ถวายศีล )

- ประธาน ฯ สมาทานศีล (กรณีเสด็จพระราชดำเนิน ฯ ให้ใช้คำว่า…..ทรงศีล และในขณะทรงศีลนั้น

พิธีกรและผู้ร่วมโดยเสด็จบำเพ็ญพระราชกุศล ฯ ไม่ต้องออกเสียงรับศีล เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า

เป็นการถวายศีลเฉพาะพระองค์ ฯ และทั้งยังเป็นการถวายความเคารพแด่พระองค์ผู้เสด็จเป็นองค์ประธาน

อันเป็นพระราชประเพณีนิยมที่บัณฑิตพึงสำเหนียกให้มากและจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง)

- พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม จบแล้ว

- ประธาน ฯ ยืนหันหน้าตรงไปยังที่ประทับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับ ฯ ถวายความเคารพ

๑ ครั้งแล้ว รับและประเคนเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ จากนั้น ทอดผ้าสดับปกรณ์ (กรณีเสด็จ

พระราชดำเนิน ฯ ใช้คำว่า…ทรงประเคนเครื่องไทยธรรมและทรงทอดผ้าสดับปกรณ์) แล้วยืนหันหน้าตรง

ไปยังที่ประทับ ฯ ถวายความเคารพอีก ๑ ครั้ง แล้วจึงกลับไปนั่งยังที่รับรองเดิม

- พระพิธีธรรมสดับปกรณ์

- พระพิธีธรรมถวายอนุโมทนา

- ประธาน ฯ กรวดน้ำ (กรณีเสด็จพระราชดำเนิน ฯ ใช้คำว่า…ทรงหลั่งทักษิโณทก)

- จบการถวายอนุโมทนา พระสงฆ์(พระพิธีธรรม) เดินทางกลับ ( กรณีเสด็จพระราชดำเนิน ฯ ใช้ว่า…….

พระสงฆ์ (พระพิธีธรรม) จะถวายอดิเรก, ถวายพระพรลา และเดินทางกลับ )

- ประธาน ฯ กราบพระ และส่งพระสงฆ์ (กรณีเสด็จพระราชดำเนิน ฯ ใช้ ว่า…ทรงกราบพระ และเสด็จ

พระราชดำเนินกลับ)

- เป็นเสร็จพิธี -






...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...



พิธีบรรจุศพ (กรณีเก็บศพไว้ก่อน ยังไม่มีพิธีฌาปนกิจศพ หรือพระราชทานเพลิง)

- หลังจากเสร็จจากการสวดพระอภิธรรมในคืนสุดท้ายแล้ว

- เชิญแขก เข้าเคารพศพ นำดินเหนียว (ห่อกระดาษดำ กระดาษขาว ) ดอกไม้ วางเคารพศพ

(บางแห่งอาจกระทำขั้นตอนนี้หลังจากที่นำหีบศพเข้าสถานที่บรรจุศพแล้ว)

- นิมนต์พระสงฆ์ จำนวน ๑ รูป เดินจูงผ้าภูษาโยงนำหน้าญาติ ๆ ไปยังสถานที่บรรจุศพ

- เจ้าภาพ ทอดผ้าบังสุกุลที่ปากหีบศพ

- พระสงฆ์ พิจารณาผ้าบังสุกุล

- ญาติ ๆ (และแขก ในกรณีที่มิได้กระทำพิธีวางดินเหนียวและดอกไม้ ณ สถานที่สวดพระอภิธรรมศพ)

เข้าเคารพศพ นำดินเหนียว (ห่อกระดาษดำ กระดาษขาว) และดอกไม้ วางเคารพศพ

- เสร็จพิธี -

หมายเหตุ ขั้นตอนการทอดผ้าบังสุกุล และการพิจารณาผ้าบังสุกุล อาจกระทำขั้นตอนหลังสุดก็ได้

ให้พิธีกรเรียนถามความสะดวกของพระสงฆ์)




...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...


พิธีทำบุญบำเพ็ญกุศลในวันฌาปนกิจศพ หรือวันพระราชทานเพลิงศพ ก่อนพิธีดังกล่าว

- เชิญศพขึ้นตั้งบนศาลาบำเพ็ญกุศล

- นิมนต์พระสงฆ์ ประจำที่อาสน์สงฆ์

- เจ้าภาพ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบพระรัตนตรัย ๓ ครั้ง

- พิธีกร อาราธนาพระปริตร (กรณีจัดพิธีสวดพระพุทธมนต์ตอนภาคเช้า)

- พระสงฆ์ สวดพระพุทธมนต์

- ถวายภัตตาหารเพล

- ถวายเครื่องไทยธรรม

- พระสงฆ์ อนุโมทนา

- เจ้าภาพ กรวดน้ำ

- เลี้ยงอาหารกลางวันญาติมิตร และแขกที่มาในงาน

- นิมนต์พระเทศน์ ขึ้นพักบนอาสน์สงฆ์

- เจ้าภาพ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดเทียนกัณฑ์เทศน์ และจุดธูปเทียนที่ตั้งหน้าศพ

- พิธีกร อาราธนาศีล ผู้ร่วมพิธี รับศีล

- พิธีกรอาราธนาธรรม (เทศน์ธรรมดา หรือ เทศน์แจงก็ได้)

- พระสงฆ์ แสดงพระธรรมเทศนา จบแล้ว

- เจ้าภาพถวายกัณฑ์เทศน์

- นิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูป ( หรือจำนวนตามแต่นิมนต์ ) ขึ้นอาสน์สงฆ์พร้อมกัน

- พระสงฆ์มาติกาบังสุกุล

- เจ้าภาพ ถวายเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์

- พระสงฆ์ อนุโมทนา

- เจ้าภาพ กรวดน้ำ

- เคลื่อนศพ เวียนเมรุ ๓ รอบ ( นิมนต์พระสงฆ์นำศพ อย่างน้อย ๑ รูป )

- เชิญศพขึ้นสู่เมรุ

- เสร็จพิธี - (ก่อนเข้าสู่พิธีฌาปนกิจศพ หรือพระราชทานเพลิงศพ)






...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...


พิธีฌาปนกิจศพ

- ประธาน และผู้ร่วมพิธีพร้อม

- แถวกองเกียรติยศเข้าที่พร้อมหน้าเมรุ (กรณีที่เป็นศพที่ต้องจัดกองเกียรติยศ)

- พิธีกร เชิญแขกผู้ใหญ่ ทอดผ้าบังสุกุล โดยจัดลำดับจากผู้มีอาวุโสน้อย ไปหาผู้มีอาวุโสมาก

และนิมนต์ พระสงฆ์ ขึ้นพิจารณาผ้าบังสุกุล ควบคู่กันไปกับแขกผู้ใหญ่ ตามลำดับ

โดยจัดลำดับจากพระสงฆ์ที่มีอาวุโส น้อยไปหาที่มีอาวุโสมากเช่นเดียวกัน

- พิธีกร อ่านประวัติและคำไว้อาลัย

เชิญยืนไว้อาลัย (หากเป็นศพที่มีกองเกียรติยศไม่ต้องเชิญยืนไว้อาลัย)

- ประธาน ฯ ทอดผ้าบังสุกุล

- พระสงฆ์ พิจารณาผ้าบังสุกุล

- ประธาน ฯ วางกระทงดอกไม้ (เครื่องขมา)

- เป่าแตรนอน ๑ จบ (กรณีจัดกองเกียรติยศ)

- ประธาน ฯ ประกอบพิธีฌาปนกิจศพ (จุดดอกไม้จันทน์ วางลงที่กลางฐานที่ตั้งศพ)

- เป่าแตรเคารพ ๑ จบ (กรณีจัดกองเกียรติยศ)

- พิธีกร กรณีมีพระสงฆ์มาร่วมงาน ให้นิมนต์พระสงฆ์ ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ก่อน

แล้วเชิญแขก ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ตามลำดับ

- เสร็จพิธี –





...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...


พิธีพระราชทานเพลิงศพ

- ประธาน และผู้ร่วมพิธีพร้อม

- แถวกองเกียรติยศเข้าที่พร้อมหน้าเมรุ (กรณีที่เป็นศพที่ต้องจัดกองเกียรติยศ)

- พิธีกร เชิญแขกผู้ใหญ่ ทอดผ้าบังสุกุล โดยจัดลำดับจากผู้มีอาวุโสน้อย ไปหาผู้มีอาวุโสมาก

และนิมนต์ พระสงฆ์ ขึ้นพิจารณาผ้าบังสุกุล ควบคู่กันไปกับแขกผู้ใหญ่ ตามลำดับ

โดยจัดลำดับจากพระสงฆ์ที่มีอาวุโส น้อยไปหาที่มีอาวุโสมากเช่นเดียวกัน

- พิธีกร อ่านหมายรับสั่ง

- ผู้แทนเจ้าภาพ หรือพิธีกร อ่านสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

- พิธีกร อ่านประวัติและคำไว้อาลัย

เชิญยืนไว้อาลัย (หากเป็นศพที่มีกองเกียรติยศไม่ต้องเชิญยืนไว้อาลัย)

- ประธาน ฯ ทอดผ้ามหาบังสุกุล

- พระสงฆ์ พิจารณาผ้ามหาบังสุกุล

- ประธาน ฯ หน้าหน้าไปยังทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ฯ ในวันนั้น ถวายคำนับ ๑ ครั้ง

วางกระทงข้าวตอก และกระทงดอกไม้ ( เครื่องขมา ) ที่ฐานพฟืนหน้าหีบศพ

ทำความเคารพศพ ๑ ครั้ง

- เป่าแตรนอน ๑ จบ (กรณีจัดกองเกียรติยศ)

- ประธาน ฯ จุดดอกไม้จันทน์พระราชทาน ที่เพลิงหลวง แล้ววางที่กลางฐานที่ตั้งศพ

และรับดอกไม้จันทน์สำหรับประธาน ฯ วางลงที่กลางฐานที่ตั้งศพนั้น ( โดยไม่วางทับ

หรือเทียบเทียมดอกไม้จันทน์พระราชทาน

- เป่าแตรคำนับ ๑ จบ (กรณีจัดกองเกียรติยศ)

- ประธาน ฯ ถวายคำนับไปยังทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ฯ ในวันนั้นอีก ๑ ครั้ง

แล้วลงจากเมรุ

- พิธีกร กรณีมีพระสงฆ์มาร่วมงาน ให้นิมนต์พระสงฆ์ ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ก่อน

แล้วเชิญแขก ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ตามลำดับ


- เสร็จพิธี –



หมายเหตุ ให้จัดโต๊ะตัวสูง (เหมาะสม) ๑ ตัว ปูด้วยผ้าขาว ตั้งไว้ด้านศีรษะของศพ สำหรับวางโคมไฟ

หลวง และเครื่องขมาศพ และจัดโคมไฟสำหรับต่อเพลิงพระราชทานจากพนักงาน

พระราชพิธี นำไปรักษาไว้เพื่อใช้ในวาระสุดท้ายของพิธีพระราชเพลิงศพ






...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...


การเก็บอัฐิ


เมื่อการฌาปนกิจเสร็จแล้ว การเก็บอัฐิ บางรายเก็บในตอนเย็นของวันเผาเลย ทั้งนี้ เพื่อ
จะทำบุญอัฐิให้เสร็จในคราวเดียวกัน โดยเก็บอัฐิในเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. แล้วนำไปตั้งบำเพ็ญกุศล

เช่นเดียวกับพิธีก่อนเผาในคืนวันนั้น เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. นิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้น

ถวายภัตตาหารเช้า แล้วนำอัฐิไปบรรจุหรือนำอัฐิไปบรรจุหรือนำกลับไปไว้ที่บ้าน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีฯ

แต่ส่วนมากจะเก็บอัฐิในวันรุ่งขึ้นเช่นเดียวกับพิธีทางราชการ

สำหรับชนบทบางท้องที่ นิยมเก็บในวันที่ ๗ จากวันเผา แล้วนำไปบำเพ็ญกุศลดังกล่าวมา

การเดินสามหาบ
การเดินสามหาบ ก็คือพิธีเก็บอัฐินั่นเอง แต่เป็นพิธีเก็บอัฐิแบบเต็มหรือแบบพิเศษซึ่งก็มี

อยู่หลายแบบ ที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ

รุ่งขึ้นเช้า เจ้าภาพไปเก็บอัฐิ เตรียมเครื่องบูชาและเครื่องสามหาบไปด้วย คือเครื่อง-

ทองน้อย (ธูป ๑ เทียน ๑ ใส่เชิงเทียนเล็ก และดอกไม้ทำเป็น ๓ พุ่ม) ๑ ที่, สุหร่าย (ขวดโปรยน้ำ) ใส่น้ำ

อบไทย ๑ ขวด พานใส่เงิน (เศษสตางค์) ๑ พาน และโกศหรือผ้าขาวที่จะใส่อัฐิ ของเหล่านี้ วางไว้ตรงข้างศีรษะอัฐิ

เมื่อพร้อมกันแล้ว ก็ตั้งต้นเดินสามหาบ คือ มีของไปถวายและเลี้ยงพระสงฆ์ ๑ ชุด

ชุดที่หนึ่งมีไตรครอง เป็นประเภทเครื่องนุ่งห่ม ชุดที่สองมีสำรับคาว ๑ หวาน ๑ (เป็นเครื่องกิน) ชุดที่สาม

มีหม้อข้าว เตาไฟ และเครื่องใช้

หรือจะจัดสามหาบอีกแบบหนึ่งก็ได้ คือจัดให้มีหม้อข้าว เชิงกราน พริก หอม กระเทียม

ฯลฯ อยู่ในสาแหรกข้างหนึ่งมีของคาวและของหวาน และจัดให้เหมือนกันอย่างนี้สามหาบ จัดให้บุตรและ

หลาน หรือเครือญาติ ๓ คน เป็นผู้หาบคนละหาบ

หรือสามหาบอีกแบบหนึ่ง จัดคนขึ้น ๙ คน แบ่งเข้าชุดละ ๓ คน รวม ๓ ชุด ชุดหนึ่ง ๆ

มีดังนี้ คือ ถือไตร ๑ คน, ถือจาน ช้อนส้อม และแก้วน้ำ ๑ คน, หาบสำรับคาวและหวาน ๑ คน เดินเวียน

เมรุคนละหรือชุดละ ๓ รอบ เวลาเดินให้ใช้เสียงกู่กันตามวิธีชาวป่า เรียกกันว่า “ วู้ ๆ ๆ ” คนละ ๓ ครั้ง

แล้วจึงนำเครื่องสามหาบขึ้นตั้งยังอาสน์สงฆ์

เมื่อเดินสามหาบแล้ว ก็ขึ้นไปเก็บอัฐิ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้ววางไตร ๓ ไตรบนผ้าคลุมอัฐินั้น นิมนต์พระสงฆ์ขึ้นไปชักผ้าบังสุกุลนั้น จากนั้นจึงเปิดผ้าคลุมออก พรมน้ำอบและเก็บอัฐิใส่ที่ที่เตรียมไว้ แล้ววางอัฐิเก็บแล้วบนพาน ส่วนเถ้าถ่านคืออังคาร ให้รวบรวมใส่ผ้าขาวที่รองนั้นรวบ

ชายขึ้น แล้วห่อใส่ในที่ใส่อังคารที่เตรียมไป แล้วเชิญอัฐิและอังคารกลับลงมาตั้งยังที่ทำบุญ เลี้ยงพระสามหาบ และบังสุกุลแล้ว ก็เป็นอันเสร็จงานฯ หรือถ้าไม่มี ๓ หาบ ก็เก็บอัฐิและอังคารแล้วบังสุกุล ณ ที่นั่น

เป็นอันเสร็จพิธีฯ ตอนที่ลงจากเมรุแล้ว เมื่อกลับไปขึ้นบันไดที่บ้าน เจ้าภาพโปรยเศษสตางค์เป็นการให้

ทานด้วย






...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...


แปรธาตุ


ประเพณีเกี่ยวกับการเก็บอัฐิมีอยู่ว่า เมื่อถึงเวลาเก็บอัฐิ จะเป็นในวันเผาหรือในวันรุ่งขึ้น หรือ ๓ วัน ๗ วัน หลังจากเผาเสร็จก็ตาม ครั้งแรกให้ทำกองกระดูกให้เป็นรูปคนนอนหงาย หันศีรษะ

ไปทางทิศตะวันตก สมมติว่าตาย แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาพิจารณาบังสุกุล ตอนนี้เรียกว่า “ บังสุกุลตาย”

ผ้าทอดก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ พระสงฆ์จะพิจารณาว่า “ อะนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน

อุปปัชชิตตะวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโข ” เมื่อพระสงฆ์พิจารณาบังสุกุลจนจบแล้ว ก็ให้แปร

รูปอัฐินั้นใหม่ เป็นรูปคนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก สมมติว่าเกิด จากนั้น เจ้าภาพก็ใช้น้ำหอมประพรมและโปรยด้วยดอกไม้และเงินทอง นิมนต์พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุลอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เรียกว่า

“ บังสุกุลเป็น” พระสงฆ์ จะพิจารณาบังสุกุลว่า “ อะจิรัง วะตะยัง กาโย ปะฐะวิง อะธิเสสสะติ ฉุฑโฑ

อะเปตะวิญญาโณ นิรัตถังวะ กะลิงคะรัง ” แล้วทำการเก็บอัฐิ

เมื่อเก็บอัฐิตามต้องการแล้ว อัฐิที่เหลือ รวมทั้งเถ้าถ่านให้รวบรวมไปบรรจุ ลอยแม่น้ำ

หรือฝังในที่เหมาะสมต่อไป

ทำบุญอัฐิ (ออกทุกข์)

เมื่อเก็บอัฐิตอนเช้าและนำอัฐิไปถึงบ้านแล้ว จะทำบุญในวันนั้นทีเดียว หรือจะพัก

๓ วัน หรือ ๗ วัน จึงทำบุญอัฐิได้ รายการในพิธีฯ ก็มีสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ บังสุกุล เทศน์ มีตั้งบาตร

น้ำมนต์ เดินสายสิญจน์ เพราะเป็นการทำบุญเรือนให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่ข้างหลัง ในการทำบุญอัฐิ

(ออกทุกข์) เจ้าภาพแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีต่าง ๆ จากสีขาว-ดำได้





....

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...



พิธีลอยอังคาร



ลำดับพิธี
การบูชาแม่ย่านางเรือ
- คณะญาติมิตรนำอังคารไปสู่ท่าเทียบเรือ

- พิธีกรนำประธานในพิธี ( ญาติอาวุโส ) ลงเรือก่อน นอกนั้นรอบนท่าเทียบเรือ

- ประธานฯ นำดอกไม้ธูปเทียน ( ใส่รวมในพาน จุดบูชาแม่ย่านางที่หัวเรือ )

กล่าวบูชา และขออนุญาตแม่ย่านางเรือโดยประธานกล่าวเอง หรือพิธีกรนำกล่าว

คำกล่าวบูชาขออนุญาตแม่ย่านางเรือ
นะมัตถุ/ นาวานิวาสินิยา/ เทวตายะ/ อิมินา สักกาเรนะ/ นาวานิวาสินิง/ เทวตัง/ ปูเชมิ/

ข้าพเจ้า/ ขอน้อมไหว้บูชาแม่ย่านางเรือ/ ผู้คุ้มครองรักษาเรือลำนี้/ ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้

ด้วยข้าพเจ้า/ พร้อมด้วยญาติมิตร/ ขออนุญาตนำอัฐิและอังคารของ……………………….ลงเรือลำนี้/ ไปลอยในทะเล/ ขอแม่ย่านางเรือ/ ได้โปรดอนุญาต/ ให้นำอัฐิและอังคารลงเรือได้/ และได้โปรดคุ้มครองรักษา/ ให้ข้าพเจ้าและญาติมิตร/ กระทำพิธีลอยอัฐิและอังคาร/ ด้วยความสะดวกและปลอดภัย/ โดยประการทั้งปวง เทอญ

- คณะญาติมิตรนำอังคารลงเรือ

- ออกเรือไปยังจุดที่จะลอยอังคาร

การไหว้อังคารบนเรือก่อนทำพิธีลอยลงน้ำ

- เมื่อเรือแล่นถึงจุดหมายแล้วให้หยุดเรือลอยลำ

- พิธีกรเปิดลุ้งอังคารจัดเครื่องไหว้อังคารให้ประธาน ฯ

- ประธานฯ จุดธูปเทียนไหว้อังคาร สรงด้วยน้ำอบไทย โรยดอกมะลิ กลีบกุหลาบ ดอกไม้อื่น ๆ

- เมื่อทุกคนไหว้อังคารเสร็จแล้วพิธีกรห่อลุ้งอังคารด้วยผ้าขาวยาว กว้าง๑/๒ เมตร รวบมัดด้วยสายสิญจน์

ทำเป็นจุกข้างบนแล้วสวดสวมพวงมาลัย

- พิธีกรแจกดอกกุหลาบให้คณะญาติมิตรคนละ ๑ ดอก

การบูชาเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดร

- พิธีกรจัดเครื่องบูชาเจ้าแม่นที – ท้าวสีทันดรให้ประธาน ฯ

- ประธาน ฯ จุดเทียน ๑ เล่ม และธูป ๗ ดอก ที่กระทงดอกไม้ ๗ สี

กล่าวบูชา/กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นทีสีทันดร โดยประธาน ฯ กล่าวเอง หรือพิธีกรกล่าวนำ






...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...



คำกล่าวบูชา/กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นทีท้าวสีทันดร

( ตั้งนะโม ๓ จบ )



นะมัตถุ/ อิมิสสัง/ มะหานะทิยา/ อะธิวัตถานัง/ สุรักขันตานัง/สัพพะเทวานัง/ อิมินา

สักกาเรนะ / สัพพะเทเว/ ปูเชมะ.

ข้าพเจ้าทั้งหลาย/ ขอน้อมไหว้บูชา/ เจ้าแม่นที/ ท้าวสีทันดร/ และเทพยดาทั้งหลาย/ ผู้สถิตคุ้มครองรักษาอยู่/ ในทะเลนี้/ ด้วยเครื่องสักการะนี้/ ด้วยข้าพเจ้าทั้งหลาย/ได้ประกอบกุศลกิจ/อุทิศส่วนบุญ/ แก่……………………/ผู้วายชนม์/ และกาลบัดนี้/ จักได้ประกอบพิธี/ ลอยอัฐิและอังคาร/ ของ………………………../พร้อมกับขอฝากไว้/ในอภิบาล/ ของเจ้าแม่นที/ ท้าวสีทันดร/ เจ้าแม่แห่งทะเล/ และเหล่าทวยเทพทั้งปวง/ ขอเจ้าแม่นที/ท้าวสีทันดร/ แม่ย่านางเรือและเทพยดาทั้งหลาย/ได้โปรดอนุโมทนา/ดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของ……………………/จงเข้าถึงสุคติ/ ในสัมปรายภพ/ ประสบสุข/ในทิพยวิมาน/ ชั่วนิรันดร์กาลเทอญ.

วิธีลอย

เมื่อกล่าวบูชา/กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดร เสร็จแล้วพิธีกรเชิญทุกคนยืนขึ้นไว้อาลัยประมาณ ๑ นาที

- ประธานฯ โยนเงินเหรียญ ( ตามสมควร ) ลงทะเล เพื่อซื้อที่ตามธรรมเนียมแล้วลงบันไดเรือทางกาบ

ซ้าย ลอยกระทงดอกไม้ ๗ สีโดยใช้มือประคองค่อย ๆ วางบนผิวน้ำโดยให้ผู้ร่วมพิธีทุกคนถือ

สายสิญจน์ด้วย

- หากกาบเรือสูงจากผิวน้ำมากเกินไป และไม่มีบันไดลงเรือ ให้ใช้สายสิญจน์ทำเป็นสาแหรก ๔ สาย

จำนวน ๒ สาแหรก คือใส่กระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ สาแหรก และใส่ห่อลุ้งอังคาร ๑ สาแหรกหย่อนลงไป

( ห้ามโยน )

- เมื่อห่อลุ้งอังคารลงสู่ผิวน้ำแล้วให้โรยดอกกุหลาบ ธูปเทียนตามลงไปและสิ่งของสำหรับไหว้บูชาที่

เหลือทั้งหมดก็ให้โรยตามลงไปด้วย

- เรือวนซ้าย ๓ รอบ



- เสร็จพิธี -






...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...



การเตรียมการ



ความเป็นมา ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นลอยอังคารมาในสมัยใด เป็นแต่เพียงสันนิษฐานว่าพิธีนี้ได้รับอิทธิพลมาจากชาวอินเดียซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ความมุ่งหมาย ถือคตินิยมว่าผู้ล่วงลับไปแล้วจะมีความร่มเย็นเป็นสุข แม้เกิดในภพใด ๆ ขอให้อยู่เป็นสุข เหมือนน้ำมีแต่ความชุ่มเย็น
เครื่องใช้ในพิธี สำหรับบูชาแม่ย่านางเรือ ดอกไม้สด ๑ กำ หรือพวงมาลัย ๑ พวง ธูป ๙ ดอก เทียน
หนัก ๑ บาท ๑ เล่ม พานเล็ก ๑ ใบ ( ใส่ดอกไม้ธูปเทียน ขณะบูชาแม่ย่านางเรือ ) เชือก ๑ เส้น ( สำหรับมัดธูป ดอกไม้ที่เสาหัวเรือ ) สำหรับบูชาเจ้าแม่นที-ท้าวสีทันดร กระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ กระทง
ธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม พานโตก ( ขนาดกลาง ) วางกระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ ใบสำหรับไหว้อังคารบนเรือ ลุ้งใส่อังคาร และผ้าขาวสำหรับห่อลุ้ง พวงมาลัย ๑ พวง ดอกมะลิ กลีบกุหลาบ หรือดอกไม้อื่น ๆ ( สำหรับผู้ร่วมพิธีโรยบนอังคาร ) น้ำอบไทย ๑ ขวด ดอกกุหลาบเท่าจำนวนคนร่วมพิธี

ธูปเทียนเครื่องทองน้อย ๑ ชุด ( หรือธูป ๑ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม พร้อมกระถางธูปเชิงเทียน

๑ ชุด ) สายสิญจน์ ๑ ม้วน พานโตกขนาดกลาง ( รองลุ้งอังคาร ) ๑ ใบ พานก้นลึกขนาดเล็ก ( ใส่ดอกไม้ต่าง ๆ ) ๑ ใบ พานก้นตื้น ( ใส่เงินเหรียญ ) ๑ ใบ






...

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

...



พิธีทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน



( การทำบุญ ๗ วัน ถ้าเสียชีวิตวันศุกร์ ให้ทำวันศุกร์ในสัปดาห์ต่อไป)

ลำดับพิธี

- พระสงฆ์ และผู้ร่วมพิธีพร้อม

- เจ้าภาพ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง

จุดธูปเทียนเบื้องหน้าอัฐิ หรือหน้ารูปภาพของผู้วายชนม์ เคารพศพแล้ว กลับมานั่งที่เดิม

- พิธีกร นำบูชาพระ กราบพระ

อาราธนาศีล ผู้ร่วมพิธี รับศีล

อาราธนาพระปริตร

- พระสงฆ์ สวดพระพุทธมนต์

- พิธีกร นำกล่าวถวายสังฆทาน

- เจ้าภาพ ถวายภัตตาหารเพล

- เจ้าหน้าที่ เทียบเครื่องไทยธรรม

- เจ้าภาพ ถวายเครื่องไทยธรรม

- พิธีกร ลาดผ้าภูษาโยง

- เจ้าภาพ ทอดผ้าบังสุกุล

- พระสงฆ์ พิจารณาผ้าบังสุกุล

- พระสงฆ์ อนุโมทนา

- เจ้าภาพ กรวดน้ำ

- พระสงฆ์ กลับ

- เสร็จพิธี –













....

พ่อใหญ่ครูเส กล่าวว่า...

การแสดงความเคารพศพที่ถูกต้อง



การแสดงความเคารพศพ จะต้องกราบพระพุทธรูปเสียก่อน แล้วจึงไปทำความเคารพศพ ส่วนการจุดธูปหน้าศพนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของลูกหลานหรือศิษยานุศิษย์หรือผู้เคารพนับถือที่ประสงค์จะบูชา

การเคารพศพพระ ถ้าเจ้าภาพจัดให้มีการจุดธูป ให้จุด ๓ ดอก ชายกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ หญิงหมอบกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง

การเคารพศพคฤหัสถ์ ให้ทำความเคารพเช่นเดียวกับตอนที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเป็นศพของผู้ที่มีอาวุโสมาก กราบ ๑ ครั้ง(ไม่แบมือ) แต่ถ้าเป็นศพของผู้ที่มีอาวุโสใกล้เคียงกันกับผู้ที่ไปทำความเคารพ ให้ไหว้ในระดับที่ ๓ (ไหว้บุคคลทั่ว ๆ ไป-ก้มหัวพนมมือ) ส่วนการเคารพศพเด็กนั้นมีเพียงยืนสงบหรือนั่งสำรวมครู่หนึ่ง

ในกรณีที่ศพได้รับพระราชทานเกียรติยศ ผู้เป็นประธานจุดธูปเทียนที่หน้าพระพุทธรูปและที่หน้าตู้พระธรรม แล้วไปจุดเครื่องทองน้อยที่หน้าศพเพื่อแสดงว่าวายชนม์บูชาพระธรรม แล้วจึงเคารพศพส่วนผู้ไปในงาน กราบพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชาแล้วจึงเคารพศพด้วยการกราบหรือคำนับ






.

แสดงความคิดเห็น